ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
ในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยิ่งใหญ่ที่เพิ่งผ่านไป สุภาพสตรีท่านหนึ่งได้ขึ้นรับรางวัลเกียรติยศ เรื่องราวของเธอเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วประเทศ คนทั้งจีนประเทศให้การยกย่องและให้เกียรติกับเธออย่างสูงสุด เธอผู้นั้นคือ อาจารย์จางกุ้ยเหมย ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีโรงเรียนมัธยมปลายหญิงล้วนลี่เจียงหัวผิง
โรงเรียนมัธยมปลายหญิงล้วนลี่เจียงหัวผิง แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในเขตมณฑลยูนนาน เป็นโรงเรียนที่มอบโอกาสการศึกษาฟรีให้กับเด็กผู้หญิงในครอบครัวยากจน ครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาห่างไกลทุรกันดาร เส้นทางที่อาจารย์จางกุ้ยเหมยเดินไม่ใช่คนทั่วไปจะเดินได้ เป็นทางเดินที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เป็นทางเดินที่มีอุปสรรคมากมาย แต่เพราะปฎิญาณที่แน่วแน่ ความเสียสละ ความเชื่อและความศรัทธาที่มี ทำให้ ณ ปัจจุบันแล้วโรงเรียนมัธยมหญิงล้วนลี่เจียงหัวผิง ได้บ่มเพาะนักเรียนสตรีคุณภาพที่จบระดับมัธยมปลายทั้งหมดไปแล้ว 9 รุ่น และมีนักเรียนจำนวนมากสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังของมณฑลต่าง ๆ ได้
เรื่องราวของอาจารย์จางกุ้ยเหมยเป็นที่ปลื้มปิติและตื้นตันของคนจีนทั้งประเทศ
ในปีนี้อาจารย์จางได้รับการยกย่องเป็นบุคคลตัวอย่างของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน สำหรับเหรียญตราเกียรติยศ ที่อาจารย์จางได้รับจากรัฐบาล ถูกมอบให้โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ถือเป็นความภูมิใจและเกียรติที่ใหญ่ของอาจารย์จาง ผู้เสียสละเพื่อสังคมโดยตลอดมา
หลังจากงานเฉลิมฉลองผ่านไปอาจารย์จางกุ้ยเหมยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ พร้อมกันว่า “รางวัลที่ได้รับนี้ ฉันเหมือนเป็นตัวแทนของทุกคน หากไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ คณาจารย์ที่เสียสละก็ไม่มีทางที่จะมีวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นรางวัลนี้เป็นของทุกคนและที่ผ่านมาพวกเรายังทำได้ไม่ดีพอ ไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ อยากให้คนรุ่นหลังทำต่อและทำให้สมบูรณ์” สิ่งที่อาจารย์จางกุ้ยเหมยพูดเป็นสิ่งที่มาจากใจ อาจารย์จางเป็นสมาชิกพรรคฯ ที่เป็นตัวอย่างและปฎิบัติตนตามสัจจะของสมาชิกฯ เมื่อปฎิญาณสาบานตน
อาจารย์จาง ผู้เปรียบเสมือนไฟสว่างนำทางของเด็กผู้หญิงในครอบครัวยากจนที่ขาดโอกาส ช่วยให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสได้รับการศึกษาและมีโอกาสสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ภาษาจีนมีคำกล่าวที่ว่า “教育改变命运” (อ่านว่า เจี้ยวยู้ก่ายเปลี้ยนมิ่งยุ่น) ซึ่งเแปลว่า "การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตได้" เป็นสิ่งที่อาจารย์จางยืนหยัดที่จะไปรับเด็กหญิงตามหุบเขาให้เข้ามาเรียนหนังสือในโรงเรียนสตรีสวัสดิการนี้
โดยที่ผ่านมามีหลายครอบครัวยากจน ไม่อยากปล่อยให้ลูกสาวเข้าเรียนหนังสือ เด็กหญิงหลายคนอายุ 10 กว่าขวบเท่านั้นก็ถูกที่บ้านจับคลุมถุงชนแต่งงานออกไป เพราะการเอาลูกสาวแต่งออกครอบครัวก็จะได้รับเงินสินสอดมาส่วนหนึ่ง
อาจารย์จางกุ้ยเหมยเห็นว่า การก่อตั้งโรงเรียนสตรีให้กับเด็กที่ขาดโอกาสเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะแนวคิดของคนในชนบทยังให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว มีคนเคยถามอาจารย์จางว่าการจัดตั้งโรงเรียนสตรี จะเป็นการปิดโอกาสเด็กชายที่มาจากครอบครัวยากจนหรือปล่าว อาจารย์จางเล่าว่า “เคยมีครอบครัวหนึ่งมีลูกสองคน ลูกสาวคือลูกคนโต ลูกชายคือลูกคนเล็ก ครอบครัวกลับเอาเงินทั้งหมดให้ลูกชายคนเล็กเพื่อเรียนหนังสือ และบอกว่าพี่สาวควรแต่งงานออกได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือ ทั้ง ๆ ที่อายุของพี่สาวควรที่จะเรียนอยู่ระดับมัธยมปลายและเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว”
