ปักกิ่ง, 13 ต.ค. (ซินหัว) - เมื่อไม่นานนี้ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (UN) แสดงทัศนะว่าจีนได้สนับสนุนและมีส่วนส่งเสริมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาล และปรัชญาอารยธรรมเชิงนิเวศน์เป็นสิ่งสำคัญต่อทุกประเทศในการบรรลุเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก
"อารยธรรมเชิงนิเวศน์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะมุ่งเน้นสายสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์และธรรมชาติ" เอลิซาเบธ มารูมา เมรมา เลขานุการฝ่ายบริหารประจำอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) กล่าว
"แนวคิดอารยธรรมเชิงนิเวศน์สะท้อนกระแสหลักของความหลากหลายทางชีวภาพข้ามภาคธุรกิจและข้ามหน่วยงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกประเทศในการบรรลุเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก" เมรมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว เมรมาเดินทางเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) ซึ่งจัดขึ้นที่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวภายใต้หัวข้อ "อารยธรรมเชิงนิเวศน์ : การสร้างอนาคตร่วมกันเพื่อทุกชีวิตบนโลก" (Ecological Civilization: Building a Shared Future for All Life on Earth) เป็นการประชุมหัวข้ออารยธรรมเชิงนิเวศน์ระดับโลกครั้งแรกที่จัดโดยสหประชาชาติ
การประชุมฯ ส่วนแรกเริ่มต้นเมื่อวันจันทร์ (11 ต.ค.) เพื่อทบทวน "กรอบการปฏิบัติงานความหลากหลายทางชีวภาพโลกหลังปี 2020" เพื่อวางแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต ขณะการประชุมฯ ส่วนที่ 2 จะจัดแบบออฟไลน์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 เพื่อหารือกรอบการปฎิบัติงานฯ เชิงลึก
"กรอบการปฏิบัติงานนี้จะทดแทนเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพไอจิ (Aichi Biodiversity Targets) ซึ่งกำหนดแนวทางการดำเนินงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา" เมรมากล่าว
เมรมาคาดหวังว่าจะมีการรับรองแถลงการณ์คุนหมิง (Kunming Declaration) ในการประชุมฯ ส่วนแรก ซึ่งจะช่วยสร้างแรงผลักดันความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และสะท้อนว่าความเสียหายทางความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องเร่งด่วน
"จีนถือเป็นผู้สนับสนุนและผู้มีส่วนส่งเสริมวาระเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา" เมรมากล่าว
เมรมาชี้ว่าจีนเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกที่กลายเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมให้สัตยาบันในพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) และพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันประโยชน์ (Nagoya Protocol on access and benefit-sharing)
นอกจากนั้นจีนเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด ซึ่งบริจาคเงินเพื่ออุดหนุนงบประมาณหลักของอนุสัญญาและพิธีสารต่างๆ ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ส่วนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมข้างต้นถือเป็นเครื่องสะท้อนความเป็นผู้นำและข้อผูกพันด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจีนอย่างชัดเจน
เมรมายอมรับในความพยายามของจีนที่ดำเนินการปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีต่อการทำงานในอนาคต นานาประเทศสามารถเอาอย่างและเรียนรู้เรื่องนี้จากจีนได้
"รัฐบาลจีนเดินหน้าประยุกต์ใช้แนวทางระยะยาวเพื่อหยุดยั้งและพลิกกลับความเสียหายด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้วยทีมกำกับดูแลวินัย ซึ่งเสนอแนวทางแก้ไขความสลับซับซ้อนทางสังคม-เศรษฐกิจ และทิศทางนโยบายอันครอบคลุมและเข้าถึงได้" เมรมากล่าว
สำหรับความท้าทายต่างๆ ของความหลากหลายทางชีวภาพ เมรมากล่าวว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหญ่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว
รายงานของสหประชาชาติเมื่อปี 2019 จำแนกตัวขับเคลื่อนความเสียหายด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง 5 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ทะเลและที่ดิน การใช้สิ่งมีชีวิตโดยตรง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มลภาวะ และการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น
เมรมากล่าวว่าทั้งโลกควรปกป้องผืนดินและมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รับรองว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมในการปกป้องธรรมชาติ และขยายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสียหายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
"เราต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อสายสัมพันธ์อันสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ" เมรมาทิ้งท้าย