xs
xsm
sm
md
lg

5 เรื่องเสียว! "เอเวอร์แกรนด์" ยักษ์ใหญ่อสังหาจีน เสี่ยงล้มพร้อมหนี้ 10 ล้านล้าน ลามวิกฤตซับไพรม์เอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล


ราคาพันธบัตรดอลลาร์สหรัฐ ของเอเวอร์แกรนด์ที่ร่วงต่ำที่สุดอย่างรวดเร็ว (ภาพเอเจนซี)
MGR Online - เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ประชาชนจีนกว่าร้อยคน ได้บุกเข้าไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทเหิงต้า หรือ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการพัฒนาต่าง ๆ หลังมีข่าวแพร่สะพัดว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์) ถือเป็นธุรกิจเอกชนที่มีหนี้มากที่สุดในโลก

เอเวอร์แกรนด์ เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีนและเป็นหนี้สินมากที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับภาวะล้มละลายหลังจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วและการไล่ซื้อกิจการต่าง ๆ หลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่วิกฤติสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องของเอเวอร์แกรนด์ ทำให้เกิดความกลัวว่า จะผิดนัดชำระหนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงในวงกว้างต่อระบบการเงินของจีน

เอเวอร์แกรนด์นั้น ใหญ่แกรนด์แค่ไหน ว่ากันว่าก็คงขนาดที่ว่าหากล้มละลาย นับเป็นผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และอาจรวมถึงโลกด้วย

เป็นเหตุให้หลายฝ่ายจับตาว่ารัฐบาลจีนยื่นมือเข้าอุ้มหรือไม่ เพราะการล้มของเอเวอร์แกรนด์มีนัยยะสำคัญกับเศรษฐกิจจีนและเชื่อมโยงกับตลาดโลก

เรือจม? การประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน เอเวอร์แกรนด์เรียลเอสเตทกรุ๊ป ของ สีว์จยาอิ้น เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ย้ำให้เห็นภาพของต้นหนฯ ที่สละเรือซึ่งใกล้จะจม (ภาพเอเจนซี)
1. เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) คือใคร?
เอเวอร์แกรนด์ หรือไชน่าเอเวอร์แกรนด์ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของบริษัท มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ ในกว่า 280 เมือง เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศจีนและติดอันดับหนึ่งใน 150 บริษัท ชั้นนำของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ จากข้อมูลของ Fortune 500 บริษัทมีพนักงานมากกว่า 123,000 คน และมีรายได้รวม 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020

การปฏิรูปของจีนได้เปิดเศรษฐกิจการพัฒนาที่ดิน บริษัทได้สร้างและสะสมความมั่งคั่งในช่วงหลายทศวรรษของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็ว

บริษัทไชน่าเอเวอร์แกรนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยนักธุรกิจมหาเศรษฐี สีว์จยาอิ้น ปัจจุบันเขาได้รับการจัดอันดับจากฟอร์บส์ ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับสามในประเทศจีนและเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดอันดับที่ 31 ของโลก อีกทั้งได้รับการจัดอันดับในรายงานความมั่งคั่งล่าสุดจากรายงานของหูรุ่น ยกให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 5 ของประเทศ

สีว์จยาอิ้น วัย 62 ปี มหาเศรษฐีที่สร้างฐานะตัวเอง เติบโตจากความยากจนในชนบท มาเป็นเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ กำลังต่อสู้เพื่อกอบกู้กลุ่มบริษัทของเขาจากหนี้มหาศาล และอาจเป็นต้นเหตุแห่งการล่มสลายที่ใกล้เข้ามาแล้ว ของชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

การประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน เอเวอร์แกรนด์เรียลเอสเตทกรุ๊ป (Evergrande Real Estate Group) เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ก็ยิ่งย้ำให้เห็นภาพของต้นหนที่สละเรือซึ่งกำลังใกล้จะจม

2. เอเวอร์แกรนด์ ทำอะไร-ที่ไหน?
ในขณะที่กิจการส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้เริ่มดำเนินการกระจายความเสี่ยงทั้งหมดไปยังกิจการนอกกลุ่ม

โดยนอกเหนือจาก ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังซื้อสโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอฟซี (เดิมคือกวางโจว เอเวอร์แกรนด์)

เอเวอร์แกรนด์ ยังเข้าไปในอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม มีทั้งกิจการน้ำแร่และอาหารที่กำลังเฟื่องฟูด้วยแบรนด์ Evergrande Spring

นอกจากนี้ ยังสร้างสวนสนุกสำหรับเด็ก ซึ่ง "มโหฬาร" กว่าของค่ายดิสนีย์ คู่แข่ง

เอเวอร์แกรนด์ ยังได้ลงทุนในภาคการท่องเที่ยว ดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และกิจการประกันภัย รวมทั้งลงทุนกิจการรถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande Auto) ในปี 2019 (ทั้งที่ไม่ได้เคยทำการตลาดยานพาหนะใดๆ เลย)

