xs
xsm
sm
md
lg

มองการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากสิบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในรอบ100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคคอมมิวนิสต์จีนเติบโตก้าวเดินมาถึง 100 ปีเต็มในวันที่ 1 ก.ค.นี้ นับจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนชนจีนในปี ค.ศ.1949 พรรคฯก็ครองอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่มีประชากรมากสุดในโลกมาโดยตลอด ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 91 ล้าน (ตัวเลขจากสำนักข่าวซินหัว) ซึ่งทำสถิติมากที่สุดในโลก

ไล่เรียงดูประวัติศาสตร์การปกครองแผ่นดินจีน โดยขอนับจากยุคจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย รวมเวลากว่าสองพันปี จีนอยู่ภายใต้อำนาจปกครองโดยราชวงศ์จักรพรรดิราวยี่สิบราวราชวงศ์ กลุ่มราชวงศ์ที่ครองอำนาจยืนยาว อาทิ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก-ฮั่นตะวันออก (400 กว่าปี) ราชวงศ์ถัง (289 ปี) ราชวงศ์หมิง (276 ปี) ราชวงศ์ชิง (276 ปี ) กลุ่มราชวงศ์ที่ครองอำนาจได้นานรองๆลงมา อาทิ ซ่งเหนือ (167 ปี) ซ่งใต้ (152 ปี) ราชวงศ์เหลียว (218 ปี) ส่วนกลุ่มราชวงศ์ที่ครองอำนาจไม่เกิน 100 ปี ก็มีเกือบสิบราชวงศ์ โดยราชวงศ์ที่อายุสั้นที่สุดคือ ราชวงศ์ฉินของจิ๋นซีฮ่องเต้ ฉินครองแผ่นดินเพียง 14 ปี! หลังการรวมแผ่นดินจีนและปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดโหดร้าย

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ CCP กุมอำนาจปกครองจีนมา 72 ปี และพาประเทศทะยานสู่แท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้นโดยเป็นทั้งพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ค.ศ.1921 โดยนักปฏิวัติคือ หลี่ ต้าเจา และเฉิน ตู้ซิ่ว ทั้งสองเป็นผู้นำ “ขบวนการเคลื่อนไหววันที่สี่พฤษภาคม” (1919) ผู้นำการก่อตั้งพรรคฯ ได้หันมาเคลื่อนไหวลัทธิมาร์กซิสหลังจากที่บอลเชวิค (Bolshevik) พิชิตชัยชนะในการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ต่อมาระหว่างช่วงวุ่นวายในทศวรรษที่ 1920 สมาชิกพรรคฯ อาทิ เหมาเจ๋อตง หลิวเส้าฉี และหลี่ลี่ซัน ก็เริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานตามเมืองต่างๆ

ในโอกาสครบรอบร้อยปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขอย้อนรอย “สิบเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์” ที่พรรคฯได้ต่อสู้ฝ่าฟันมาอีกทั้งเป็นเหตุปัจจัยพื้นฐานในการสร้างอิทธิพลอำนาจของพรรคฯและประเทศจีน

ชาวจีนชุมนุมประท้วงใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 1919 เพื่อต่อต้านข้อตกลงยกดินแดนมณฑลซันตงให้แก่ญี่ปุ่นที่ระบุในสนธิสัญญาแวร์ซายที่ยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นยุคจีนที่อ่อนแอและไร้อำนาจต่อรองกับมหาอำนาจต่างชาติ (แฟ้มภาพ สารานุกรมจีน)
1.ขบวนการเคลื่อนไหวสี่พฤษภาคม

ในช่วงยุคก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือกำเนิดขึ้นนั้นแผ่นดินจีนตกอยู่ในสภาพระส่ำระสายจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของขุนศึกกลุ่มต่างๆ ยากจนข้นแค้น ไร้อำนาจต่อรองใดๆบนเวทีโลก เมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลายและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นในปี 1912 รัฐบาลก็ยังอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตปัญหาหลักของประเทศ ขณะที่กลุ่มขุนศึกและทหารตั้งตัวอิสระ ไม่ขึ้นกับอำนาจรัฐบาลแห่งชาติ มุ่งแต่แสวงหาแนวทางสร้างอำนาจและผลประโยชน์ตน

