หลังหายเงียบไปสามเดือน ยูทูบเบอร์สาวจีนสายสโลวไลฟ์ ‘หลีจื่อชี’ (李子柒) คัมแบคด้วยการยื่นฟ้องบริษัทหางโจวเวยเนี่ยน คู่หุ้นส่วนในธุรกิจร่วมทุนของเธอ ต่อศาลประชาชนระดับกลางเมืองเหมียนหยาง มณฑลซื่อชวน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.
วันที่ 1 พ.ย. บริษัทหางโจวเวยเนี่ยนออกมาตอบกลับว่า ได้รับเอกสารการยื่นฟ้องฯ จากศาลฯ และว่าตั้งแต่ร่วมงานกันมา ทางบริษัทไม่เคยก้าวล่วงการทำคอนเทนต์ของหลีจื่อชี และไม่เคยคิดจะเข้าไปควบคุมบัญชีแพลตฟอร์มใด ๆ ของหลีจื่อชี หนึ่งปีก่อน บริษัทเวยเนี่ยนเคยแสดงหลักฐานการถือหุ้นและรูปแบบการร่วมงานกับหลีจื่อชี พร้อมระบุการจัดการหุ้น ข้อตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย และยังมีการเจรจาพูดคุยกับหลีจื่อชีหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องนี้นอกจากจะเป็นความขัดแย้งระหว่างครีเอเตอร์กับเครือข่ายแล้ว ยังมีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเอี่ยวด้วย หลีจื่อชีรับผิดชอบเรื่องการทำคอนเทนต์ ส่วนบริษัทเวยเนี่ยนนำชื่อ “หลีจื่อชี” และคอนเทนต์ต่าง ๆ มาเปลี่ยนเป็นแบรนด์เพื่อต่อยอดธุรกิจ อย่างเช่นสินค้าต่าง ๆ ที่วางขายภายใต้ชื่อหลีจื่อชี สิ่งนี้ไม่ใช่ของยูทูบเบอร์สาว แต่เป็นของบริษัทเวยเนี่ยน แต่เมื่อเดือนมี.ค. ปีนี้ เวยเนี่ยนได้โอนถ่ายความเป็นเจ้าของยี่ห้อ “หลีจื่อชี” ให้กับบริษัทซื่อชวนจื่อชี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างหลีจื่อชีและเวยเนี่ยน
นักกฎหมาย ‘หวังฉยงเฟย’ (王琼飞) ให้ความเห็นว่า “ถ้านำคอนเทนต์มาใช้เป็นแบรนด์ ก็ต้องแยกพิจารณาระหว่างมูลค่าแบรนด์กับทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคล” เพราะในส่วนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในที่นี้หมายถึงคลิปวิดีโอและผลงานต่าง ๆ จากช่องยูทูบหลีจื่อชี อย่างไรก็ต้องมีข้อจำกัด ส่วนการทำแบรนด์ก็ต้องอิงตามกฎระเบียบทางธุรกิจ หากทั้งสองฝ่ายออกสินค้ามาภายใต้ชื่อที่คิดขึ้นใหม่ คงไม่มีปัญหาซับซ้อนเหมือนตอนนี้
ในวันที่ 25 ต.ค. บริษัทซื่อชวนจื่อชี ได้ทำการยื่นฟ้องบริษัทหางโจวเวยเนี่ยน และนาย ‘หลิวถงหมิง’ (刘同明) ผู้ก่อตั้ง ทั้งนี้บริษัทซื่อชวนจื่อชี เป็นบริษัทร่วมทุนของเวยเนี่ยน ซึ่งถือหุ้น 51% และหลีจื่อชี ถือหุ้น 49%
หลังจากนั้นก็มีข่าว “เวยเนี่ยนยื่นจดทะเบียนยี่ห้อหลีจื่อชีแต่ถูกปฏิเสธ” ก็ขึ้นเทรนด์โซเชียลมีเดียจีน แต่ภายหลังมีรายงานออกมาว่าเป็นข่าวเก่าตั้งแต่ปี 2019 เพราะชื่อแบรนด์ “หลีจื่อชี” ถูกบริษัทซื่อชวนจื่อชีจดทะเบียนไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ทำให้การยื่นจดชื่อแบรนด์หลีจื่อชีใด ๆ หลังจากนี้ล้วนเป็นโมฆะ
แต่สื่อจีนมาตรวจสอบภายหลังพบว่า การจดทะเบียนของซื่อชวนจื่อชีในปี 2016 เกิดจากการโอนถ่ายความเป็นเจ้าของจากบริษัทเวยเนี่ยนต่างหาก เท่ากับว่าผู้ยื่นจดชื่อแบรนด์คนแรกก็คือเวยเนี่ยน ทนายหวังฉยงเฟยเสนอว่า “จากคดีฟ้องร้องจื่อชี-เวยเนี่ยน หลี่จยาจยา (李佳佳 ชื่อจริงของหลีจื่อชี) ควรมีสิทธิครอบครองชื่อแบรนด์ของตัวเอง”
ทรัพย์สินทางปัญญากับการค้า