เรื่องราวนี้ทำให้อาจารย์จางรู้สึกโกรธและไม่สบายใจ เพราะสังคมจีนชนบทยังมีความคิดที่ชอบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ทำให้เด็กผู้หญิงยิ่งขาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต และเพราะเขตพื้นที่ที่อาจารย์จางกุ้ยเหมยอยู่ ยังทุรกันดาร อาจารย์จางมีความคิดที่จะจัดตั้งโรงเรียนสตรี เรียนฟรีตั้งแต่ปี 2002
เงินที่อาจารย์จางมีอยู่ก็ไม่มากอีกทั้งในช่วงเริ่มต้นรัฐบาลท้องถิ่นก็มีความสามารถอยู่จำกัด ในการสร้างโรงเรียนต้องการงบประมาณจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจารย์จางในขณะนั้น หากไม่รับเงินบริจาคก็ไม่สามารถจะพยุงอยู่ได้ ที่ผ่านมาอาจารย์จางได้เอาเงินส่วนตัวของตนเองทั้งหมดใช้ไปกับการช่วยเหลือเด็กหญิงด้อยโอกาส
ในช่วงนั้นอาจารย์จางจะใช้เวลาวันหยุดเดินไปขอเงินบริจาคกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะเอาเอกสารสำคัญส่วนตัวและจดหมายการจะก่อตั้งโรงเรียนไป เดินขอรับบริจาคมา แต่ตลอด 5 ปีกลับรวบรวมได้เพียง 10,000 หยวนเท่านั้น ในช่วงที่อาจารย์จางท้อแท้และวางมือ เรื่องราวของอาจารย์ก็ไปถึงรัฐบาลกลางและต่อมาก็เริ่มได้รับการสนับสนุน มีงบประมาณลงมาอย่างจริง ๆ จัง ๆ
ทุกช่วงปิดเทอมอาจารย์จางกุ้ยเหมยจะเดินทางเข้าไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านตามหุบเขาลำเนา เพื่อหาครอบครัวยากจนไม่สามารถส่งเสียลูกสาวให้เรียนได้ หรือไปหาครอบครัวที่ไม่ยอมให้ลูกสาวไปเข้าโรงเรียน สิ่งที่อาจารย์จางปฎิบัติคือชักชวน ให้ความรู้และให้ครอบครัวไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายระหว่างที่เรียนหนังสือ โรงเรียนมัธยมปลายหญิงล้วนลี่เจียงหัวผิงนี้เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนที่ได้เข้าไปเรียนจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณาจารย์และฝึกฝนวินัย กินนอนเป็นเวลาและต้องร่ำเรียนกันอย่างหนัก
เหตุที่อาจารย์จางตั้งกฎเหล็กนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการให้เด็กหญิงที่จบออกไปสามารถเผชิญกับโลกภายนอกที่แข่งขันรุนแรงได้ อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น เด็กในชนบทที่ไม่ได้รับโอกาสมากนั้น ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่อ่อนกว่า หากไม่ปูพื้นให้แข็งแรงก็ยากที่จะเรียนรู้ได้ทันและยากมากที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ของประเทศได้
โรงเรียนสตรีมัธยมปลายลี่เจียงหัวผิงเป็นโรงเรียนแรกและโรงเรียนเดียวของจีนที่ฟรีทุกอย่าง หลังจากการก่อตั้งโรงเรียนมา 12 ปีบ่มเพาะนักเรียนหญิงทั้งหมดเกือบ 2,000 คนแล้ว และจากคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนที่เรียนจบและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในแต่ละปี (หลัง 2016 เป็นต้นมา) นักเรียนจากโรงเรียนสตรีลี่เจียงหัวผิง สอบได้คะแนนสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ถูกจัดในอันดับที่หนึ่งของเมืองลี่เจียงหัวผิง แสดงให้เห็นถึงความพยายามของอาจารย์จางและคณะที่พัฒนามาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้นเสมอมา
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาเรื่องราวของอาจารย์จางกุ้ยเหมย ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ ผู้เขียนเองได้ดูบทสัมภาษณ์ของอาจารย์จางกุ้ยเหมยอยู่หลายคลิป ก็อดที่จะหลั่งน้ำตาไม่ได้กับความบากบั่นและความยากลำบาก ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคของอาจาร์จางไม่ได้ อาจารย์จางกุ้ยเหมยบอกหลายครั้งว่า “งานนี้ได้เอาชีวิตเข้าแลก” ปัจจุบันถึงแม้ว่าร่างกายจะร่วงโรยไปตามอายุ กับโรคต่าง ๆ ที่รุมเร้า โรคข้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรงกลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต มือที่ถูกพันเต็มไปด้วยเทปยา แต่กระนั้นอาจารย์จางก็ยังคงอยู่ที่โรงเรียนคอยดูแลเด็ก ๆ เสมอ เหมือนแม่แท้ ๆ ของเด็กทุกคน เด็กในโรงเรียนต่างเรียกอาจารย์จางกุ้ยเหมยว่า คุณแม่จาง “ความสำเร็จของบางคนที่เราเห็น มักจะมาจากความมุ่งมั่น มุมานะที่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไปจะรับและทำได้”