ฟอร์บส์ รายงาน ผู้สังเกตการณ์ ได้ประเมินสถานการณ์ต่างๆ ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจพัฒนาไปอย่างไร ที่ปรากฎตอนนี้ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของจีนกับไต้หวัน แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์เจ็ดทศวรรษ ไต้หวันและจีนเป็นปรปักษ์ดุเดือดแต่ไร้เลือด ไม่เคยทำสงคราม คำถามสำคัญคือ อะไรจะกระตุ้นสงครามแท้จริง
ในข้ออ้างการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่สองชาติจะต้องมีสงคราม เพราะไม่ได้อยู่ในระดับความเดือดแค้นของตะวันตก หรือความขุ่นเคืองของจีนต่อความชั่วร้ายของตะวันตก
ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่า จีนก็ยังไม่อยู่ในระดับทำความเดือดแค้นให้ตะวันตก แต่กลับเป็นตะวันตกที่ยังอยู่ในจุดที่กดดันก่อความเดือดแค้นให้จีนได้ สิ่งนั้นคือการกีดกัน และก่อความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ ความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับจีนอย่างเฉียบพลัน และความเป็นไปได้ที่สุดเวลานี้ น่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ทรัพยากรทางกายภาพที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21: เซมิคอนดักเตอร์
รองนายกรัฐมนตรี หลิวเฮ่อ เคยกล่าวกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า "'สำหรับประเทศของเรา' เทคโนโลยีนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับการเติบโตเท่านั้น มันเป็นเรื่องของการอยู่รอด"
สอดคล้องกับ นักสังเกตุการณ์หลายฝ่ายที่เคยพูดถึงเรื่องนี้ตลอดมาว่า “ความทะเยอทะยานของจีนในการเป็นคู่แข่งทางเทคโนโลยีที่แท้จริงกับสหรัฐฯ เผชิญกับความท้าทายพื้นฐาน เมื่อประเทศจีนไม่ได้เป็นผู้ควบคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์อัตโนมัติ"
คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา The National Research Council (NRC) เคยกล่าวเช่นกันว่า “ความเป็นผู้นำของอเมริกาในด้านเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญต่อความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐฯ"
สงครามสมัยก่อนรบกันด้วยเรื่องน้ำมัน “สงครามสมัยใหม่ต่อสู้กันในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์”
นักสังเกตการณ์ตะวันตก เชื่อมโยงว่าปัญหาเซมิคอนดักเตอร์และความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจจีน - และการทหาร อาจคือสิ่งที่จะทำให้จีนพิจารณาการดำเนินการทางทหารอย่างตรงไปตรงมากับไต้หวัน
ฟอร์บส์ รายงานว่า อันที่จริง มีความคล้ายคลึงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรง: ประเทศจีนในปี 2021 อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับสถานการณ์ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1941 มาก
ค่อนข้างชัดเจนว่าการรุกรานทางทหารของญี่ปุ่นในปี 1941 นั้นได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่จะจัดหาน้ำมันของประเทศให้ปลอดภัย
“สมุดบันทึกฯ ของผู้ช่วยคนหนึ่งของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ที่เพิ่งค้นพบทำให้เห็นชัดเจนว่าญี่ปุ่นมองว่าน้ำมันมีความสำคัญอย่างไรในสงครามแปซิฟิก อ้างคำพูดของจักรพรรดิว่า ญี่ปุ่นไปทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาเพราะน้ำมัน - และแพ้สงครามเพราะน้ำมัน”
“กองทัพญี่ปุ่นหมกมุ่นอยู่กับน้ำมัน เครื่องจักรทางการทหารของญี่ปุ่นพึ่งพาน้ำมันที่นำเข้ามาเกือบทั้งหมด และสหรัฐอเมริกา คือผู้จัดหาประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคของญี่ปุ่นในสมัยนั้น พลเรือเอกคนหนึ่งกล่าวว่า 'ถ้าไม่มีน้ำมัน' 'เรือประจัญบานจะไม่มีอะไรมากไปกว่าหุ่นไล่กา'”
