หากเอ่ยถึงจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำหินเมืองตุนหวง หลายคนอาจจะนึกถึงภาพ 'นางอัปสรดีดผีผาจากด้านหลัง' ทว่าศิลปะข้างต้นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและมีวิวัฒนาการเช่นไรนั้นกลับไม่ค่อยมีใครล่วงรู้ จนกระทั่งในไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลจีนได้เพิ่มการสนับสนุนการศึกษาวิจัยใน “สาขาที่ไม่เป็นที่นิยม” เช่น อักษรโบราณบนกระดูกสัตว์ ข้อความจารึกบนแผ่นไม้ และเอกสารโบราณที่พบในวัฒนธรรมตุนหวง เป็นต้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นใหม่ๆ ในงานวิจัยขนาดเล็กเหล่านี้
นางอัปสรแห่งถ้ำพุทธศิลป์แห่งเมืองตุนหวง เป็นชายหรือหญิงนั้น เป็นประเด็นถกเถียงกันในช่วงไม่กี่มาปีมานี้
สำนักข่าวซินหัวได้ติดตามประเด็นนี้ โดยล่าสุดศาสตราจารย์เก๋อ เฉิงยง จากสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมจีน (Chinese Academy of Cultural Heritage) ได้อธิบายที่มาของภาพวาดดังกล่าวในการประชุมตุนหวง ซึ่งจัดขึ้นในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย. 2021
ศาสตราจารย์เก๋อ เฉิงยง กล่าวแสดงความเชื่อว่าเดิมทีภาพนางอัปสรดีดผีผานั้นอาจเคยเป็นภาพของบุรุษเพศมาก่อน
ทีมวิจัยของเก๋อซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจำนวนมากทั้งจากสถาบันในจีนและต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการผสานมุมมองแบบจีนและวิสัยทัศน์ระดับสากล โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบศิลปะตุนหวงกับศิลปะจากหลายๆ อารยธรรม เช่น กรีก ซอคเดีย (Sogdia) เปอร์เซีย และอินเดีย เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน
การสืบย้อนรอยที่มาของภาพดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของเก๋อและคณะ เหล่านักวิจัยได้ศึกษาและเปรียบเทียบภาพแกะสลักของจักรพรรดินีเจินซุ่น (หนึ่งในพระสนมของจักรพรรดิถังเสวียนจง) ในสมัยราชวงศ์ถังกับจิตรกรรมฝาผนังตุนหวง และพบว่าภาพนางอัปสรดีดผีผาจากด้านหลังอาจมีต้นกำเนิดมาจากต่างแดน โดยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังช่วงรุ่งเรืองหรือเซิ่งถัง (ปี 712-762) มาถึงช่วงราชวงศ์ถังตอนกลาง (ปี 762-827) ภาพนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยเป็นภาพชาวชนเผ่าทางตอนเหนือของจีนกลายมาเป็นภาพชาวฮั่น และเปลี่ยนแปลงจากภาพบุรุษมาสู่ภาพสตรี อันเป็นหลักฐานของการหลอมรวมทางวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหม
อนึ่ง ถ้ำพุทธศิลป์เมืองตุนหวง หรือ มั่วเกาคู เป็น 1 ใน 3 ถ้ำพุทธศิลป์ที่ยิ่งของจีน อีกสองแห่งคือ ถ้ำพุทธศิลป์อวิ๋นกังใกล้เมืองต้าถง มณฑลซันซี และถ้ำหินพุทธศิลป์หลงเหมิน เมืองลั่วหยัง มณฑลเหอเป่ย สำหรับพุทธศิลป์ที่ถ้ำผาม่อเกาคู ใช้เวลาสร้างจากยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ.317-420) ผ่านการบูรณะ ต่อเติม สร้างใหม่ในยุคราชวงศ์ต่างๆ จนถึงราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368) รวมเวลากว่า 1,000 ปี