ปี 2018 บัญชีร้านค้าหลีจื่อชีเปิดอย่างเป็นทางการ บริษัทเวยเนี่ยนเผยว่าในเดือนแรกก็สามารถทำยอดขายได้มากกว่าสองแสนชิ้น แต่ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันปั้นแบรนด์สินค้าขึ้นมา ความเป็นคอนเทนต์แบรนด์หลีจื่อชีกลับไม่แน่ชัด เพราะหลังเซ็นสัญญา ร้านค้าออนไลน์หรือบัญชียูทูบของหลีจื่อชีก็ใช้ชื่อเวยเนี่ยนลงทะเบียนทั้งหมด นางสาวหลี่จยาจยาแทบไม่มีส่วนร่วมโดยตรงเลยแม้แต่น้อย
วันที่ 22 ต.ค. หลีจื่อชีให้สัมภาษณ์กับช่อง CCTV เกี่ยวกับมูลค่าทางการตลาดของคอนเทนต์สไตล์หลีจื่อชีว่า “ฉันค่อนข้างจะหวงแหนมันนะ ถึงขั้นไม่อยากให้มันมีราคาสูงเกินไป เพราะฉันรู้สึกของแบบนี้เป็นดาบสองคม ที่ฉันอยากปกป้องก็แค่ชื่อนี้เท่านั้นเอง”
29 ต.ค. มีคนวงในที่เคยลงทุนในบริษัทหางโจวเวยเนี่ยนเผยกับสื่อว่าปัจจุบันสถานะของเวยเนี่ยนยังขาดทุน เพราะเป็นช่วงเริ่มโตของธุรกิจ เขาเสริมว่า “เวยเนี่ยนควรแบ่งหุ้นให้หลี่จยาจยา ไม่อย่างนั้นก็คงเจรจากันไม่ได้”
ทำอย่างไรจึงจะหนีความเสี่ยงได้พ้น
วันที่ 1 พ.ย. เวยเนี่ยนโพสต์บนบัญชีเวยปั๋วถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า หนึ่ง บริษัทเคยเสนอแนวทางการเป็นเจ้าของหุ้นและแบบแผนการร่วมงานกับหลี่จยาจยาแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า สอง บริษัทไม่เคยก้าวก่ายบัญชีหลีจื่อชีบนแพลตฟอร์มใดก็ตาม สาม เวยเนี่ยนเคยอธิบายแจกแจงเรื่องคอนเทนต์ช่องหลีจื่อชี และแบรนด์กับทางบริษัท (ซื่อชวนจื่อชี) และหลี่จยาจยาแล้ว สี่ เวยเนี่ยนหวังว่าจะได้สื่อสารกับหลี่จยาจยาเรื่องการร่วมมือทำคอนเทนต์และแนวทางการร่วมงานกันอย่างตรงไปตรงมา
นักกฎหมาย ‘เจิงเสียงซิน’ (曾祥欣) กล่าวว่า “เรารอให้กระสุนปลิวกันว่อนสักพักค่อยตัดสินดีกว่า” เพราะข่าวที่ออกมาปัจจุบันมีเพียงการคาดเดากับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ภาพรวมเรื่องการดำเนินธุรกิจ หรือจุดขัดแย้งระหว่างการร่วมงานของทั้งสองฝ่าย หรือประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญายังไม่มีใครทราบแน่ชัด
ทนายเจิงเสียงซินแนะนำว่า ช่วงต้นของการร่วมงานระหว่างเน็ตไอดอลและเอเจนซีควรสร้างเงื่อนไขที่ยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่าย ระบุสิทธิและหน้าที่ของทั้งคู่ ทำการตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและการแบ่งผลประโยชน์ให้ชัดเจน ก็จะลดความเสี่ยงในส่วนของความขัดแย้งที่จะเกิดในภายหลังได้
อย่างกรณีของเวยเนี่ยน-จื่อชีที่มีการทำแบรนด์ด้วยกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเรื่องทะเบียนการค้าและลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้ควรจะทำข้อตกลงกันไว้ก่อน เพราะการนำทรัพย์สินทางปัญญาส่วนบุคคลมาทำแบรนด์ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต้องขีดเส้นแบ่งสองฝ่ายให้ดี เพราะถึงทั้งสองฝ่ายจะเกี่ยวข้องกันมาก่อน แต่เรื่องการแบ่งผลกำไรนี้ถือเป็นคนละเรื่อง
สุดท้ายแล้วหลีจื่อชีกับเอเจนซีเวยเนี่ยนจะเกี่ยวก้อยคืนดี หรือวงแตกแยกย้าย ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
ที่มา:
深度丨当IP成为品牌,从知识产权视角看李子柒与微念纠纷