MGR Online - ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหน่วยงานจีนเพ่งเล็งปราบกลุ่มเทคโนโลยีนับเป็นข่าวน่าจับตามองยิ่ง เมื่อมีคำสั่งถอดตีตี้ชูสิง แอปฯ บริการเรียกรถแท๊กซี่ ออกจากแอปสโตร์ โทษฐานเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่นของปักกิ่ง โดยมุ่งเน้นที่พฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและความมั่นคงด้านข้อมูล
รายงานข่าวกล่าวว่า หลังจากตีตี้ ยักษ์ใหญ่บริการเรียกรถแท็กซี่ในเมืองจีน ประสบความสำเร็จล้นหลามในการทำไอพีโอที่นิวยอร์กสัปดาห์ที่แล้ว ระดมเงินทุนได้มากกว่า 4,400 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน (ซีเอซี) ได้ออกคำสั่งเมื่อวันอาทิตย์ (4 ก.ค.) ถอดแอปออกจากแอปสโตร์
การสั่งถอดแอปเทคโนโลยีเบอร์ใหญ่อย่าง ตีตี้ฯ นี้ ปักกิ่งเคลื่อนไหวภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอของนิวยอร์ก ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า คือการขยายขอบเขตการปราบปรามกลุ่มเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าไปที่บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากขึ้น
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ก.ค.) สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (CAC) ยังได้ประกาศว่ากำลังสืบสวน "Boss Zhipin" บริษัทจัดหางานออนไลน์ และแอปพลิเคชันเรียกรถบรรทุกของจีน "Yunmanman" และ "Huochebang" ซึ่งควบรวมกิจการในปี 2560 เพื่อจัดตั้ง "Full Truck Alliance" แต่แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทะเบียนผู้ใช้ใหม่และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
การประกาศของ CAC อ้างถึงการละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีน โดยไม่ให้รายละเอียดอื่น ๆ
การปราบปรามด้านกฎระเบียบนี้ ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดเอเชียในวันจันทร์ต้นสัปดาห์ กลุ่มซอฟต์แบงค์ (SoftBank) ของญี่ปุ่นซึ่งมี Vision Fund เป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตีตี้ หุ้นตกลง 5.4% ในขณะที่กลุ่มอินเทอร์เน็ตอาลีบาบาและ เทนเซนต์ หุ้นตกลง 2.9% และ 3.7% ตามลำดับในฮ่องกง
ก่อนหน้านี้ ในวันศุกร์หุ้นของตีตี้ ร่วงลง 5.3% สองวันหลังจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยได้ระดมทุน 4.4 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นการจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดโดยบริษัทจีนในสหรัฐฯ นับตั้งแต่อาลีบาบาในปี 2557
ตีตี้ ทราบมาก่อนหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้?
แถลงการณ์ของตีตี้ชูสิง ระบุว่าไม่ทราบถึงแผนการก่อนการเสนอขายหุ้นไอพีโอ
“ก่อนการเสนอขายหุ้น บริษัทฯ ไม่ทราบเกี่ยวกับการตัดสินใจของ CAC ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และ 4 กรกฎาคม 2564 ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์และการระงับการลงทะเบียนผู้ใช้ใหม่ในจีน และการถอดแอป Didi Chuxing ออกจากแอปสโตร์ในจีน” แถลงการณ์ระบุ
การปราบปรามโดยหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีนเกี่ยวกับตีตี้ และหน่วยงานอื่น ๆ ถือเป็นการรุกครั้งใหม่ของรัฐบาลจีนต่อบริษัทเทคโนโลยีของประเทศ โดยอ้างถึงกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ไม่ได้มีใช้ก่อนหน้านี้ หน่วยงานเฝ้าระวังทางการเงินและการแข่งขันของจีนได้เข้าควบคุมบริษัทต่างๆ รวมถึง แอนท์กรุ๊ป (Ant Group) และอาลีบาบา สองเสาหลักอาณาจักรอินเทอร์เน็ตของมหาเศรษฐี แจ็คหม่า และกลุ่มอีคอมเมิร์ซเหม่ยถวน (Meituan)
น่าสนใจชะตากรรมของ "Full Truck Alliance" และ "Boss Zhipin" ที่จดทะเบียนในนิวยอร์กในเดือนมิถุนายน ซึ่งระดมทุนได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์และ 912 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ
กลุ่มเทคโนโลยีทั้งสาม เป็นผู้นำอุตสาหกรรมในประเทศจีน และได้รับการสนับสนุนจากเทนเซนต์ กลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดของจีน
CAC กล่าวว่าการสอบสวนกำลังดำเนินการภายใต้ขั้นตอนกำกับดูแลไซเบอร์ฉบับใหม่ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เพื่อเสริมการกำกับดูแลบริษัทที่ดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ
เคนดรา แชฟเฟอร์ นักวิเคราะห์เทคโนโลยีของ Trivium บริษัทที่ปรึกษาในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า “คำแถลงของหน่วยงานกำกับดูแลจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ชัดเจนว่าความรับผิดชอบแรกของบริษัท คือการรับรองความปลอดภัยของข้อมูลก่อนออกไประดมทุนต่างประเทศ”
โกลบอลไทม์ส สื่อทางการจีนกล่าวในบทบรรณาธิการ (5 ก.ค.) ว่า การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ ถือเป็นความปลอดภัยของชาติ
“ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต มีสถานะของฐานข้อมูล super-database ที่เป็นข้อมูลส่วนตัวของคนจีน” บทบรรณาธิการกล่าว
ปฏิบัติการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่น ที่มีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและความมั่นคงด้านข้อมูลนี้ เป็นความเคลื่อนไหวต่อจากการสั่งระงับแผนการทำไอพีโอของแอนต์ กรุ๊ป บริษัทฟินเทคในเครืออาลีบาบาเมื่อปลายปีที่แล้ว
มาร์ติน ชอร์เซมปา นักวิชาการอาวุโสของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน มองว่า การทำไอพีโอในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ทางการจีนตรวจสอบเข้มงวดมาก
เซนนอน แคปรอน ประธานบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา แคปรอนเอเชีย กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบตีตี้และแอนต์ว่า คือสัญญาณชัดเจน จีนกำลังใช้บริษัทเหล่านี้เตือนไปยังบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีนให้เหตุผลว่า ได้สั่งให้ถอดตีตี้ ชูสิง แอปฯ บริการเรียกรถแท๊กซี่ ออกจากแอปสโตร์ หลังพบว่า บริษัทแห่งนี้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย ตีตี้มีผู้ใช้เกือบ 500 ล้านคน และผู้ให้บริการ 15 ล้านคน นอกจากเป็นรายใหญ่ตลาดบริการเรียกใช้รถยนต์ในจีน ยังให้บริการในอีก 15 ประเทศ นอกจากนี้ ในเดือนที่ผ่านมา ตีตี้ ยังถูกสำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ ตรวจสอบกรณีการผูกขาดตลาดด้วย
"อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้เป็นการระงับในส่วนการลงทะเบียนผู้ใช้บริการรายใหม่ ไม่ได้กระทบผู้ใช้บริการปัจจุบันที่อยู่ในจีนเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่น่าส่งผลเสียหายมากมายต่อรายได้ของบริษัทฯ ในแผ่นดินใหญ่" หน่วยงานฯ ระบุ
ด้านตีตี้ แถลงยืนยันว่า "บริษัทมีความมุ่งมั่นปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ตลอดจนปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล และข้อมูลที่รวบรวมล้วนเพื่อวิจัยด้านเทคโนโลยีและวิเคราะห์การเดินทาง"
ทั้งนี้ ตีตี้ชูสิง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคมนาคมผ่านระบบมือถือแบบวันสต็อป ( One-stop) ชั้นนำของโลก เป็นกิจการที่สร้างความเกรียวกราวเสมอในการระดมทุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลังจาก Apple ได้ลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในตีตี้ เมื่อปี 2559 ครั้งล่าสุดยังได้ Goldman Sachs และ Morgan Stanley เป็นผู้นำในการลงทุน
ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการลงทุนของแอปเปิล 1 พันล้านดอลลาร์ ตี้ตี้ยังมีผู้สนับสนุนรายใหญ่อื่น ๆ รับเงินทุนมากกว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์จากนักลงทุน 18 ราย อาทิ ซอฟท์แบงค์, อาลีบาบา, เทนเซนต์, กองทุนเทมาเส็ก, ไชน่าไลฟ์อินชัวรันซ์, โตโยต้า ฯลฯ
ตีตี้ ชูสิง ยิ่งสร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการแท็กซี่โลกมาแล้ว เมื่อแอปพลิเคชั่นเรียกรถระดับโลก อูเบอร์ (Uber) ยังต้องพ่ายแพ้ ไม่สามารถเจาะตลาดจีนได้ เพราะถูกตีตี้ ชูสิงกุมตลาดไว้หมด กว่า 90% นับเป็นประเทศเดียวที่อูเบอร์พ่ายแพ้อย่างราบคาบ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า สำหรับทางการจีนแล้ว แม้กิจการใครจะรุ่งเรืองใหญ่ขนาดไหน แต่ที่สุดเมื่อมีข้อมูลมหาศาลอันเกี่ยวกับความมั่นคง และเข้าสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อตกอยู่ในมือของทุนต่างชาติ โดยเฉพาะไปที่บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ก็คงต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน