ยูทูบเบอร์จีนชื่อดัง ‘หลีจื่อชี’ (李子柒) ทำการยื่นฟ้องบริษัทคู่สัญญา นี่เป็นการเคลื่อนไหวแรก ๆ หลังไร้การอัปเดตบนช่องยูทูบของเธอมาพักใหญ่ สังคมต่างจับตามองว่าเกิดอะไรขึ้นกับยูทูบเบอร์สาววัย 31 ปี เจ้าของสถิติแชนแนลยูทูบภาษาจีนที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก
โกลบอลไทมส์รายงาน บริษัท ซื่อชวนจื่อชีคัลเจอร์คอมมูนิเคชัน (Sichuan Ziqi Culture Communication) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของหลีจื่อชีและเอเจนซี ทำการฟ้องบริษัท หางโจวเวยเนี่ยนแบรนด์เมเนจเมนต์ (Hangzhou Weinian Brand Management) และผู้ก่อตั้ง ‘หลิวถงหมิง’ (刘同明) บริษัทเวยเนี่ยนถือหุ้นในบริษัทซื่อชวนจื่อชีถึง 51% ในขณะที่ตัวหลีจื่อชีเองถือเพียง 49% คดีความถูกยื่นเมื่อวันจันทร์ (25 ต.ค.) ต่อศาลประชาชนระดับกลางเมืองเหมียนหยาง มณฑลซื่อชวน
ก่อนหน้านี้หลีจื่อชีเคยให้สัมภาษณ์กับช่องโทรทัศน์ CCTV ว่าเธอไม่อยากถูก “ทำให้เป็นการค้า” มากจนเกินไป เมื่อวันที่ 30 ส.ค. มีการเปิดเผยว่าเธอได้ไปแจ้งความ แต่ไม่ทราบสาเหตุว่าแจ้งข้อหาอะไร
เรื่องนี้เป็นที่โจษจันเพราะหลีจื่อชีเป็นเหมือนผู้เผยแพร่ซอฟท์พาวเวอร์ที่ทรงอิทธิพลของจีน ความสัมพันธ์ระหว่างเงินทุน วัฒนธรรม และการค้าในโลกอินเทอร์เน็ตจีนได้กลายมาเป็นจุดสนใจ ในระหว่างที่ผู้คนถกเถียงกันว่าสุดท้ายแล้วเงินจะเข้ามามีบทบาทต่อการสร้างอิทธิพลได้มากแค่ไหนบนโลกออนไลน์
หลีจื่ชีแจ้งเกิดในปี 2015 จากคลิปทำอาหาร สร้างงานประดิษฐ์ และการใช้ชีวิตเรียบง่ายในชนบท บริษัทเวยเนี่ยนเซ็นสัญญากับเธอในปี 2016 และเริ่มปั้นเธอให้มีมูลค่าสูงขึ้น ปัจจุบันทางบริษัทและหลีจื่อชีมีไลน์สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปและขนมภายใต้แบรนด์ของเธอ
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ล่าสุดทางไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อกหรือโต่วอิน ในเวอร์ชันจีน ได้ถอนการลงทุนจากบริษัทเอเจนซีเวยเนี่ยนเป็นที่เรียบร้อย
แล้วติ๊กต็อกเกี่ยวอะไร?
