ละครประวัติศาสตร์เรื่อง ‘Awakening Age’ (觉醒年代) ที่ถ่ายทำเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลายเป็นอีกหนึ่งละครจีนสุดฮิตแห่งปี ทางกรมโฆษณาชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ร่วมทุนการสร้างเรื่องนี้ด้วย ความพิเศษของ Age of Awakening คือการดึงดูดความสนใจของผู้ชมอย่างที่ละครโปรโมตรัฐบาลน้อยเรื่องจะทำได้เช่นนี้
Awakening Age มีความยาว 43 ตอน ตั้งแต่เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. จนถึงตอนจบในวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็สามารถกวาดคะแนนรีวิวบนเว็บไซต์โต้วป้าน (Douban) ได้ถึง 9.3 คะแนน จากผู้โหวต 350,000 คน ถือว่าสูงมาก ๆ และนี่ยังไม่นับว่า Awakening Age เป็น “ละครแดง” (ละครหรือสื่อที่สอดแทรกอุดมการณ์ของรัฐ) หนึ่งในท็อปคอมเมนต์บนเว็บไซต์โต้วป้านที่ระบุว่า “ไม่ธรรมดาเลยที่ละครจะสามารถสะท้อนภาพ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’* พร้อมๆกับสะท้อนความสำเร็จของบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ทั้งตัวบท การแสดง การถ่ายทำ และการกำกับนี่เรียกได้ว่าชั้นหนึ่งเลยล่ะ”
Awakening Age บอกเล่าเรื่องราวของนักศึกษาปัญญาชนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่จะกลายมาเป็นสมาชิกก่อตั้งคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวละครหลักคือเฉินตู๋ซิ่ว และหลี่ต้าเจา รับบทโดย ‘อี๋ว์เหอเหว่ย’ (于和伟) และ ‘จางถง’ (张桐) ในเรื่องยังมีบทของเหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล และหลู่ซวิ่นอีกด้วย เรื่องราวเริ่มต้นในปี 1915 กับการก่อตั้งวารสารเยาวชนใหม่ของเฉินตู๋ซิ่ว ที่เป็นเหมือนหมุดหมายของขบวนการวัฒนธรรมใหม่ โดยมีสาธารณรัฐจีนที่กำลังตั้งไข่และยังต้องรับมือกับจักรวรรดินิยมต่างชาติและการแข่งขันระหว่างเหล่าขุนศึกเป็นฉากหลัง เรื่องราวนำไปสู่เหตุการณ์หลักที่ละครตั้งใจจะนำเสนอ ขบวนการ 4 พฤษภาคม ปี 1919 ที่เฉินตู๋ซิ่วและหลี่ต้าเจา มีบทบาทสำคัญ
จากประวัติศาสตร์ของละครและภาพยนตร์แดงเรื่องก่อน ๆ เรียกได้ว่าเป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอนๆ โดยเมื่อสิบปีที่แล้ว มีการจัดทำภาพยนตร์เรื่อง ‘Beginning of the Great Revival’ (建党伟业) เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาเล่าส่วนใหญ่ก็แทบไม่ต่างจาก Awakening Age แต่แม้ว่าสื่อของรัฐจะขยันโปรโมต Beginning of the Great Revival กลับทำรายได้น้อยนิด และถูกถล่มจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ว่าใช้วิธีเล่าเรื่องน่าสับสนเป็นอย่างมาก นักแสดงเบอร์ใหญ่ที่ถูกยัดมาเป็นร้อยคนก็ช่วยดึงคนดูไม่อยู่ ถึงขั้นว่าเว็บไซต์โต้วป้านต้องเอาส่วนคะแนนเรตติ้งออนไลน์ของหนังเรื่องนี้ออกเพื่อไม่ให้ขายหน้าไปมากกว่านี้