ในวันที่ 4 พ.ค. 1919 กลุ่มนักศึกษานับพันคนจากวิทยาลัยต่างๆได้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลแห่งชาติในปักกิ่งเพื่อคัดค้านการตัดสินใจของที่ประชุมสันติภาพแวร์ชาย (Versailles Peace Conference) ซึ่งร่างสนธิสัญญายุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยในสัญญาข้อหนึ่งระบุให้ยกดินแดนมณฑลซันตงที่อยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมันให้กับญี่ปุ่น ฝ่ายรัฐบาลจีนยอมรับการตัดสินใจนี้ ทำให้กลุ่มนักศึกษาโกรธแค้นมากถึงกับบุกเผาบ้านรัฐมนตรีการสื่อสารและโจมตีรัฐมนตรีจีนประจำญี่ปุ่นซึ่งทั้งสองเป็นพวกสนับสนุนญี่ปุ่น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การเดินขบวนประท้วงขยายวงไปทั่วประเทศ และมีนักศึกษาหลายคนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

การประท้วงนี้ได้กลายมาเป็น ‘ขบวนการสี่พฤษภาคม’ (五四运动/May Fourth Movement) ที่ทรงพลังจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาเพื่อประเทศชาติครั้งหนึ่ง

ผู้นำ เหมา เจ๋อตง อ่านแถลงการณ์สถาปนาสาธารัฐประชาชนจีน หรือจีนใหม่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 1 ต.ค.1949
2. การสถาปนาสาธารณัฐประชาชนจีน

หลังการต่อสู้เคลื่อนไหวอุดมการณ์และการต่อสู้ในสนามรบใหญ่ช่วงชิงอำนาจกับพรรคจีนคณะชาติหรือพรรคก๊กมินตั๋งที่กุมอำนาจปกครองจีนหลังจากราชวงศ์ชิงล่มสลายโดยสถาปนาสาธารณรัฐจีน ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ชนะสงครามกลางเมือง กลุ่มผู้นำการปฏิวัติจีนใหม่ที่นำโดยเหมาเจ๋อตงได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียงไคเช็คได้นำกำลังถอยร่นไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวันและจัดตั้งรัฐบาลแยกต่างหากโดยหวังที่จะกลับมาช่วงชิงอำนาจในปักกิ่งคืน

3. ‘นโยบายก้าวกระโดด’

สิบปีหลังจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน แผ่นดินจีนภายใต้การนำของผู้นำเหมาเจ๋อตงประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้นซ้ำเติมประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว ในมณฑลเหอหนัน มีประชาชนล้มตายมากกว่าล้านคน โดย 1 ใน 8 เสียชีวิตจากภาวะอดอยากและความทารุณในช่วงสามปี

โศกนาฏกรรมดังกล่าวเป็นผลพวงจากนโยบายก้าวกระโดด (大跃进/Great Leap Forward) แผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปี ที่ผู้นำ เหมา เจ๋อตง ริเริ่มเพื่อผลักดันจีนเข้าสู่ “แดนสวรรค์คอมมิวนิสต์”

พรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลักดันแผนนี้ระหว่างปี 1958 ถึงต้นปี 1960 มีการจัดตั้งมวลชนทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรและอุตสาหกรรม ทว่า การรณรงค์กลับทำเศรษฐกิจพังยับในสองปีต่อมา การเกษตรที่ล้มเหลวและการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่พอกินทำให้ประชาชนล้มตายไปหลายล้านคนเพราะความอดอยากหิวโหย

วังโปตาลา ในลาซา เขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
4.การผนวกรวมทิเบต

การผนวกดินแดนทิเบตเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มขึ้นเมื่อปี 1950 การเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่บนเวทีโลกมาถึงปัจจุบัน

จีนได้ส่งกองทัพเข้าไปยังแดนหลังคาโลกเมื่อปี 1950 โดยในปีต่อมาจีนได้เข้ายึดครองทิเบตอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในปี 1959 เมื่อการลุกฮือต่อต้านอำนาจปกครองจีนของชาวทิเบตล้มเหลว ทะไล ลามะผู้นำจิตวิญญาณทิเบตก็ลี้ภัยออกจากดินแดน ไปยังประเทศอินเดีย