ญี่ปุ่นพยายามแก้ไขจุดอ่อนของตนโดยลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ แต่มันไม่ประสบความสำเร็จ เคยวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ในช่วงก่อนสงครามและสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น (กรณีศึกษาเรื่องความล้มเหลวทางเทคโนโลยี” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1993 ในวารสาร Annals of Science)
“เพื่อให้ไม่ต้องพึ่งพาใครในน้ำมัน ญี่ปุ่นพยายามจัดตั้งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงสังเคราะห์เพื่อเปลี่ยนถ่านหินเป็นน้ำมัน ที่จริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นได้เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงสังเคราะห์ในปี 1920 เพียงไม่กี่ปีหลังจากประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร ที่ขาดแหล่งปิโตรเลียมธรรมชาติ แต่ด้วยความเร่งรีบที่จะสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ขนาดใหญ่ จึงข้ามขั้นตอนของโรงงานนำร่องที่อยู่ระหว่างกลาง จึงล้มเหลวในการเปลี่ยนจากการผลิตขนาดเล็กไปเป็นการผลิตขนาดใหญ่”
"วิธีแก้ปัญหา" อื่นของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการขยายกำลังทหาร หลังจากการล่มสลายของฝรั่งเศสในอินโดจีน ปี 1940 ญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่ภูมิภาคการผลิตน้ำมันในมาเลเซียและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์
สิ่งนี้ทำให้สหรัฐฯ ตอบโต้ทางเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941
“รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น ประกาศคำสั่งอายัดทรัพย์สินของญี่ปุ่นทั้งหมดในอเมริกา สหราชอาณาจักรและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ปฏิบัติตาม ผลลัพธ์คือญี่ปุ่นสูญเสียการเข้าถึงน้ำมันนำเข้าถึงร้อยละ 88 ปริมาณสำรองน้ำมันของญี่ปุ่นนั้นเพียงพอสำหรับสามปี และเพียงปีครึ่งเท่านั้นหากเข้าสู่สงคราม”
ญี่ปุ่นมีความทะเยอทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ก็รู้ว่าตนเองมีจุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ และจากจุดนั้นจึงนำญี่ปุ่นไปสู่ยุทธการถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ ในปี 1941
วิกฤตเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
ทุกวันนี้ เศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีของจีนล้วนทำงานบนซิลิคอน นั่นคือเซมิคอนดักเตอร์ ในโลกของเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ คือ 'น้ำมันใหม่' ทรัพยากรล้ำค่าของมหาอำนาจโลก
“ในปี 2020 เศรษฐกิจจีนใช้เงิน 350,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อชิป มากกว่าที่ใช้ไปกับน้ำมัน"
จีนมีสัดส่วนเป็นผู้ซื้อชิปรายใหญ่ 60% ของการผลิตชิปของโลกที่ 90% มาจากนอกประเทศจีนหรือผลิตในประเทศโดยผู้ผลิตต่างประเทศ (เช่น Intel INTC)
ปัญหาจีนพึ่งพาทรัพยากรที่ตนไม่ได้เป็นผู้ควบคุมนี้ (จากมุมมองของชาวจีน) เป็นเรื่องใหญ่และกำลังเติบโต จุดยืนของจีนในอุตสาหกรรมระดับโลกนั้นจะเล็กและแคระแกร็น เพราะสหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 50% ของอุตสาหกรรมทั่วโลก และรักษาตำแหน่งที่โดดเด่นนี้มาเป็นเวลาสามทศวรรษ
ขณะที่ประเทศจีนยังติดอยู่ที่ประมาณ 5%
ที่สำคัญกว่านั้นคือช่องว่างเชิงคุณภาพ ส่วนที่มีมูลค่าสูงของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คือภาค IC
จีนไม่ใช่ผู้มีบทบาทในภาคฯ นี้เลย เมื่อรายใหญ่ 9 รายจาก 13 อันดับแรก อยู่ในสหรัฐฯ ไม่มีบริษัทจีนเพียงแห่งเดียวในกลุ่มนี้