3. เอเวอร์แกรนด์ มีปัญหาอะไร?
ปัญหาในระยะสั้นของเอเวอร์แกรนด์ คือ หนี้สิน ซึ่งกลุ่มบริษัทกล่าวว่าในสัปดาห์นี้ หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์) และเตือนถึง “ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากบริษัทผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้”

หนึ่งปีที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นเอเวอร์แกรนด์ ตกมากกว่า 70% ขณะที่ผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์หลายรายบ่นว่าไม่ได้รับเงินตรงเวลา มีข่าวเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของยักษ์ใหญ่รายนี้ พากันฟ้องเรียกร้องหนี้ตลอดมา

ปีที่แล้ว มีจดหมายภายในรั่วไหลจาก สวี่ เจียหยิ่น ประธานฯ ว่าขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลในการปรับโครงสร้างใหม่ จนตลาดตื่นตระหนก แม้ว่าภายหลัง บริษัทฯ จะบอกว่าเป็นข่าวเท็จก็ตาม

4. การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์ จะก่อให้เกิดวิกฤตในเอเชียหรือไม่?
ปักกิ่ง ได้ตั้งฉายาเรียกกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินและความเสี่ยงทางการเงินมหาศาล แต่ผู้รับผิดชอบมองไม่เห็นสัญญาณ หรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ ว่าเป็น "แรดสีเทา" และ “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” เคยถูกพูดถึงหลายครั้งว่าเป็น “แรดสีเทาตัวยักษ์ของจีน”

ผู้เชี่ยวชาญ เคยเตือนกังวลเรื่องหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกรายนี้เสมอ และถกเถียงคาดการณ์กันว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือไม่หากบริษัทนี้ล่มสลาย นักวิเคราะห์เอเชีย บางคนชวนคิดถึงสถานการณ์เช่นเดียวกับความล้มคว่ำ เรื่องอื้อฉาวของฮันโบ (Hanbo Steel) ในเกาหลีใต้ เดือนมกราคม 1997 ชนวนหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย

วิกฤตหนี้สินทั่วโลกของ เอเวอร์แกรนด์ ที่มีมากกว่า 3.56 แสนล้านดอลลาร์ แม้จะเป็นผู้ออกพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด แต่ก็กลายเป็นพันธบัตรขยะที่นักลงทุนเพียงไม่กี่รายต้องการถือในตอนนี้

ฮิลลาร์ด แม็คเบธ ผู้เขียน When the Bubble Bursts ได้โพสต์ไว้ในบล็อกของ Richardson Wealth ว่า "พันธบัตรเอเวอร์แกรนด์ ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ปัจจุบันราคาซื้อขายต่ำกว่า 40 เซนต์ ซึ่งหมายความว่าตลาดเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่เอเวอร์แกรนด์จะสามารถชำระหนี้นี้ได้”

เอเวอร์แกรนด์ถูกฟ้องร้องชำระหนี้มาต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคาร ไชน่ากวงฝ่า (China Guangfa Bank Co) ชนะคดีอายัดเงินฝากของเอเวอร์แกรนด์ได้ราว 20 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นเป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์

ไม่กี่วันต่อมา ซัพพลายเออร์ของเอเวอร์แกรนด์ พากันเริ่มฟ้องร้องคดีเบี้ยวหนี้ ซึ่งรวมถึง Huaibei Mining Holdings Co ที่ฟ้องเรียกหนี้ค้างชำระจากเอเวอร์แกรนด์ 84 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ

นอกจากนี้ สำนักงานที่ดิน เมืองหลานโจวยังได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเอเวอร์แกรนด์ก็ค้างหนี้เช่นกัน

ปัญหาหนี้ที่พอกพูนมหาศาลทำให้หน่วยงานจัดอันดับเครดิต ลดความน่าเชื่อถือเอเวอร์แกรนด์ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจาก B- เป็น CCC (สองระดับ) ในวันที่ 5 สิงหาคม ขณะเดียวกันก็ลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของธนบัตรดอลลาร์สหรัฐที่ออกโดยเอเวอร์แกรนด์ จาก CCC+ เป็น CC-

S&P กล่าวว่า "สถานะสภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์ลดลงอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้

“ความเสี่ยงจากการไม่ชำระเงินของบริษัทกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงแต่สำหรับพันธบัตรสาธารณะที่จะถึงครบกำหนดในปี 2565 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินเชื่อธนาคารและทรัสต์ และหนี้สินอื่นๆ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วย”

เช่นเดียวกับ หน่วยงานจัดอันดับเครดิตรายใหญ่อื่น ๆ รวมถึง Moodys และ Fitch ได้ประกาศการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือที่คล้ายกัน

