xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “มาตรการชิงหล่าง” ที่กำลังส่งผลสะเทือนหน้าวงการบันเทิงจีนบนโลกออนไลน์เมื่อเร็ว ๆ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันในแง่ของวงการบันเทิงนั้น สิ่งที่ทางการจีนให้ความสนใจไม่ใช่เพียงแค่ตัวของเหล่าศิลปินคนดังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตัวของ “กลุ่มแฟนคลับ” ที่นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อหน้าวงการบันเทิงจีนเป็นอย่างมาก ยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่มักจะเกิดการรวมกลุ่มและสร้างวัฒนธรรมหมู่ ซึ่งบางครั้งอาจลุกลามเกินขอบเขตจนสร้างให้เกิดเป็นความโกลาหลวุ่นวายอยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยล่าสุดในปี 2021 นี้เองทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการดูแลพื้นที่ออนไลน์ของจีน เขาก็ได้มีการออกมาตรการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มแฟนคลับบนโลกออนไลน์ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยมาตรการที่ว่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “มาตรการชิงหล่าง”...



ภาพงานแถลงการณ์ประกาศใช้ มาตรการชิงหล่าง ประจำปี 2021 (แฟ้มภาพจาก china.com.cn)
หากใครที่ติดตามสถานการณ์บนโลกออนไลน์เกี่ยวกับหน้าวงการบันเทิงจีนในช่วงนี้ล่ะก็ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้ยินคำว่า “มาตรการชิงหล่าง” กันอยู่บ่อยครั้ง โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายบนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวโยงกับแวดวงบันเทิงจีนกันไปแบบรัว ๆ ทางการจีนก็เริ่มออกมาจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยการยึดโยงตามสิ่งที่เรียกว่า “มาตรการชิงหล่าง” ซึ่งมีการปรับระดับให้มีความเข้มงวดและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มส่งผลไปในทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่แพล์ตฟอร์มออนไลน์ รวมไปถึงเหล่าคนดังและทางค่ายต้นสังกัดหลายแห่งที่ได้แห่กันออกมาล่าลายเซ็นเพื่อประกาศตัวยอมรับต่อมาตรการดังกล่าวกันอย่างถ้วนหน้า



บรรดาค่ายต้นสังกัดหลายแห่งได้ออกมาล่าลายเซ็นคนดังในสังกัดเพื่อประทับลงบนหนังสือยอมรับและสนับสนุนต่อ มาตรการชิงหล่าง ที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น (แฟ้มภาพจาก เว่ยป๋อ)
พอมาถึงจุดนี้หลายคนน่าจะเริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่าแท้จริง “มาตรการชิงหล่าง” ที่ว่านี้คืออะไร และการเพิ่มระดับความเข้มงวดนั้นจะทำให้วัฒนธรรมบนหน้าวงการบันเทิงจีนออนไลน์จะเปลี่ยนไปขนาดไหน แน่นอนว่าวันนี้โต๊ะฯจีนจะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปหาคำตอบพร้อมกันด้านล่างนี้เลยจ้า


เดิมที “มาตรการชิงหล่าง” (“清朗-饭圈乱象整治”) นั้นเป็นมาตรการพิเศษของทาง “สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน” (Cyberspace Administration of China : CAC) ซึ่งมีการประกาศใช้เป็นเวลา 2 เดือนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์หลักก็เพื่อควบคุม จัดการพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของ “วงจรกลุ่มแฟนคลับ” (ในภาษาจีนใช้คำว่า “饭圈”) ที่สามารถก่อให้เกิดความวุ่นวายบนโลกออนไลน์และพลิกกลับมาเสริมสร้าง “วัฒนธรรมแฟนคลับออนไลน์” ที่มีคุณภาพ ซึ่ง “5 กลุ่มพฤติกรรมในแวดวงของกลุ่มแฟนคลับออนไลน์” ที่ทางการจีนเพ่งเล็งเป็นอย่างมากเลยก็คือ 

หนึ่ง: กลุ่มพฤติกรรมที่มีการชักจูงผู้เยาว์ให้ร่วมระดมทุน (โดเนท) บริโภคเกินตัว และเข้าร่วมการโหวตจัดอันดับ 
สอง: กลุ่มพฤติกรรมที่ใช้คำพูดในการคุกคามทางวาจา โจมตี สร้างข่าวลือ และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 
สาม: กลุ่มพฤติกรรมที่ชอบโอ้อวดความมั่งคั่ง ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากการติดตามศิลปิน 
สี่: กลุ่มพฤติกรรมที่มีก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณและปั่นกระแสความคิดเห็นบนหน้าแพล์ตฟอร์มต่าง ๆ 
และสุดท้ายคือห้า: กลุ่มพฤติกรรมที่มีการแทรกแซงความคิดประชาชนและส่งผลต่อระบบการสื่อสารที่มาในรูปแบบการสร้างหัวข้อสนทนาหรือการเผยแพร่ข่าวลือของผู้อื่น

