รอยเตอร์ส สื่อต่างประเทศรายงาน (14 ก.ย.) ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ภาคเทคโนโลยี การศึกษา ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทเหล่านี้เสียหายหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งสร้างความกังวลให้แก่เหล่านักลงทุนว่า บริษัทไหนจะกลายเป็นเป้าหมายรายต่อไป
ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่จีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐ มีดังต่อไปนี้
อาลีบาบา (Alibaba)
ชนวนที่ทำให้เกิดรัฐบาลจีนเริ่มหันมากดดันบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของจีนเกิดจาก “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งบริษัทได้กล่าวสุนทรพจน์วิจารณ์ระบบการกำกับดูแลของจีน
อาลีบาบาเริ่มประสบกับชะตากรรมที่ยากลำบากตั้งแต่ปลายปี 2563 เมื่อรัฐบาลจีนสั่งระงับการระดมทุนมูลค่า 37,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของ “Ant Group” บริษัทการเงินในเครืออาลีบาบาอย่างกะทันหัน และได้ลงดาบปรับอาลีบาบาฐานผูกขาดตลาด รวม 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ อาณาจักรธุรกิจอันยิ่งใหญ่ของอาลีบาบายังคงเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การใช้อัลกอริทึม ไปจนถึงการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และการคุ้มครองพนักงาน
นับตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 63 หุ้นอาลีบาบาในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีมูลค่าลดลงมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
เท็นเซ็นต์ (Tencent)
บริษัทเกมและโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดของจีนถูกสั่งปรับฐานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับป้องกันการผูกขาดตลาด และถูกสั่งระงับแผนการควบรวมกิจการเกมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของจีนมูลค่า 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังถูกสั่งห้ามเข้าทำสัญญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลง
เท็นเซ็นต์ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการคุ้มครองผู้เยาว์จากการติดเกม ซึ่งห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นวิดีโอเกมนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
หลังจากที่จากหุ้นของบริษัททำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงกลางเดือน ก.พ. 64 ราคาหุ้นของเท็นเซ็นต์ก็ทยอยปรับตัวลงจนปัจจุบันได้เสียมูลค่าตลาดไปมากกว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ตีตีชูสิง (DiDi ChuXing)
“ตีตี” บริษัทผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่ที่สุดของจีนตกเป็นเป้าการตรวจสอบของรัฐบาลจีน หลังจากเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกในนิวยอร์กเมื่อเดือน มิ.ย. 64 โดยถูกสั่งให้ถอดแอปฯ ออกจากแอปสโตร์จีน รวมถึงห้ามไม่ให้มีลงทะเบียนรับสมัครผู้ใช้ใหม่ โทษฐานเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย
รอยเตอร์สรายงานว่า บริษัทฯ กำลังเจรจาความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลกับบริษัท Westone Information Industry ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีน
นอกจากนี้ สื่อของรัฐบาลจีนยังวิพากษ์วิจารณ์บริษัทฯ เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนขับรถ
ปัจจุบัน มูลค่าหุ้นของบริษัทฯ ลดลงกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 40 ของมูลค่าหุ้นนับตั้งแต่มีการระดมทุนเมื่อเดือน มิ.ย. 64
เหม่ยถวน (Meituan)
บริษัทส่งอาหารกลายเป็นเป้าหมายของการสอบสวนในประเด็นการต่อต้านการผูกขาดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 ซึ่งต่อมานักลงทุนได้พากันเทขายหุ้นเหม่ยถวนหลังจากที่นายหวัง ซิง CEO ของบริษัทฯ ได้โพสต์บทกวีโบราณในโลกออนไลน์ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
นอกจากนี้ เหม่ยถวนยังถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนขับรถส่งของและการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
เหม่ยถวนสูญเสียมูลค่าหุ้นไปมากกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือน ก.พ. 64
นิวโอเร็นทอล เอดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (New Oriental Education & Technology Group)
ปักกิ่งต้องการคลายแรงกดดันต่อเด็กนักเรียนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีส่วนทำให้อัตราการเกิดลดลง จึงออกกฎห้ามหลักสูตรการติวหนังสือเพื่อแสวงหาผลกำไร แม้มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการคุกคามการภาคศึกษาของเอกชน
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลง 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