โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ(UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ(SIE) กรุงปักกิ่ง
ภายใต้โลกาภิวัฒน์และการแสวงหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้การร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน อย่างที่ประจักษ์กันแล้วว่าการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนกันด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยี สามารถเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศต่างๆได้ ประเทศที่ประชากรโดยรวมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากเท่าไหร่ สังคมและเศรษฐกิจของประเทศก็จะมีความแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น
ผู้เขียนมองว่าแนวทางที่ ‘จีนใหม่’ ได้เดินมา 72 ปีนั้นมหัศจรรย์ การพัฒนาของจีนขึ้นมาจนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่รวยที่สุดในโลก ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีการเติบโตในแบบของจีนได้รับการจับตาจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่กำลังดิ้นรนหาแนวทางหลุดพ้นจาก “กับดักความยากจน” ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศอยากที่จะเรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจในแบบของจีน เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศตนเองไม่มากก็น้อย
ผู้เขียนมองว่าในขณะนี้เราต้องโฟกัสการร่วมมือกันหลังวิกฤติโควิด-19 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำคัญของไทยและการร่วมมือของจีน ทำอย่างไรที่จะทำให้การร่วมมือมีประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายและกับทุกฝ่ายในมุมของความร่วมมือระดับภูมิภาค
กลับมาที่เรื่องของการร่วมมือระหว่างประเทศและการร่วมมือระหว่างจีน-ไทย คำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยเกี่ยวกับการสะท้อนความสัมพันธ์จีนไทยคือ “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” เวลามีกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้เขียนจะได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน-ไทยมาตลอด ผู้เขียนเองในฐานะที่พำนักอยู่ที่ประเทศจีนมา 12 ปี รู้สึกได้ชัดว่าคนจีนรู้สึกเป็นมิตรกับคนไทยและประเทศไทย ในด้านของเศรษฐกิจและสังคมมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด หากไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 ชาวจีนเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากที่สุดเทียบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ โดยตัวเลขสถิติในปี 2019 ระบุจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มายังไทยมากถึงปีละ 10 กว่าล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็น 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP ในภาคการบริการต่างๆก็พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมาประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้นหลายภาคฝ่ายต่างก็ตั้งความหวังและรอการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
ส่วนเรื่องจับตาการร่วมมือในยุคใหม่ระหว่างจีน-ไทยนี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจดังที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ออกมาดังนี้
- การเชื่อมต่อกันทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-ไทยผ่านนโยบายที่จีนริเริ่มคือ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ไทยถือเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนที่ร่วมมือกับจีนภายใต้กรอบความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทางทะเล นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับการมี ‘ชะตากรรมร่วมกัน’ (Common destiny) ร่วมกันของประชากรโลก เน้นการเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันที่จะมีความสำคัญยิ่งมากขึ้น โครงการผุด ‘รถไฟไทย-จีน’ คือมิติใหม่แห่งการร่วมมือในศตวรรษใหม่นี้ การเชื่อมโยงทางคมนาคมระหว่างประเทศ จีน-ลาว-ไทย และในอนาคตที่จะเชื่อมลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ คือ Master Plan และความหวังใหม่ระหว่างจีนและอาเซียน ณ ปัจจุบันทางรถไฟในฝั่งจีนถึงลาวได้สร้างเสร็จแล้วและจะเริ่มเดินรถอย่างเป็นทางการในปลายปี 2021 นี้ และหากในอนาคตอันใกล้การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟกับไทยขยายลงไปจนถึงกรุงเทพฯสำเร็จ โอกาสและการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟจะมีขึ้นมาก ชีวิตของประชาชน การไปมาหาสู่ระหว่างประชากรจีนและอาเซียนจะมีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น
