สื่อต่างประเทศรายงาน (5 ก.ค.) ว่า ทางการจีนได้เข้าตรวจสอบบริษัท 2 แห่งที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในสหรัฐฯ ต่อเนื่องหลังสั่งถอดตีตี้ ชูสิง แอปฯ บริการเรียกรถแท๊กซี่ ออกจากแอปสโตร์ โทษฐานเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่นของปักกิ่ง โดยมุ่งเน้นที่พฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและความมั่นคงด้านข้อมูล
รายงานข่าวกล่าวว่า หลังจากบริษัทนี้ประสบความสำเร็จล้นหลามในการทำไอพีโอที่นิวยอร์กสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน (ซีเอซี) ออกคำสั่งเมื่อวันอาทิตย์ (4 ก.ค.) ถอดแอปของ ตีตี้ ยักษ์ใหญ่บริการเรียกรถแท็กซี่ในเมืองจีนออกจากแอปสโตร์ เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจาก ตีตี้ เสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ในตลาดนิวยอร์ก ระดมเงินทุนได้มากกว่า 4,400 ล้านดอลลาร์
ปฏิบัติการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่น ที่มีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและความมั่นคงด้านข้อมูล นี้เป็นความเคลื่อนไหวต่อจากการสั่งระงับแผนการทำไอพีโอของแอนต์ กรุ๊ป บริษัทฟินเทคในเครืออาลีบาบาเมื่อปลายปีที่แล้ว
มาร์ติน ชอร์เซมปา นักวิชาการอาวุโสของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน มองว่า การทำไอพีโอในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ทางการจีนตรวจสอบเข้มงวดมาก
เซนนอน แคปรอน ประธานบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา แคปรอนเอเชีย กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบตีตีและแอนต์ว่า คือสัญญาณชัดเจน จีนกำลังเตือนไปยังบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยใช้บริษัทเหล่านี้
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีนให้เหตุผลว่า สั่งให้ถอดตีตี้ ชูสิง แอปฯ บริการเรียกรถแท๊กซี่ ออกจากแอปสโตร์ หลังพบว่า บริษัทแห่งนี้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย โดยมีผู้ใช้เกือบ 500 ล้านคน และคนให้บริการ 15 ล้านคน นอกจากเป็นรายใหญ่ตลาดบริการเรียกใช้รถยนต์ในจีน ยังให้บริการในอีก 15 ประเทศ นอกจากนี้ ในเดือนที่ผ่านมา ตีตี้ ยังถูกสำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ ตรวจสอบกรณีการผูกขาดตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้เป็นการระงับในส่วนจดทะเบียนผู้ใช้รายใหม่ ไม่ได้กระทบผู้ใช้ปัจจุบันที่อยู่ในจีนเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่น่าส่งผลเสียหายมากมายต่อรายได้ของบริษัทในแผ่นดินใหญ่
ด้านตีตี้ แถลงยืนยันว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ตลอดจนปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล และข้อมูลที่รวบรวมล้วนเพื่อวิจัยด้านเทคโนโลยีและวิเคราะห์การเดินทาง