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนได้เคยพูดเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนมานานแล้ว และหากเอเวอร์แกรนด์ล่มสลายจริง ... ตลาดโลกก็ย่อมตกต่ำเช่นกัน

แม้ว่าปักกิ่งจะต้องการพยายามบรรเทาภัยพิบัติอย่างดีที่สุด แต่ฝ่ายบริหารก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังดูจะมีแนวทางนโยบายที่ระมัดระวังมากขึ้นในการจัดการปัญหาหนี้สินในหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนและคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยแห่งประเทศจีนได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ไม่ปกติ ในการกระตุ้นให้เอเวอร์แกรนด์ ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงด้านหนี้สิน

ภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัท ได้ออกแถลงการณ์สาธารณะว่า “เอเวอร์แกรนด์ ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ต้องใช้การจัดการเชิงกลยุทธ์ที่จัดทำโดยรัฐบาลกลางอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีเสถียรภาพ และมุ่งมั่นที่จะทำให้การดำเนินงานมีความมั่นคง”

แถลงการณ์ดังกล่าวยังกระตุ้นให้เอเวอร์แกรนด์ “กระจายความเสี่ยงด้านหนี้สินอย่างแข็งขัน และรักษาเสถียรภาพของอสังหาริมทรัพย์และตลาดการเงิน”

ฝ่ายบริหารของเอเวอร์แกรนด์ ตอบว่าจะ "ดำเนินการอย่างเต็มที่" ตามข้อกำหนดของปักกิ่ง รวมถึงการลดความเสี่ยงด้านหนี้สินและรักษาเสถียรภาพของตลาด

มีความคืบหน้าบางอย่างในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ กำลังเจรจากับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเสี่ยวหมี่ เพื่อขายหุ้นในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ประสบผลสำเร็จกับการเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อขยายสินเชื่อ แต่ขนาดของหนี้สินมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องดำเนินการอีกมากเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่หลายคนกลัวว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อตลาดโลก

ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของบริษัท มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1300 โครงการ ในกว่า 280 เมือง (ภาพเอเจนซี)
เลห์แมน บราเธอร์ส ของจีน?
ตำนานวิปโยค เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brother) วาณิชธนกิจระดับโลก ที่ประกาศล้มละลายที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ก่อวิกฤตซับไพร์ม 15 กันยายน ปี 2008 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก หลังขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ กำลังจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับประเทศจีนหรือไม่

นักวิเคราะห์มองว่า มีสาเหตุที่คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นกับ เอเวอร์แกรนด์ คือ การกู้มาลงทุน เติบโตด้วยหนี้ล้วน ๆ นี่คือต้นเหตุที่นำพาไปสู่หายนะอย่างแท้จริง ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงเวลาตลาดขาขึ้น ความโลภเริ่มเข้าครอบงำ

นอกจากนี้ ยังก่อหนี้ท่วม จนสภาพคล่องต่ำ โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ซึ่งมักได้มาจากการกู้ยืมโดยใช้เครดิต ความน่าเชื่อถือ

การขาดความระมัดระวังต่อแผนการลงทุน ประมาทไปว่าช่วงแรกคือช่วงที่อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด จนเมื่อขาดทุน ขาดสภาพคล่อง เงินสดยังแทบไม่มี

การขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างบ้าคลั่งด้วยหนี้จำนวนมาก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เอเวอร์แกรนด์อยู่ในสถานะอันตรายเช่นนี้ในปัจจุบัน

การล่มสลายของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหนี้มากที่สุดในโลกอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดการลงทุนทั่วโลก จะซ้ำรอย กลายเป็น เลห์แมน บราเธอร์ส ของจีน หรือไม่?

เดวิด ลิลเวล-สมิธ ผู้เขียนร่วมของ The Great Crash of 2008 ที่กำลังจับตาดูบริษัทจีนรายนี้ กล่าวว่า

“เอเวอร์แกรนด์เคยเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ตอนนี้เป็นอาคารที่โยกเยกอย่างไม่น่าเชื่อ และมีพันธมิตรธุรกิจน้อยลง”

ลิลเวล-สมิธ ยังเน้นย้ำถึงบางสิ่งที่คนวงในในอุตสาหกรรมหลายคนสงสัยมานาน กล่าวเป็นนัยยะว่า

“หนี้ 3 แสนล้านเหรียญนี้ อาจทำให้ เอเวอร์แกรนด์ เป็นวิปโยค เลห์แมน บราเธอร์สของจีน เป็นหนี้ขยะใต้ดินให้กับคู่สัญญาจีน (และทั่วโลก) (ซึ่งอาจรวมถึงตลาดคริปโทเคอร์เรนซี) หนี้มหาศาลเช่นนี้ มีแต่รัฐบาลจีนเท่านั้นที่สามารถอุ้มทนความเจ็บปวดนี้ได้" 


กำลังโหลดความคิดเห็น