- ในประเทศจีนได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแทบจะทุกภาคส่วนและเต็มรูปแบบแล้ว โดยเฉพาะในเมืองชั้นหนึ่งอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ส่วนประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลแต่ยังไม่เต็มรูปแบบนัก กล่าวได้ว่าในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและโลจิสติกส์ไทยยังมีช่องว่างที่ให้พัฒนาและโอกาสที่สูงอยู่มาก ปัจจัยกระตุ้นให้แต่ละประเทศปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นคือโรคระบาดโควิด-19 ที่ดำเนินมาสองปีกว่าแล้ว การใช้เทคโนโลยีไร้สาย ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐไทยก็กำลังผลักดันการลงทุนจากต่างชาติในด้านนี้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor /EEC) เป็นพื้นที่ที่เปิดและกระตุ้นรับการลงทุนประเภทเทคโนโลยีในด้านต่างๆ บริษัทดิจิทัลหรืออีคอมเมิรสต์ชั้นนำจากจีนได้เล็งเห็นโอกาสและเข้าไปลงทุนในไทยก็มีอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว เช่น JD.com Alibaba และแนวโน้มในอนาคตจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการร่วมมือในภาคส่วนธุรกิจสมัยใหม่ระหว่างจีน-ไทยเป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ทั้งนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีนสู่ไทยจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในด้านที่จีนแข็งไทยอ่อนจะมีโอกาสและความเป็นไปได้มากขึ้น
- การร่วมมือด้านการท่องเที่ยว+การรักษาสุขภาพ เป็นสิ่งที่น่าจับตาระหว่างจีนและไทย เพราะมีฐานของ Supply + Demand ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจีนที่จะไปพักผ่อนใช้เวลาที่เมืองไทย อาจจะมีแนวโน้มที่มากขึ้นเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐไทยเรื่องวีซ่าผู้สูงอายุ การถือครองทรัพย์สินในไทย โรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามามีบทบาทด้านการบริการสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งภาคบริการของไทยเป็นที่ขึ้นชื่ออยู่เป็นทุนเดิมแล้วทำให้การพัฒนาด้านนี้และการร่วมมือระหว่างจีน-ไทย จะมีโอกาสและประสิทธิภาพมากในอนาคต
จีนเองพยายามสนับสนุนและให้ความสำคัญกับเรื่องของการประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตของผู้สุงอายุที่จะดีขึ้น ผู้สูงอายุในกลุ่มชนชั้นกลางจะมีศักยภาพในการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น และในมุมของรัฐบาลจีนเองจะให้ความสำคัญกับกองทุนคนชรามากขึ้น(ทั้งของรัฐและเอกชนที่รัฐกำกับดูแล) สนับสนุนให้ประชาชนซื้อประกันชีวิตและสำรองเงินไว้ใช้เมื่อยามชรามากขึ้น
- การร่วมมือด้านการเกษตรสมัยใหม่และพลังงานสะอาด ระหว่างจีนและไทยจะมีมากยิ่งขึ้น จีนประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก การใช้ทรัพยากรจำนวนมาก (ทรัพยากรมีจำกัดอยู่เสมอ) และด้านการบริโภคก็มีมากตามจำนวนประชาชน การเกษตรสมัยใหม่และพลังงานสะอาดเป็นพื้นฐานการพัฒนาในแนวทางใหม่ของจีน แน่นอนว่าไทยเองก็พยายามพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่และพลังงานสะอาดอย่างไม่หยุดหย่อน ดังนั้นการร่วมมือกันด้านนี้ระหว่างจีนและไทยมีโอกาสมากและน่าจับตาอย่างยิ่ง
สุดท้ายแล้ว “ความหวังและความฝัน” ของทั้งสองประเทศ กำลังค่อยๆมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นจริง หากบรรลุตามเป้าหมายประเทศชาติทั้งสองจะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือไปด้วยกัน “Positive relations” เป็นกุญแจสำคัญในการร่วมมือ ผู้เขียนเชื่อว่าภายใต้ความซับซ้อนของการร่วมมือระหว่างประเทศ การคานอำนาจระหว่างประเทศใหญ่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น แต่ความแน่นแฟ้นระหว่างความสัมพันธ์จีน-ไทยจะก้าวขึ้นไปอีกขั้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผ่านโครงการต่างๆที่มีการร่วมมือกันและดำเนินการอยู่