ซึ่งเพื่อที่จะจัดการกับความวุ่นวายและพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่าง ๆ ของ “กลุ่มแฟนคลับออนไลน์” ตามที่เพ็งเล็งเอาไว้ ในข้อกำหนดของมาตรการนี้ ทางการจีนจึงยังได้มีการหว่านแหใช้ครอบไปถึงการกระตุ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ รวมไปถึงตัวของศิลปินคนดังให้มีการออกมาช่วยกันรับผิดชอบต่อการสังคมบนโลกออนไลน์และเสริมสร้างพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย


โดยตามประกาศที่ทางการจีนออกมาในช่วงเริ่มแรกเมื่อกลางเดือนมิ.ย. ตั้งแต่กำหนดเริ่มใช้ “มาตราการชิงหล่าง” นั้นระบุถึงสิ่งที่ทางการจีนจะดำเนินการจัดการในช่วงเวลานี้ไว้ว่า บัญชีและกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลในทางไม่ดี เช่น การชักชวนให้ระดมทุน การเผยแพร่ข่าวลือ และการละเมิดความเป็นส่วนตัว จะถูกปิดและถูกยุบ ส่วนบัญชีที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือทำผิดกฎหมาย อาทิเช่น กลุ่มแอนตี้แฟน กลุ่มที่เน้นทำการตลาดที่มีเจตนามุ่งร้าย และกลุ่มนักเขียนออนไลน์ที่ถูกว่าจ้างให้เผยแพร่ข้อมูลเฉพาะจะถูกจัดการอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันก็จะมีการลงโทษแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์ที่ปล่อยให้เกิดการกระทำผิดโดยไม่ห้ามปราม อีกทั้งยังปล่อยให้เกิดซ้ำอยู่หลายต่อหลายครั้งด้วยเช่นกัน


หลังจากที่ “มาตรการชิงหล่าง” ได้ถูกประกาศใช้ไปกว่า 2 เดือน ท่ามกลางประเด็นร้อนของศิลปินคนดังหลายคน อาทิเช่น กรณีของคดีความข่มขืนของ ‘คริส วู’ (吴亦凡) และกรณีการถูกขุดรูปเที่ยวศาลเจ้ายาสุคุนิของ ‘จางเจ๋อฮั่น’ (张哲瀚) ซึ่งต่อมาลุกลามจนกลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายบนโลกโซเชียลของจีนอย่างต่อเนื่อง ประจวบเหมาะกับการสั่งสมจากพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของ “กลุ่มแฟนคลับออนไลน์” ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว เช่น กรณีข่าวฉาวจากการทุ่มโหวตในรายการประกวดไอดอล ส่งผลให้เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางการจีนจึงได้เสนอข้อกำหนดในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม 10 ประการ โดยมีการกำหนดเพิ่มความเข้มงวดและชัดเจนในการควบคุม "กลุ่มแฟนคลับออนไลน์" รวมไปถึงกระตุ้นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เข้ามาช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ดังนี้