สหรัฐฯ ครองอุตสาหกรรมนี้ครึ่งหนึ่ง ขณะที่อีกครึ่ง ที่จีนพยายามมานานหลายทศวรรษเพื่อให้ได้ แต่เนื่องจากความสามารถในอุตสาหกรรมนี้ ยังตามหลังผู้นำสี่ถึงห้ารุ่น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า Semiconductor Manufacturing International Corp. (SMIC) - ได้ประกาศแผนในการสร้างโรงงานการผลิต IC แห่งใหม่ (ร่วมกับเมืองเซี่ยงไฮ้) เพื่อผลิตวงจรรวมโดยใช้เทคโนโลยี 28 นาโนเมตร ยังตามหลัง TSMC ของไต้หวันประมาณ 10 ปี ซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวชิปขนาด 3 นาโนเมตรในปีหน้า (ซัมซุงผลิตไอซีขนาด 3 นาโนเมตรรุ่นอื่นแล้ว) แท้จริงแล้ว ไต้หวันครองธุรกิจนี้ โดยคิดเป็น 63% ของตลาด ซึ่งมากกว่าจีนถึง 10 เท่า
ศักยภาพจีนในเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในทุกที่จึงยังไม่ใกล้กับระดับของสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ไม่ว่าจะในแง่ปริมาณหรือเชิงคุณภาพ ตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ชาวอเมริกันลงทุนมากกว่าบริษัทจีนถึงสองเท่า ในแง่เงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ลงทุนมากกว่าจีนถึง 18 เท่า (2018)
ผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตไอซีทั้งสามราย ได้แก่ TSMC, Samsung และ Intel ได้ประกาศแผนการลงทุนกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า นั่นเป็นจำนวนมากแม้กระทั่งสำหรับปักกิ่ง (แม้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ SMIC ก็ยังคงต้องพึ่งการระดมทุนจากนักลงทุนภายนอก)
ทั้งหมดนี้คือการประเมินสถานการณ์ปัจจัยโครงสร้างของจีนที่ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อแก้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ผ่านการพัฒนาภายใน ด้วยการขาดดุลการลงทุนจำนวนมหาศาล ช่องว่างทางเทคโนโลยีจะกว้างขึ้นอย่างแน่นอน จีนน่าจะล้าหลังไปอีก
การดำเนินการของรัฐบาลไม่ใช่คำตอบ
เหตุใดรัฐบาลจีนจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการลงทุนสาธารณะโดยตรงไม่ได้ - แม้เป็นสิ่งที่ระบอบเผด็จการควรจะเป็นเลิศ
ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวในฟอร์บส์ ว่า "จีนคงได้พยายามอยู่ เซมิคอนดักเตอร์เป็นจุดสนใจที่ชัดเจนของนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนมานานหลายทศวรรษ มีการประกาศความคิดริเริ่มใหม่ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความองอาจที่ยิ่งใหญ่แบบโซเวียต เช่น ในปี 2014 ปักกิ่งได้ตั้ง “เป้าหมายในการจัดตั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำระดับโลกในทุกด้านของห่วงโซ่อุปทานวงจรรวมภายในปี 2030”
“ประวัติศาสตร์การผลิตชิปของจีนซึ่งเริ่มต้นตั้งท้องขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว แต่เหมือนจะแท้ง และแม้ว่าการริเริ่มของรัฐบาลจะช่วยสร้างบริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง แต่จีนไม่ได้ผลิตผู้ผลิตชิปในระดับที่เอาชนะคู่แข่งรายใหญ่นอกพรมแดนได้สักราย … จีนล้มเหลวในการก้าวนี้”
“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มุ่งเน้นตลาดเป็นอย่างมาก ไม่เหมือนการเปิดสถานีอวกาศ ในอุตสาหกรรมชิป มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณา ตั้งแต่ต้นทุนไปจนถึงประสิทธิภาพ ปัจจัยเหล่านี้ยากต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล”