ในปีนี้ก็มีความพยายามจะฉายภาพยนตร์ปลุกใจอีกครั้งกับเรื่อง ‘1921’ แต่กลับได้รับกระแสตีกลับจากข่าวฉาวของบรรดานักแสดงในเรื่อง รวมทั้ง ‘เจิ้งส่วง’ (郑爽) ที่มีข่าวเรื่องเลี่ยงภาษีจนต้องถูกตัดออกจากรายชื่อนักแสดง แถมยังมีข่าวลือเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวของอดีตสมาชิกวง R1SE คือ ‘เยียนสีว์จยา’ (焉栩嘉) ที่รับบทประธานเหมาในวัยหนุ่ม ทำให้ชาวเน็ตผู้รักชาติขุ่นข้องใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปีทั้งที สมควรแล้วหรือที่ให้นักแสดงที่มีประเด็นไม่เหมาะไม่งามมารับบทวีรบุรุษของชาติ จากหลาย ๆ สาเหตุทำให้ยอดขายตั๋วไม่เป็นไปตามเป้า แถมคนที่อุตส่าห์ไปดูยังต้องผิดหวังกับวิธีเล่าเรื่องที่แข็งทื่อและไม่น่าสนใจ “ในหนังมีดาราดัง ๆ เยอะเลย แต่เอฟเฟ็กต์ในเรื่องแย่มาก จู่ ๆ ก็สลับไปถ่ายตัวละครรอง ทำให้พล็อตหลักดูงง ๆ แล้วก็เล่าเรื่องแบบเร่งรีบไปหน่อย” “ธีมหลักรวม ๆ ก็ไม่ได้แย่นะ แต่ยัดคำพูดทางการเมืองมาเยอะเกิน”
ในทางกลับกัน หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของ Awakening Age มาจากการที่ละครไม่ได้พยายามยัดอุดมการณ์มากจนล้น แค่โฟกัสกับการแสวงหาวัฒนธรรมใหม่และยุคสมัย ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ไม่ได้เอาเรื่องการก่อตั้งพรรคมาเป็นใจความหลัก ส่วนสารที่สอดแทรกเพื่อโปรโมตพรรคก็โผล่มาตอนท้าย ๆ หลังจากที่ปูทางให้คนดูรู้สึกผูกพันและอินกับตัวละครหลักไปแล้ว
นอกจากนี้ความสมจริงของเรื่องยังเป็นอีกจุดที่น่าชื่นชม ละครให้เวลากับการพัฒนาตัวละครอย่างเต็มที่ ไม่ได้รีบเร่งดำเนินเรื่องไปตามหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ แต่กลับแสดงให้เห็นชีวิตประจำวันของตัวเอกเสียส่วนมาก จึงทำให้ดูสมจริงและเข้าถึงได้
“ในฐานะละครสอดแทรกอุดมการณ์ นี่ถือว่าทำได้ยอดมาก” ท็อปคอมเมนต์จากเว็บไซต์โต้วป้านกล่าว “มันมีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีเรื่องราวเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างการแทรกรายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างเฉินตู๋ซิ่วกับพวกลูกชายมาในเรื่อง” อีกคอมเมนต์บอกว่า “ถ้า (รัฐบาล) ตั้งใจทำก็ทำออกมาได้ดีเลยนี่นา ฉันไม่เคยชอบดูละครอุดมการณ์เลย แต่พอมาดูเรื่องนี้ก็เพิ่งรู้ตัวว่าจริง ๆ ก็ชอบดูนะ แค่เกลียดพวกละครที่ทำออกมาห่วย”
Awakening Age ได้รับความนิยมจากผู้ชมวัยหนุ่มสาวมากกว่าที่คิด ถือว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ของรัฐบาลที่จะปลุกใจเยาวชนรักชาติ จนถูกนำไปใช้เป็นสื่อการสอนประวัติศาสตร์พรรคเพื่อเน้นย้ำว่าจีนมาไกลแค่ไหน ครูจะฉายละครเรื่องนี้ในห้องเรียน และยังจัดทัศนศึกษาให้ไปเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในเรื่องด้วย
ผู้ชมชาวจีนอินกับแนวคิดชาตินิยมที่เรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนจีนจากภัยคุกคามต่างชาติและนักปฏิวัติรุ่นเยาว์ที่อุทิศชีวิตเพื่อบ้านเกิด ในเรื่องยังแฝงเมสเสจ (สารัตถะ) ของความปั่นป่วนและความยากจนของยุคสาธารณรัฐกับจีนปัจจุบัน “เป็นเพราะความรักชาติอย่างสุดซึ้งของคนรุ่นก่อนที่ทำให้ชาติจีนเจริญรุ่งเรืองได้อย่างทุกวันนี้ เราต้องไม่ลืมความเสียสละของพวกเขา”