เมื่อเดือนก.ค. ไบต์แดนซ์ตัดสินใจขยายการลงทุนในหมวดไลฟ์สตรีมและฐานผู้บริโภคใหม่ ๆ จึงได้เลือกลงทุนกับบริษัทหางโจวเวยเนี่ยน ซึ่งมีหลีจื่อชีเป็นอินฟลูเอนเซอร์ตัวท็อปของสังกัด
หลิวถงหมิงผู้ก่อตั้งบริษัทเวยเนี่ยน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ถือว่าเชี่ยวชาญในการเปลี่ยนเน็ตไอดอลให้กลายเป็นบ่อเงินบ่อทองในการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง และแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมอีคอมเมิร์ซ พอผนวกรวมกับเพชรเม็ดงามอย่างหลีจื่อชี จึงไม่แปลกที่ไบต์แดนซ์จะสนใจขอซื้อหุ้น 1.37% ในบริษัทเวยเนี่ยน ทำให้มูลค่าบริษัทพุ่งไปถึงห้าพันล้านหยวน ถือว่าน่าทึ่งสำหรับบริษัทที่เน้นทำการตลาดสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก
เหมือนจะเป็นเรื่องน่ายินดีของเอเจนซี่ นักลงทุน และเน็ตไอดอล แต่ดูเหมือนว่าหลีจื่อชีจะไม่พอใจกับสิ่งนี้ เพราะหลังมีข่าวการลงทุน เธอก็โพสต์วิดีโอครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ปัจจุบันสาเหตุเบื้องหลังการแตกหักของหลีจื่อชีและต้นสังกัดยังไม่แน่ชัด แต่การแบ่งผลกำไร และความไม่ยินยอมจะให้แบรนดิ้งส่วนตัวของเธอกลายเป็นสินค้ามากเกินเหตุอาจเป็นปัจจัยหลัก ในการสัมภาษณ์กับช่อง CCTV หลีจื่อชียังบอกว่าเธอพอใจจะใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นชาวไร่ชาวสวนใน “ประเทศสังคมนิยมใหม่ของจีน”
หลีจื่อชีกล่าวว่าเธอตั้งใจจะโปรโมตค่านิยมที่ไม่ยึดติดกับวัตถุแบบจีน และยังแนะนำคนหนุ่มสาวว่า “อย่ามาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เลย” ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้นเธอไม่ได้พูดถึงบริษัทเวยเนี่ยน แต่กลับบอกว่าความสามารถและอิทธิพลของเธอควรถูกนำมาใช้ในการรับใช้เป้าหมายพัฒนาชนบท และ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ของประเทศ
การโจมตีผู้สนับสนุนทางการเงินออกสื่อของหลีจื่อชีถือว่าหาดูได้ยากในสังคมออนไลน์จีนที่เรื่องเงินและชื่อเสียงแยกกันไม่ขาด
การแยกย้ายของหลีจื่อชีและบริษัทเวยเนี่ยนทำให้ไบต์แดนซ์รีบถอนตัว สิ่งนี้แสดงให้เห็นความเปราะบางในโมเดลธุรกิจที่พึ่งพาตัวบุคคลเป็นหลัก ในหางโจว เอเจนซีหลายพันแห่งต่างพยายามปั้นดาราหลักของตัวเอง และนั่นก็ทำให้คนหนุ่มสาวมากมายไขว่คว้าหาทางจะเป็นออนไลน์อินฟลูเอนเซอร์
แต่ก็มีความตึงเครียดระหว่างเอเจนซีและคนในสังกัดที่ว่า ถ้าเน็ตไอดอลดังเกินไปก็จะแยกตัวไปทำงานด้วยตัวเองได้ไม่ต้องง้อใคร เลยมีคำพูดในหมู่นักลงทุนอินฟลูเอนเซอร์ว่า “ถ้าอยากเก็บดาราหลักไว้ข้างตัว ทางที่ดีที่สุดก็ต้องแต่งกับเธอซะ”
ผู้บริหารบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Dolphin Think Tank มีความเห็นว่า “ความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับเน็ตไอดอลตัวท็อปก็มีคล้าย ๆ กันหมด มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าพอมีชื่อเสียงพวกเขาก็อยากมีอิสระและผลประโยชน์มากขึ้น แต่ความสำเร็จของพวกเขาส่วนหนึ่งมาจากความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของเอเจนซี ฉะนั้นควรยึดมั่นต่อสัญญาด้วย”
ที่มา:
ByteDance expands footprint in new consumption with investment in online influencer
How Li Ziqi, China’s hottest online celebrity, fell out with her agent and burned tech giant ByteDance in the process
Chinese YouTube star Li Ziqi sues her partner company