xs
xsm
sm
md
lg

จีนลงดาบ...ห้ามโรงเรียนกวดวิชาเอกชนเปิดบริการติววิชาทางออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระดานไวท์บอร์ดในสำนักงานที่ว่างเปล่าของโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ภาพวันที่ 23 ส.ค.2021 (ภาพรอยเตอร์ส)
กระทรวงศึกษาจีนแถลง(8 ก.ย.) ห้ามโรงเรียนกวดวิชาเอกชนหรือครูสอนพิเศษทางออนไลน์ รวมทั้งกวดวิชาในสถานที่ที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเช่นตามอาคารที่พักอาศัย โรงแรม หรือคอฟฟี่ช็อป

สืบเนื่องจากสภาพการแข่งขันอย่างรุนแรงในระบบการศึกษาระดับสูงในประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ทุ่มไม่อั้นเพื่อดันให้ลูกสอบเข้าเรียนสถาบันการศึกษาชั้นนำ ทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาบูมระเบิด อีกทั้งทำกำไรมหาศาล จนไม่กี่ปีรัฐบาลจีนได้เข้ามาจัดระเบียบและปราบปรามธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา โดยจากปี 2018 มีประกาศห้ามโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีใบอนุญาต อีกทั้งระดมเจ้าหน้าที่ออกตรวจตามโรงเรียนกวดวิชาอย่างเข้มงวด แต่จำนวนโรงเรียนกวดวิชากลับมีแต่เพิ่มขึ้นๆ จนในปี 2020 ข้อมูลสถิติแหล่งหนึ่งระบุว่าโรงเรียนกวดวิชาในจีนเพิ่มขึ้นถึงสี่แสนแห่ง

ขณะเดียวกันครอบครัวจีนที่มีฐานะทุ่มเงินทองไม่อั้นไปกับการเรียนพิเศษของลูก “หลายครอบครัวจ่ายเงินค่ากวดวิชาลูกเดือนละหลายพันหยวนไปถึงหลายหมื่นหยวน ซึ่งรวมแล้วปีหนึ่งๆพ่อแม่ที่ฐานะดีจ่ายเงินนับแสนหรือมากกว่าสำหรับการกวดวิชาของลูก” บล็อกเกอร์จีนที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายกวดวิชาลูกของพ่อแม่จีนยุคปัจจุบัน เผย

ในปีนี้จีนบุกตะลุยลงดาบปราบปรามกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ โดยมีจุดประสงค์ลดความกดดันของเด็กนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะในตอนนี้จีนต้องการลดค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกระตุ้นอัตราการเกิดในสถานการณ์ที่จีนกำลังเข้าสู่สังคมคนแก่และอัตราการเกิดต่ำ การปราบปรามโรงเรียนกวดวิชายังเป็นหนึ่งในมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ผู้นำจีนกำลังชูธงเป็นภารกิจหมายเลขหนึ่ง

สื่อจีนรายงานในสัปดาห์นี้ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและติวเตอร์ได้คิดวิธีการสารพัดที่จะแหกกฏระเบียบข้อบังคับทางการ โรงเรียนกวดวิชาบางรายโฆษณาบริการจัดครูสอนพิเศษในบ้านซึ่งทำรายได้สูงถึง 30,000 หยวนต่อเดือน

กระทรวงศึกษาธิการแห่งจีนเผยในระหว่างแถลงกฎใหม่ห้ามโรงเรียนกวดวิชาเอกชน ว่า“ในบางเขต มีการกวดวิชา “ใต้ดิน” หรือไม่ก็ใช้สารพัดวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงกฏ”

“สำหรับศูนย์การติววิชานอกสถาบันศึกษาเพื่อพัฒนาและส่งเสริมหลักสูตรของสถานศึกษาจะต้องได้รับอนุญาต”

“ความพยายามหลีกเลี่ยงกฎฯ อันได้แก่การว่าจ้างติวเตอร์เอกชนโดยใช้ “บริการทำความสะอาดบ้าน” “การสื่อสารทางวัฒนธรรม” หรือ “ครูสอนพิเศษในบ้าน” มาบังหน้าตบตาเจ้าหน้าที่ ตลแอดจนการเปิดชั้นเรียนในนามของ “ค่ายฤดูร้อน” หรือการเดินทางทัศนศึกษา”

นอกจากนี้ กระทรวงฯไม่อนุญาตสถาบันกวดวิชา “ออฟไลน์” เปิดการติววิชาออนไลน์ทั้งการติวผ่านข้อความสั้น วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น