1. ยกเลิกชาร์ตการจัดอันดับความนิยมของเหล่าศิลปินดารา
2. ปรับปรุงชาร์ตการจัดอันดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการเน้นไปที่จากจัดอันดับผลงานที่เสริมสร้างความเป็นมืออาชีพ เช่น เพลง ซีรีส์ และภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการชี้แนะเหล่าแฟนคลับให้หันกลับมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลงานและลดความกระตือรือร้นในการไล่ตามตัวศิลปินดาราลง
3. ควบคุมต้นสังกัดของเหล่าศิลปินดารารวมถึงสตูดิโอส่วนตัวอย่างเข้มงวด เน้นให้มีการกำหนดการดำเนินงานบนหน้าออนไลน์ที่เกี่ยวข้องและร่วมรับผิดชอบในการเป็นแนวทางให้กับกลุ่มแฟนคลับ หากทางตัวศิลปินดารา สตูดิโอ หรือกลุ่มบ้านแฟนคลับใดมีส่วนก่อให้เกิดสงครามของเหล่าแฟนคลับบนโลกออนไลน์ จะต้องถูกลงโทษด้วยการแบน ปิดบัญชี รวมไปถึงยกเลิกการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ของคนดังที่เกี่ยวข้องด้วย
4. สร้างมาตรฐานให้กับบัญชีของกลุ่มแฟนคลับ โดยบรรดาบ้านเบส บ้านแฟนไซต์ (กลุ่มแฟนคลับที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนศิลปิน) จะต้องได้รับการอนุญาตหรือรับรองจากทางสตูดิโอของศิลปินดาราก่อน
5. ห้ามสร้างความขัดแย้ง แพล์ตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์ต่าง ๆ ต้องออกมาทำหน้าที่ค้นหาและจัดการทำความสะอาดทันทีเมื่อเกิดการเปิดศึกปะทะกันเหล่าแฟนคลับ หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตรายและผิดกฎหมาย หากแพล์ตฟอร์มออนไลน์หรือเว็บไซต์ใดจัดการได้ไม่ดีจะต้องเจอกับบทลงโทษที่รุนแรง
6. จัดการล้างบางกลุ่มที่ละเมิดกฎ เช่น กลุ่มที่มีการระดมทุน ควบคุมการวิจารณ์ นินทา และสร้างข่าวลือ รวมไปถึงปิดพื้นที่และช่องทางที่จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อโหวต พูดคุยเรื่องอื้อฉาวของศิลปินดารา และการปั่นยอดดาต้าต่าง ๆ
7. ห้ามชักชวนให้ “กลุ่มแฟนคลับ” มีการบริโภคเกินควรจากการตามซื้อผลงานหรือผลิตภัณฑ์ของคนดัง โดยควรที่จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ละเอียด เช่น ในลิงค์การขายห้ามมีการแสดงข้อมูลการซื้อของแฟนคลับ ห้ามจัดอันดับจำนวนสินค้าที่แฟนคลับซื้อ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงห้ามให้มีการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่กระตุ้นการบริโภคของเหล่าแฟนคลับด้วย
8. จัดการรูปแบบของรายการวาไรตี้ออนไลน์ใหม่ โดยห้ามให้มีการ “ใช้เงินเพื่อโหวต” รวมไปถึงไม่สนับสนุนให้แฟนคลับมีการซื้อของหรือสมัครเป็นสมาชิกเพื่อทุ่มลงคะแนนเสียงให้กับผู้เข้าแข่งขันในรายการโดยเด็ดขาด
9. ควบคุมการมีส่วนร่วมในกลุ่มแฟนคลับของผู้เยาว์อย่างเคร่งครัด ดำเนินมาตรการที่ห้ามไม่ให้ตัวของผู้เยาว์นั้นบริโภคเกินควร หรือทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดการหลักของกลุ่มแฟนคลับโดยเด็ดขาด
10. ตรวจสอบและจัดการพฤติกรรมการระดมทุนที่ผิดกฎหมายทุกประเภท โดยจะมีการจัดการและลงโทษแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์ที่ก่อให้เกิดปัญหาและรับผิดชอบต่อสังคมได้ไม่ดี มีการชักจูงผู้เยาว์ให้มีส่วนร่วมในการระดมทุนต่าง ๆ (เช่น การโดเนทในกรณีต่าง ๆ)

ภาพของ คริส วู และ จางเจ๋อฮั่น สองคนดังของวงการบันเทิงจีนที่กลายเป็นประเด็นร้อนสนั่นโลกโซเชียลเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา

กลุ่มแฟนคลับของรายการ Youth with You ในเครือ iQIYI ได้ซื้อนม (สปอนเซอร์ของรายการ) จำนวนมากมาเททิ้ง เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการโหวตให้กับศิลปินที่ชื่นชอบ โดยพฤติกรรมดังกล่าวก็ถูกทางการจีนเพ่งเล็งเป็นอย่างมาก (แฟ้มภาพจาก ไป่ตู้)

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา มาตรการชิงหล่าง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมและจัดการพฤติกรรมของ กลุ่มแฟนคลับบนโลกออนไลน์ ได้มีการเพิ่มความเข้มงวดและเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่านการกำหนดข้อบังคับเพิ่มเติม 10 ประการ ซึ่งยังครอบคลุมไปถึงการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (แพล์ตฟอร์มออนไลน์, ศิลปินดารา, ต้นสังกัดบริษัทนายหน้า) ได้ออกมามีส่วนช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมบนโลกออนไลน์มากขึ้นด้วย (แฟ้มภาพจาก ไป่ตู้)

ข้อบังคับเพิ่มเติม 10 ประการเกี่ยวกับการจัดการความวุ่นวายของ กลุ่มแฟนคลับออนไลน์ ตามกำหนด มาตรการชิงหล่าง ที่ทางการจีนประกาศออกมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา (แฟ้มภาพจาก เว่ยป๋อ)
เมื่อทางการจีนออกมาประกาศข้อกำหนดเพิ่มเติม 10 ประการที่ยึดโยงกับหลักเดิมของ “มาตรการชิงหล่าง” ไปได้ไม่นาน ทางด้านแพล์ตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของจีนอย่าง “เว่ยป๋อ” (Weibo) ซึ่งได้เคยออกมาตอบรับต่อมาตรการดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็ได้มีการออกมาอัพเดทถึงสิ่งที่ทางเว่ยป๋อในฐานะแพล์ตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมได้ดำเนินการจัดการไปแล้ว ตามข้อกำหนดเพิ่มเติม 10 ประการของ “มาตรการชิงหล่าง” ที่เพิ่งประกาศออกมา โดยรวม ๆ แล้วสามารถสรุปใจความได้ว่า...

