กลุ่มสื่อจีน รายงาน (25 ส.ค.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งสำนักงานพลังงานปรมาณูจีน (CAEA) วิจัยการใช้รังสีนิวเคลียร์ทำลายความสามารถในการสืบพันธุ์ของยุงตัวผู้ ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เพิ่มเติม
นายอู๋ จงต่าว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการใช้นิวเคลียร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพ ปราศจากมลภาวะทางเคมีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่น ๆ และไม่ก่อให้เกิดการดื้อยาในยุง
CAEA ดำเนินการวิจัยดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นเมื่อปี 2563 และได้รับการยกย่องจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
องค์การอนามัยโลกประเมินว่า โรคที่มียุงเป็นพาหะคร่าชีวิตผู้คนกว่าปีละ 700,000 คน
เมื่อปี 2563 นายจาง ตงจิง หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยได้เดินทางไปยังประเทศแอฟริกาใต้ และได้ใช้แนะนำวิธีเพาะยุงปลอดเชื้อให้แก่ศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติแอฟริกาใต้ ซึ่งช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคมาลาเรียที่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้
ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นยังได้ตั้ง "โรงงานยุง" เพื่อผลิตยุงปลอดเชื้อจำนวนมาก ด้วยผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับจากยุงปลอดเชื้อ 40 ถึง 50 ล้านตัวต่อสัปดาห์
ที่ผ่านมา จีนสามารถมีส่วนร่วมมากขึ้นในการควบคุมโรคที่มียุงเป็นพาหะในประเทศกำลังพัฒนา และแก้ปัญหาความท้าทายด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฯ ยังวางแผนที่จะจัดตั้งสถานที่สาธิตการป้องกันยุง 4 แห่งในบริเวณอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า รวมทั้งจัดตั้งฐานฝึกอบรมในต่างประเทศ