ทะไล ลามะ ได้ลี้ภัยไปยังเมืองธรรมศาลา และตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นั่น จากนั้นมารัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตพยายามเจรจากับจีนโดยเสนอ “เส้นทางสายกลาง” เพื่อให้ทะไล ลามะกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดภายใต้เงื่อนไขจัดตั้งระบบ “การปกครองตัวเองอย่างแท้จริง” ในทิเบต  ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก กลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนทิเบตออกมาประท้วงต่อต้านจีนอย่างรุนแรงที่สุด อย่างไรก็ตาม จากปี 2010 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปฏิเสธการเจรจากับรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และประกาศว่าทะไล ลามะ เป็นพวกลัทธิแบ่งแยกดินแดน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนหนุนการจัดตั้งกลุ่ม “เรดการ์ด” ในปี 1966 เปิดยุคปฏิวัติวัฒนธรรมที่กินเวลานานสิบปี เมืองต่างๆตกอยู่ในความวุ่นวายสับสน
5.การปฏิวัติวัฒนธรรม

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ (文化大革命/The Great Proletarian Cultural Revolution) ที่กินเวลายาวนานถึงสิบปี ได้สร้างความวุ่นวายโกลาหลทางการเมืองและสังคมในประเทศ ผู้นำเหมา เจ๋อตง ได้ใช้วิธีการปลุกระดมมวลชนมหาศาลขึ้นมาหนุนการกุมอำนาจเด็ดขาดของตนในพรรคฯ

การเคลื่อนไหวปฏิวัติธรรมของผู้นำเหมาเกิดจากความกลัวว่าจีนจะเดินตามโมเดลของสหภาพโซเวียตในการพัฒนาประเทศและวิตกเกี่ยวกับสถานภาพบนหน้าประวัติศาสตร์ของตน

ผู้นำเหมาได้จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว “เรดการ์ด” (红卫兵/ Red Guards) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกึ่งทหารที่มีกลุ่มนักศึกษาเป็นหัวหอกเพื่อสร้างสังคมคอมมิวนิสต์แบบมาตรฐานเหมาอิสต์ (Maoist) ทว่า กลับกลายเป็นการเคลื่อนไหวแบบบ้าคลั่งก่อความรุนแรงไปทั่วโดยทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้าที่พวกยามพิทักษ์แดงมองว่าเป็นทุนนิยม เมืองต่างๆในจีนตกอยู่ในภาวะวุ่นวายสันสน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนหนุนการจัดตั้งกลุ่ม “เรดการ์ด” ในปี 1966 โดยใช้เป็นเครื่องมือกวาดล้างกลุ่มศัตรูการเมืองของเหมาเจ๋อตง โดยมี เติ้ง เสี่ยวผิงเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ทำให้เหมาได้กลับสู่บัลลังก์อำนาจใหญ่หลังจากที่จีนผ่อนเพลาการนำแบบถอนรากถอนโคน (radical leadership) ในช่วงฟื้นตัวจากหายนะจากการ “ก้าวกระโดดใหญ่” ซึ่งก่อให้เกิด “ยุคความอดอยากครั้งใหญ่แห่งจีน” ทำให้ประชาชนล้มตายนับสิบๆล้านคนในช่วงเวลาเพียงห้าปี

การปฏิวัติวัฒนธรรมกินเวลาอย่างน้อยสิบปีจนถึงวันที่ผู้เหมาเจ๋อตงถึงแก่มรณกรรมในปี 1976

เติ้งเสี่ยวผิงในสมัชชาแห่งสหประชาชาติปี 1974 ขณะบรรยายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศจีนที่ยึดแนวทางสายกลาง และเรียกร้องการจัดตั้งระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่
6.การเรืองอำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง

เติ้ง เสี่ยวผิง คือผู้บุกเบิกเปลี่ยนถ่ายประเทศจีนเข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งนับเป็นมรดกตกทอดที่ยั่งยืนมาถึงปัจจุบันแก่ทั้งประเทศจีนและโลกเลยก็ว่าได้ เติ้งเสี่ยวผิงกลับมากุมอำนาจใหญ่เหนือพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1978 ซึ่งเป็นช่วงสองปีหลังจากที่เหมาถึงแก่อสัญกรรม และเป็นผู้นำผลักดันการปฏิรูปและเปิดประเทศที่ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกในแง่ของ ‘อำนาจการซื้อ’ในปี 2014

ก่อนประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เติ้งเสี่ยวผิงได้กล่าววาทะอันลือลั่น “ไม่ว่าแมวเหลืองแมวดำ ขอให้จับหนูได้ก็นับเป็นแมวที่ดี”  ในภาพ: ภาพล้อ “ทฤษฎีแมวดำแมวขาว” ของเติ้งเสี่ยวผิง
เติ้งเสี่ยวผิง เป็นหนึ่งในผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนจากยุคปลายทศวรรษที่ 1970 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1997. เป็นผู้นำที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินจีนด้วยวาทะอันลือลั่น “ไม่ว่าแมวเหลืองแมวดำ ขอให้จับหนูได้ก็นับเป็นแมวที่ดี” โดยละทิ้งหลักทฤษฎีคอมมิวนิสต์แบบเก่าหลายอย่าง และพยายามดึงเอาองค์ประกอบต่างๆจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (Free-Enterprise System) ที่อนุญาตให้เอกชนดำเนินธุรกิจได้ อีกทั้งการปฏิรูปเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจีน

ภายใต้การนำของเติ้ง จีนปฏิรูปเศรษฐกิจไปไกลมาก นอกจากนี้ยังบังคับใช้ “นโยบายลูกคนเดียว” เพื่อควบคุมการขยายตัวของประชากร ขณะที่ “นโยบายเปิดประตู” ได้เปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระบบตลาดและภาคเอกชน

การประท้วงเรียกร้องการปฏิรูประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 1989 (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
7. ‘การปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน’

ขณะที่เติ้งมุ่งมั่นส่งเสริมเศรษฐกิจและยกมาตรฐานชีวิตประชาชนโดยการเปิดกว้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปฯเปิดช่องให้คอร์รัปชั่นแทรกซึมเข้ามาเพียบ ขณะเดียวกันก็สร้างความหวังการเปิดกว้างทางการเมืองระดับสูงขึ้น
ช่วงต้นปี 1989 การประท้วงเริ่มเคลื่อนขบวนเรียกร้องการเปิดเสรีการเมือง ในเดือนพ.ค.1989 ประชาชนจีนเกือบล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามาชุมนุมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเริ่มจากการชุมนุมไว้อาลัยแด่อดีตเลขาธิการพรรคฯหู เย่าปังผู้นำนักปฏิรูปเสรีภาพนิยมผู้เสียชีวิตในเดือนเม.ย.1989 พร้อมเรียกร้องให้พรรคฯฟื้นคืนเกียรติยศชื่อเสียงแก่หูซึ่งถูกบีบให้ลาออกจากพรรคฯในปี 1987

การประท้วงฯเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วแบบควงสว่านกลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งเรียกร้องให้ผู้นำพรรคฯบางคนลาออก จนกระทั่งในวันที่ 3-4 มิ.ย. ผู้นำจีนส่งกองกำลังทหารและตำรวจพร้อมอาวุธเข้าสลายกลุ่มประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

หลังเหตุการณ์ฯสงบ รัฐบาลจีนรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างการปราบปราม ได้แก่ พลเรือน 200 คน และเจ้าหน้าที่หลายสิบคน

8. อื้อฉาวคอรัปชั่น ปั๋ว ซีไหล

ในเดือน มี.ค. เลขาธิการพรรคฯประจำนครฉงชิ่ง นาย ปั๋ว ซีไหล ถูกปลดสายฟ้าแลบก่อนการเปลี่ยนถ่ายรุ่นการนำพรรคฯในรอบ 10 ปี นับเป็นอื้อฉาวการเมืองใหญ่ครั้งใหญ่สุดของจีนในรอบหลายปี ก่อนเกิดเหตุฯปั๋วเป็นดาวรุ่งการเมืองโดยเป็นตัวเก็งที่จะได้รับการโปรโมทเข้าสู่คณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ของพรรคฯ ซึ่งทรงอำนาจที่สุดของประเทศในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯที่ 18 เมื่อปี 2012

