สืบเนื่องจากเหตุตึกระฟ้า73 ชั้น SEG Plaza ใจกลางเมืองเซินเจิ้น สั่นไหวเมื่อสองเดือนที่แล้วจนผู้คนนับพันแตกตื่นวิ่งหนีจ้าละหวั่น ในวันนี้(15 ก.ค.) ทีมผู้เชี่ยวชาญได้แถลงผลการตรวจสอบผ่านบัญชีวีแชทของทีมฯ ระบุว่าสาเหตุตึกสั่นไหวเกิดจากลมที่มาปะทะเสากระโดงยาวสองอันของบนหลังคาตึก
จากรายงานข่าวของกลุ่มสื่อจีน/เทศระบุว่า หลังการตรวจสอบและทดลองหลายครั้งระหว่างสองเดือนมานี้ผู้เชี่ยวชาญตัดสาเหตุจากปัจจัยการเดินรถของรถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่ใต้ตึก การสั่นไหวของเครื่องปรับอากาศ และโครงการก่อสร้างรอบบริเวณ
ทีมผู้เชี่ยวชาญสรุปสาเหตุที่ทำให้อาคาร SEG Plaza สั่นไหวมาจากปัจจัยผสมผสาน ได้แก่ การไหลของลมที่มาปะทะเสากระโดงบนหลังคาตึก (wind-induced vortex-induced resonance)* และการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางพลศาสตร์ (Dynamic Characteristics) ของอาคาร นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าตัวตึกเกิดความ ‘เสียหายสั่งสม’ ระหว่าง 20 กว่าปี โดยเฉพาะส่วนของชั้นต่างๆที่เชื่อมกับเสากระโดงบนดาดฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญระบุการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพคือเปลี่ยนเสากระโดง หลังจากนั้นค่อยมาติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าและเครื่องช่วยการเดินทาง (navigation mark) ซึ่งเป็นฟังก์ชันดั้งเดิมของเสากระโดง ตลอดจนซ่อมแซมส่วนต่างๆที่เสียหาย
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโครงสร้างหลักของ SEG Plaza มีความปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขช่วงโหลดการออกแบบ (design load range), การใช้งานปกติ และใช้งานตึกต่อไปได้
สำหรับช่วงรื้อถอนเสากระโดงซึ่งต้องใช้เวลาเดือนกว่า จะปิดอาคารและถนนรอบๆบริเวณ รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดพื้นที่พาณิชย์ให้แก่ผู้เช่าพื้นที่บนตึกระหว่างปิดตึก และจะจัดให้ผู้เช่ากลับมาเปิดกิจการที่เดิมเมื่อปัญหาทุกอย่างได้รับแก้ไขเรียบร้อยดีแล้ว
หลังจากที่รื้อถอนเสากระโดงแล้ว ความสูงของตึก SEG Plaza ซึ่งเป็นมีความสูงเป็นอันดับที่ 5 ในเมืองเซินเจิ้น จะลดลงมาที่ 292 เมตร และจะหลุดจากแท่น “สิบอันดับตึกสูงของเมืองเซินเจิ้น”
ทั้งนี้ SEG Plaza เป็นอาคาร 73 ชั้น มีความสูง 355 เมตร เป็นแหล่งค้าอิเลคทรอนิกส์ใจกลางเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง เกิดเหตุสั่นไหวเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา จนผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีจ้าละหวั่น จากนั้นทางการได้ปิดตึกเพื่อตรวจสอบสาเหตุการสั่นไหวที่ชัดเจน
ทางการเซินเจิ้นได้จัดตั้งทีมตรวจสอบสาเหตุการสั่นไหวของตึก SEG Plaza ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาย ทั้งจากสถาบันศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ การสำรวจและการออกแบบซึ่งรับผิดชอบการควบคุมเชิงเทคนิกโดยรวมทั้งหมด โดยเชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์และการจัดการทางวิศวกรรม การควบคุมการสั่นไหว โครงสร้างองค์ประกอบ วิศวกรรมแรงลม วิศวกรรมธรณีเทคนิค
*ปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบหนึ่งที่ทำให้การสั่นไหวของโครงสร้าง เรียกว่าVortex Induced Vibration (ชื่อย่อVIV)เกิดเมื่อของไหล เช่น ลม หรือน้ำ ไม่ไหลไปตามผิว ทำให้เกิดความปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลงแรงดันจนเกิดความไม่สมดุล ทำให้เกิดการสั่นไหวของโครงสร้าง