เน็ตไอดอลสาวอายุ 26 ปี จากเมืองจูโจว มณฑลหูหนาน ทำการไลฟ์สดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. เธอดื่มยาฆ่าหญ้าทั้งขวดกลางไลฟ์ด้วยหน้าตาซีดเซียวท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้ชมบางส่วน ถึงจะถูกส่งไปโรงพยาบาลแต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ในที่สุดก็เสียชีวิต
ชีวิตที่ยังเยาว์ได้จากไป เหลือไว้เพียงคำถามที่ว่า “คนที่ยุให้ผู้อื่นทำเรื่องเสี่ยงอันตรายบนโลกออนไลน์จนสุดท้ายก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรม คนเหล่านี้ควรมีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่”
ไลฟ์สดมรณะ
สื่อจีนรายงาน คืนวันที่ 14 ต.ค. เน็ตไอดอลผู้ใช้ชื่อบัญชี “หลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อ” โพสต์คลิปสั้นบนโต่วอิน (Tiktok จีน) พร้อมคำบรรยายว่า “นี่คงเป็นคลิปสุดท้าย ขอบคุณพวกเธอที่ร่วมทางกันมา” เธอบอกในวิดีโออย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้ามานาน ถึงขั้นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ภาพลักษณ์ที่ร่าเริงก็แสร้งทำเพื่อให้ทุกคนดูเท่านั้น
เธอทิ้งท้ายในคลิปว่า “แต่ช่วงนี้ฉันทนไม่ไหวจริง ๆ แล้ว ถ้าอยากรู้ว่าทำไมก็ลองมาดูในไลฟ์สดนะ วางใจได้ ไม่ใช่ไลฟ์ขายของหรือโฆษณาแน่ ๆ” แต่เธอไม่ได้ระบุว่าจะฆ่าตัวตาย
วันถัดมาหลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อมาไลฟ์ จากคลิปที่ถูกตัดออกมาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตภายหลังพบว่า เธอวางขวดของเหลวสีน้ำตาลซึ่งมีฉลากระบุว่าเป็นยาฆ่าหญ้าไว้ข้างตัว แฟน ๆ จำนวนไม่น้อยที่เห็นก็ตกใจมาก รีบคอมเมนต์ยื้อเธอเอาไว้ “เป็นอะไรหรือเปล่า” “อย่านะ” “พี่สาวอย่าดื่มเลย” “เธอยังมีพ่อแม่นะ” แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งคอมเมนต์ยั่วยุส่อเสียด “ถ้าอย่างนั้นเธอรีบกินเถอะ” “อยากกินก็กิน” “ในขวดไม่ใช่ว่าเป็นฉี่นะ” มีผู้ชมที่บอกว่าจะแจ้งตำรวจเดี๋ยวนี้แต่ก็สายไป เธอดื่มจนหมดแล้วยกขวดพิสูจน์ว่า “เมื่อกี้ฉันดื่มไปแล้ว” ไม่ทันไรเธอก็จับคอตัวเอง สีหน้าดูไม่ค่อยดี
ชาวเน็ตคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นเพื่อนของหลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อได้ค้นโทรศัพท์ของเธอหลังจากเกิดเรื่องเพื่อหาต้นสายปลายเหตุ เลยพบว่าในวันนั้นหลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อไม่ได้คิดจะฆ่าตัวตายจริง ๆ แค่จะใช้วิธีนั้นเรียกความสนใจจากแฟนหนุ่ม “ยาฆ่าหญ้าขวดนั้นผสมน้ำเจือจางมาแล้ว แต่ที่เธอกินก็เพราะถูกคนในไลฟ์ยั่วยุท้าทาย” หลังเกิดเหตุเธอก็เป็นคนแจ้งตำรวจเอง เพื่อนของหลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อยืนยันว่า เธอเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตอนบ่ายวันที่ 15 ต.ค.