อนาคตการเมืองของปั๋วดับวูบลง ตามด้วยอื้อฉาวผู้บัญชาการตำรวจสูงสุด หวังลี่จวิน ผู้พยายามหนีไปลี้ภัยในสถานกงสุลอเมริกันที่เฉิงตูโดยหวังอ้างว่าเขามีข้อมูลลับสุดยอดของปั๋วซีไหล และภรรยาของปั๋วคือ นางกู่ ไคไหล ซึ่งต่อมานางกู่ถูกดำเนินคดีและตัดสินว่าเป็นผู้สังหารคู่หุ้นส่วนธุรกิจชาวอังกฤษคือนาย นีล เฮย์วู้ด
ในที่สุด ปั๋วถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งการเมือง ถูกขับออกจากพรรคฯ ถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด และถูกตัดสสินจำคุกตลอดชีวิต

อื้อฉาวคอรัปชั่น ปั๋ว ซีไหล นับเป็นโหมโรงการปราบปรามคอรัปชั่นครั้งประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งต่อมาเมื่อสี จิ้นผิงขึ้นกุมอำนาจใหญ่ในพรรคฯในปลายปี 2012 ก็ประกาศแคมเปญปราบคอรัปชั่นทั้งระดับ “เสือใหญ่ไปยันแมลงวัน”

กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงประท้วงกฎหมายความมมั่นคงของจีนปี 2019
9.การประท้วงฮ่องกง

ในเดือน มิ.ย.2019 จีนได้เผยรายละเอียดร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่สำหรับฮ่องกงซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน โดยเป็นการกรุยทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งที่สุดบนเกาะฮ่องกงหลังกลับสู่การปกครองจีนเมื่อปี 1997 กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 30 มิ.ย.2019 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนพิธีครบรอบปีที่ 23 ที่อังกฤษคืนอำนาจปกครองฮ่องกงแก่จีน โดยกฎหมายฯให้อำนาจจีนกำหนดชีวิตความเป็นไปในฮ่องกงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จีนได้ผ่านกฎหมายฯฉบับนี้โดยตรงโดยไม่ผ่านขั้นตอนพิจารณาตัดสินของสภานิติบัญญัติ ทำให้ชาวฮ่องกงออกมาเดินขบวนประท้วงใหญ่นับปีโดยเกิดเหตุปะทะรุนแรงหลายครั้ง ฝ่ายรัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นชี้ว่า การประท้วงใหญ่และความรุนแรงเกิดจาก “การแทรกซึมยุแหย่” ของกลุ่มพลังต่างชาติ

อนึ่ง ในการส่งมอบอำนาจปกครองเกาะฮ่องกงให้แก่จีน จีนได้สัญญาเปิดทางให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตัวเองระดับสูงเป็นเวลา 50 ปี ภายใต้สูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ”


10.การระบาดใหญ่ โควิด-19

ปีที่แล้ว 2020 โลกจะเชื่อมโยงกับจีนตลอดไป ในเดือนธ.ค.2019 พบเคสปอดบวมจากเชื้อไวรัสลึกลับเคสแรกในเมืองอู่อั่น ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ยังพยายามปกปิดข่าวไม่ให้สาธารณชนรับรู้ในวงกว้าง ต่อมาผู้เชี่ยวชาญระบุเป็นเชื้อโรคระบาดโคโรนาไวรัสสายพันธุใหม่ หรือ ซาร์ส2 (SARS-CoV-2) และต่อมาองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อเป็นโรคโควิด-19

แม้จีนดูเป็นประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับการระบาดทั่วโลกในขณะนี้ จีนก็ยังตกเป็นเป้าโจมตีการระบาดใหญ่ครั้งนี้โดยเฉพาะเรื่องการปิดข่าวและการจัดการหยุดโรคระบาดในตอนเริ่มต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น