"การรุกราน" ทางเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มแรงกดดันใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ปิดท่อส่งไอซีอย่างช้า ๆ นโยบายของสหรัฐฯ ที่ต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม การขโมยเทคโนโลยี ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ และความซับซ้อนจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งทางการฑูต ตัวอย่างเช่น Huawei ซึ่งเป็นแชมป์ของจีนในภาคโทรคมนาคม ถูกกฎระเบียบใหม่ฯ กีดกันจากการปฏิเสธการเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกา และทำให้ปีที่แล้ว ผู้นำจีนประกาศแผนการที่จะครองอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกภายในปี 2025 เพื่อตอบสนองต่อข้อจำกัดการกีดกันของสหรัฐฯ
ปัจจุบันจีนพบว่าตนเองอยู่ในจุดอ่อนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเฉียบพลัน ซึ่งไม่สามารถรองรับความทะเยอทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนได้ นี่ก็เช่นเดียวกับญี่ปุ่นในปี 1941
ฉากสงครามที่อาจเป็นไปได้
แนวทางที่เป็นไปได้สู่ความขัดแย้งนั้นตรงไปตรงมา สามารถอธิบายได้อย่างเป็นนามธรรม:
เศรษฐกิจของประเทศ A ขึ้นอยู่กับ X อย่างมาก
ประเทศ B ควบคุมอุปทานของ X
ประเทศ A พยายามแต่ไม่สามารถพัฒนาอุปทานอิสระของ X
ประเทศ B ห้ามส่งสินค้า X ไปยังประเทศ A
ประเทศ C ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศ A เป็นแหล่งที่ดีของ X
ประเทศ A บุกประเทศ C
ประเทศ B เข้ามาปกป้องประเทศ C และพบว่าตัวเองกำลังทำสงครามกับ ประเทศ A
ฉากทัศน์เหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกันระหว่างสถานการณ์ของญี่ปุ่นในปี 1941 กับสถานการณ์ของจีนในปัจจุบันนั้นน่าทึ่ง
ปักหมุดที่ไต้หวัน
ในที่สุดหลังจาก 70 ปี ที่ต้องรวมชาติให้สำเร็จ แต่จนถึงขณะนี้ เห็นได้ชัดว่าเหตุผลเหล่านั้นไม่เพียงพอที่จะเสี่ยงต่อความเป็นไปได้ที่จะมีความขัดแย้งอย่างเปิดเผยกับสหรัฐฯ
แต่วิกฤตเซมิคอนดักเตอร์อาจเป็นปัจจัยฯ ปักกิ่งอาจมาดูว่ายิงปืนนัดเดียวได้ทั้งไต้หวันกลับคืนสู่จีน และแก้ไขจุดอ่อนเชิงกลยุทธ์ที่เลวร้ายลงได้อย่างไรในคราวเดียว
อันที่จริง เมื่อพิจารณาถึงสถานะคอขวดที่เด่นชัดของ TSMC ในระบบนิเวศระดับโลกของเซมิคอนดักเตอร์ การเทคโอเวอร์ของไต้หวันอาจพลิกโฉมฝั่งตะวันตก และเพิ่มตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของจีนนอกเหนือจากการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปทาน
สื่อมักใช้คำอธิบายเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยอุปมาทางทหาร เช่น "สงครามการค้า" "นักรบหมาป่า" "ภัยคุกคาม" "การแข่งขันทางอาวุธ" ทางเทคโนโลยี ฯลฯ แต่จะกลายเป็นความขัดแย้งทางทหารหรือไม่
เพราะด้านหนึ่งของยุคนี้ โลกต่างได้รับผลกระทบ "โลกาภิวัตน์" และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ - "ผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกัน"
อย่างไรก็ตาม มีประวัติที่ต้องพิจารณาในรูปแบบของวิทยานิพนธ์ของแองเจล Norman Angell (1872-1967) เป็น "ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของอังกฤษ เป็นวิทยากร นักข่าว นักเขียน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ผู้เขียน The Great Illusion
แองเจลล์ พูดถึง 'ต้นทุนของสงครามทางเศรษฐกิจนั้นสูงมากจนไม่มีใครสามารถหวังได้จากการเริ่มก่อสงคราม ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นหายนะ' สงครามเป็นไปอย่างไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม…การพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอุตสาหกรรม จะเป็น 'ผู้ค้ำประกันที่แท้จริงของความประพฤติที่ดีของรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง'”
อุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์ปี 1914 หรือในปี 1941 ควรจะเป็นสิ่งเตือนใจของคนในปี 2021