ทางเว่ยป๋อนั้นได้มีการเอา Star Power List รวมไปถึงตารางการจัดอันดับศิลปินดารา คู่CP คะแนนเพลงออกจากหน้าแพล์ตฟอร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นยังมีการห้ามไม่ให้เกิดการระดมทุน (โดเนท) จากพื้นที่ Super Topic โดยเด็ดขาด ส่วนทางด้านต้นสังกัดและสตูดิโอส่วนตัวของศิลปินดารา ทางเว่ยป๋อก็ได้เชิญชวนให้ร่วมกันออกมาสร้างนโยบายและกฎการตักเตือน รวมไปถึงได้มีการจัดตั้งและปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลระยะยาวสำหรับความวุ่นวายใน “กลุ่มแฟนคลับออนไลน์” ด้วยการเปิดตัวแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าตัวศิลปินดาราและบริษัทนายหน้าต่างต้องแบกรับความรับผิดชอบในการให้คำแนะนำเชิงบวกแก่ “กลุ่มแฟนคลับของตัวเอง โดยในวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมาก็ได้มีตัวอย่างจากการลงโทษสตูดิโอส่วนตัวของดาราดังไปแล้วในฐานที่ไม่เข้าตักเตือนห้ามปรามพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของกลุ่มแฟนคลับบนโลกออนไลน์ (กรณีระงับการใช้งานบัญชีสตูดิโอของ ‘จ้าวลี่อิ่ง’ จากเหตุแฟนคลับตีกันสนั่นโซเชียล คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม)

ซึ่งนอกเหนือจากที่กล่าวไป ทางเว่ยป๋อเองก็ยังคงกำลังดำเนินงานจัดการในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย อาทิเช่น กำหนดให้บัญชีผู้ใช้งานของกลุ่มแฟนคลับที่อยากสนับสนุนศิลปินดาราต่อนั้นต้องได้รับการรับรองจากศิลปินหรือบริษัทต้นสังกัดภายใน 2 สัปดาห์ (หากไม่ถูกรับรองจะต้องโดนแบน) กำลังมีการออกกฎในการจัดการกับบัญชีที่ปล่อยข่าวบันเทิงโดยเฉพาะในกลุ่มที่สร้างข่าวลือ ส่งเสริมการคว่ำบาตร นินทา และใช้เพื่อการด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย รวมไปถึงกำลังเร่งให้มีการออกข้อบังคับสำหรับจัดการกับบัญชีผู้ใช้งานที่คอยสร้างกระแสโจมตี เปิดศึกด้วยถ้อยคำหยาบคาย และมีการเผยแพร่ข้อมูลที่นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง

แอคเคาน์ทางการของเว่ยป๋อ (weibo) ซึ่งเป็นแพลต์ฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของจีนได้ออกมาโพสต์อัพเดทถึงสิ่งที่ระบบได้ลงมือจัดการไปแล้ว (รวมถึงกำลังดำเนินการ) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับเพิ่มเติมของ มาตรการชิงหล่าง ที่เพิ่งประกาศออกมา

กรณีของ จ้าวลี่อิ่ง ซึ่งสตูดิโอส่วนตัวของเธอถูกทางเว่ยป๋อระงับการใช้งาน 15 วัน จากโทษฐานที่ไม่เข้าห้ามปรามตักเตือนกลุ่มแฟนคลับของตนที่เปิดศึกสร้างความวุ่นวายบนโลกโซเชียล
เรียกได้ว่าจากทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับ “มาตรการชิงหล่าง” ที่เริ่มทวีความเข้มงวดมากขึ้นทุกขณะต่างก็แสดงให้เห็นว่าทางการจีนกำลังจะเข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยหากใครที่คุ้นเคยกับการติดตามวงการบันเทิงจีนมาโดยตลอดล่ะก็ คงจะต้องพอมองออกแน่นอนว่าจากการเริ่มลงดาบล้างบางครั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้นี้วงการบันเทิงจีนโดยเฉพาะบนหน้าออนไลน์ที่ต่างก็ยึดโยงไปกับวัฒนธรรมหมู่ของ “กลุ่มแฟนคลับออนไลน์” อาจถึงคราวที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างไรนั้น งานนี้ก็คงจะต้องได้แต่รอติดตามกันต่อไปจริง ๆ จ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น