วันที่ 16 ต.ค. ครอบครัวของหลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อซื่อชวนกวนฉา (四川观察) ว่า การยั่วยุของคนในห้องไลฟ์นำไปสู่เหตุสลด เดอะเป่ยจิงนิวส์ (The Beijing News/ 新京报) รายงานว่า ทางครอบครัวจัดการงานศพที่ซานตงเสร็จเมื่อไหร่ จะดำเนินคดีกับคนเชียร์
ปัจจุบันโต่วอินของ หลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อ ยังเปิดเป็นสาธารณะ บัญชีของเธอมีผู้ติดตาม 7.6 แสนราย และมีคลิปสั้น 39 คลิป เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการแต่งตัวตามแฟชั่น
ชาวเน็ตความเห็นแตก
คนจำนวนไม่น้อยตำหนิพวกที่ท้าให้หลัวเสี่ยวเมาเมาจื่อดื่มยาฆ่าหญ้าว่าเป็นพวก “กินหม่านโถวเลือดคน” สื่อว่าเป็นคนเลือดเย็นไม่มีความรู้สึกรู้สาและสมควรได้รับโทษ
แต่คนที่ไม่ได้คิดแบบนี้ก็มีมาก บัญชีเวยปั๋วชื่อ “อิ๋นข่าไต้ซาน” บอกว่า “ไม่น่าสงสารสักนิด ชีวิตของตัวเองยังไม่เคารพ แล้วยังมาใช้แพลตฟอร์มสาธารณะให้คนมาแสดงความเห็นใจ ถ้าใครเป็นครอบครัวของคนป่วยมาเห็นก็จะบอกว่า เอาใจใส่และให้ความรัก (คนที่ป่วย) ดีกว่าเกิดเรื่องแล้วมาโทษคนอื่นนะ”
ชาวเน็ตบางคนท้อใจกับเหตุการณ์นี้ที่สะท้อนให้เห็นว่าสภาพสังคมปัจจุบันบิดเบี้ยวและเย็นชาเพียงใด และบางส่วนก็พุ่งเป้าไปที่โซเชียลมีเดีย อย่างกรณีนี้คือโต่วอิน ว่าควรจะรับผิดชอบเหตุการณ์นี้
โต่วอินที่มีสโลแกนว่า “บันทึกชีวิตอันสวยงาม” ยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ได้ออกประกาศจัดการความรุนแรงบนโลกออนไลน์ ระบุว่าตั้งแต่เดือนเม.ย. ปีนี้เป็นต้นมา ทางแพลตฟอร์มได้จัดการบัญชีที่ผู้ใช้ที่มีการกลั่นแกล้งว่าร้าย โจมตีการกระทำของผู้อื่น และมีถ้อยคำรุนแรงบนโลกออนไลน์ด้วยการงดคอมเมนต์ และระงับบัญชี รวมแล้วกว่า 257,850 บัญชี
“คนมุง” “คนเชียร์” ผิดไหม
จากรายงานของสื่อจีน ทนายส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้เห็นตรงกันว่าทางแพลตฟอร์มควรรับผิดชอบในการสอดส่องดูแล ผู้ยั่วยุก็ควรถูกประณามทางศีลธรรม แต่คงยากที่จะให้พวกเขามารับผิดชอบทางกฎหมายได้ เพราะตามประมวลกฎหมายจีนก็ไม่ปรากฏว่าการยั่วยุให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา
แต่ก็ไม่ใช่จะหมดความรับผิดชอบไปโดยปริยาย เฉิงตูซางเป้า (成都商报) รายงานว่า หากมองจากมุมความเป็นภัยต่อสังคม คนยั่วยุให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายถือว่าละเมิดสิทธิในสุขภาพและการมีชีวิต การยั่วยุในที่สาธารณะยังเป็นการสร้างความวุ่นวายต่อระเบียบสังคม ตามกฎหมายอาจถูกควบคุมตัวสิบถึงสิบห้าวัน หรือปรับสูงสุด 1,000 หยวน (5,000 บาท)
เมื่อความรุนแรงกลายเป็นความบันเทิง
การมุงดูหรือเชียร์ให้คนฆ่าตัวตายเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในจีน เมื่อปี 2018 ที่มณฑลกานซู่ เคยมีเด็กสาววัย 19 ปี นั่งอยู่บนขอบหน้าต่างห้างสรรพสินค้าชั้น 8 ลังเลว่าจะฆ่าตัวตายดีไหม คนที่มุงอยู่ด้านล่างก็เยาะเย้ยอย่างเผ็ดร้อนและเลือดเย็น “ทำไมยังไม่โดด” “โดดมาเร็ว ๆ เถอะน่า” “ยังจะลังเลอะไรอีก อายคนไหมล่ะ โดดเร็ว” เธอทนทรมานกับโรคซึมเศร้ามาสามปี สุดท้ายก็จบชีวิตด้วยการโดดลงไปจริง ๆ
การมุงดูคนฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง หรือความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ มีมาช้านาน เช่น นักสู้กลาดิเอเตอร์สมัยโรมันที่ต้องต่อสู้กับสัตว์หรือต่อสู้กันเองจนถึงชีวิตเพื่อความบันเทิงของผู้ชม รสนิยมชื่นชอบความรุนแรงนี้เหมือนจะมาจากสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ชาวจีนมุงดูทหารญี่ปุ่นตัดหัวประหารชีวิตชาวจีนด้วยกันหน้าตาเฉยไร้ความรู้สึกที่นักเขียนจีนชื่อดัง ‘หลู่ซวิ่น’ ได้บันทึกไว้ในนิยายเพื่อสะท้อนความป่วยไข้ทางจิตวิญญาณของคนในสังคม
LiveLeak เว็บไซต์วิดีโอของอังกฤษที่ถูกปิดไปเมื่อเดือนพ.ค. ก็มีเนื้อหาจำพวกตัดหัว พฤติกรรมรุนแรงซาดิสต์อยู่ไม่น้อย หลายคลิปมียอดวิวทะลุล้าน หรืออย่างซีรีส์เกาหลีสุดฮิต ‘เกมปลาหมึก’ (Squid Game) ถึงจะไม่มีฉากโชกเลือดจนน่าหวาดเสียวขนาดนั้น แต่คอนเซปต์การจับคนที่ชีวิตไม่มีอะไรจะเสียมาเล่นเกมจนตายกันไปข้างก็ทำให้มีผู้ชมถึงร้อยล้านคนทั่วโลก
ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบียน มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic) เคยทำการแสดง Rhythm 0 ในปี 1974 ที่อนุญาตให้ผู้เข้าชมทำอะไรกับเธอก็ได้ และไม่ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา มีอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่ใช้ได้ 72 ชิ้น เช่น ขนนก หวี ใบมีด ปืน และอื่น ๆ ช่วงแรกผู้ชมก็ไม่ได้ทำอะไรมาก แต่พอรู้สึกได้ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีใครห้ามจริง ๆ ผู้ชมหลายคนก็เริ่มปลดปล่อยตัวตน มีคนฉีกเสื้อผ้าเธอ หรือใช้ใบมีดกรีดร่างกายเธอ ทำให้อบราโมวิชได้บทเรียนจากศิลปะแสดงสดครั้งนั้นว่า ถ้ามอบตัวตนทั้งหมดให้ผู้ชมอย่างสิ้นเชิง พวกเขาก็ฆ่าคุณได้จริง ๆ
สามสิบปีก่อน นีล โพสต์แมน (Neil Postman) นักการศึกษาชาวอเมริกันเขียนไว้ในหนังสือ Amusing Ourselves to Death เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่สื่อโทรทัศน์ทำให้วาทกรรมต่าง ๆ เป็นแค่ความบันเทิง และมนุษย์เองก็เป็นเครื่องมือของมัน ในโลกเสมือนที่วาทกรรมแทบไม่มีค่า ความรับผิดชอบต่อการกระทำเป็นศูนย์ และความสนุกสนานถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ทุกสิ่งอย่างล้วนดูเหมือนเกมและการแสดง รวมถึงการดื่มยาฆ่าตัวตายด้วย
โพสต์แมนเตือนเราเรื่องวัฒนธรรมสื่อและความบันเทิงเกินเหตุตั้งนานแล้ว ทุกวันนี้เราก็ควรระแวดระวังกับ “การทำให้เป็นสิ่งเสมือนเกินจริง” คิดดูว่าการที่เราได้เห็นคนไลฟ์สดฆ่าตัวตายแต่กลับมองว่าเป็นการเล่น “หัวร่อจนตาย” ก็ไม่ใช่แค่คำอุปมา แต่กลายเป็นเรื่องจริง
แหล่งที่มาหลัก:
下午察:直播间里怂恿他人自杀有罪吗?