ลูกชายของเฉินตู๋ซิ่ว เฉินเฉียวเหนียน และเฉินเหยียนเหนียน ในเรื่องรับบทโดย ‘หมาฉี่เย่ว์’ (马启越) และ ‘จางหว่านอี้’ (张晚意) ผู้พบกับโศกนาฏกรรมในตอนจบกลายเป็นตัวละครขวัญใจคนดู จากกระแสละครทำให้ถนนที่ตั้งชื่อตามสองพี่น้องในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย กลายเป็นสถานที่ไว้อาลัยที่ผู้คนมาวางจดหมายหรือดอกไม้เพื่อสดุดีสองพี่น้องผู้กล้าในอดีต ทางการท้องถิ่นยังให้คำมั่นว่าจะสร้างรูปปั้นทั้งสองคนขึ้นตามคำเรียกร้องบนโลกออนไลน์อีกด้วย
ผู้ก่อตั้งหัวเหวย ‘เริ่นเจิ้งเฟย’ (任正非) กลายเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหลังจากเขาแนะนำให้พนักงานดูละครเรื่องนี้เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์จีน ฉากจากในละครยังถูกนำมาใช้เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองเจิ้งโจวจากมวลชนที่เกิดเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอาลีบาบาที่เรียกร้องให้คนออกมาสนับสนุนเพื่อนพนักงานที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็บอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากละครเรื่องนี้เช่นกัน
กรมโฆษณาชวนเชื่อแทบรอไม่ไหวที่จะสร้างละครปลุกใจเรื่องอื่น ๆ เหมือน Awakening Age ขึ้นมาอีก ละครเป็นสื่อที่เข้าถึงคนดูได้เป็นจำนวนมากและทั่วถึง ทำให้เป็นช่องทางสำคัญในการปลูกฝังอุดมการณ์ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ดูเหมือนว่าเทรนด์ “ละครแดง” ที่ลุ่มลึกไปด้วยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ที่มา:
‘Age of Awakening’: A Chinese revolutionary drama becomes a cultural touchstone (and propaganda coup)
Chinese Propaganda Film ‘1921’ Bounces Back Despite Prior Nationalist Boycott
*หมายเหตุ (ผู้เขียน) : ‘ขบวนการวันที่ 4 พฤษภาคม’ (May Fourth Movement, 五四运动) เป็นการเคลื่อนไหวแสวงหาวัฒนธรรมใหม่ให้กับประเทศช่วงหลังจากที่สาธารณรัฐจีนถูกสถาปนาขึ้นได้ไม่นาน โดยมีเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้เกิดการเดินขบวนประท้วงใหญ่ทั่วประเทศของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 คือข้อตกลงของที่ประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีสซึ่งส่งผลให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ในข้อตกลงฯได้บังคับให้จีนยกเขตแดนจีนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนีให้แก่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น แม้ระบอบจักรพรรดิจีนได้ล่มสลายและสาธารณรัฐจีนถูกสถาปนาขึ้นมาแทน แต่สังคมจีนยังยากจน ป่วยไข้ อ่อนแอ ไร้อำนาจต่อรองกับเหล่ามหาอำนาจจักรวรรดิ