xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: ตลาดผลไม้นำเข้าจีนกับความนิยมผลไม้ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทุเรียนไทยยังครองตลาดจีนไม่เสื่อมคลาย  จากปี  2019 มานี้  ทุเรียนไทยแซงหน้าเชอร์รี่ชิลีขึ้นแท่นผลไม้นำเข้ามายังตลาดจีนอันดับหนึ่ง
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)


วันนี้ขอเล่าสู่กันฟังในประเด็นที่หลายคนอาจจะสนใจเพราะมีความเกี่ยวข้องกับไทยเราอย่างมาก คือเรื่องของตลาดการนำเข้าผลไม้จีนและความนิยมสินค้าประเภทผลไม้ไทยในหมู่ผู้บริโภคจีน ผู้เขียนจะขอนำเสนอในส่วนของตัวเลขสถิติ ประสบการณ์จากการสัมผัสจริง และวิเคราะห์โอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนหลังจากนี้ โดยในบทความนี้หมายถึงผลไม้สดเท่านั้น ไม่รวมผลไม้แห้งและผลไม้แปรรูปอื่นๆ

อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าสินค้าเกษตรอย่างผลไม้ไทยมีชื่อเสียงดังไกลทั่วโลก ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้การสนับสนุนผลไม้ไทยก้าวสู่เวทีโลกมาอย่างยาวนาน จากการสะสมเครดิตที่มีมาของผลไม้ไทยที่เป็นผลไม้เขตร้อนที่อร่อย มีคุณภาพดี ราคาไม่แพง กอปรกับไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากมาย ทำให้ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาชาติ และในแต่ละปีผลไม้ไทยคุณภาพดีก็ส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก


มาดูที่ตลาดนำเข้าผลไม้จีนกันบ้าง ในปี 2020 จีนนำเข้าผลไม้ทั้งหมดมากกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากปี 2019 กว่า 25 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งจำนวนเงินและจำนวนตันที่นำเข้าผลไม้ของจีนทำสถิติสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่หลังปี 2016 เป็นต้นมา โดยในปี 2019 จำนวนผลไม้นำเข้าของจีนสูงมากกว่า 7 ล้านตันไปแล้ว ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีผลผลิตของผักและผลไม้มากที่สุดในโลก (ผลไม้ที่จีนส่งออกมาก คือส้มและแอปเปิ้ล เป็นต้น) ในทุกๆ ปีจีนส่งออกผลไม้เป็นจำนวนมากไปทั่วโลก โดยการส่งออกผลไม้ของจีนมีปริมาณมากกว่าการนำเข้ามาตลอด ปริมาณการนำเข้าฯเด้งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี 2018 ซึ่งก็ถือว่าไม่นานมานี้เอง

ผลไม้ที่จีนนำเข้าส่วนมากคือผลไม้เขตร้อน เช่น ทุเรียน กล้วย มังคุด ลำไย มะพร้าว แก้วมังกร สัปปะรด และลิ้นจี่ เป็นต้น เพราะผลไม้เขตร้อนนี้จีนผลิตได้น้อยและไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ผลไม้นำเข้าอีกชนิดหนึ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมจากจีนอย่างมากคือ เชอรี่จากชิลี โดยในปี 2018 แค่เชอรี่ผลไม้ชนิดเดียว มูลค่าการนำเข้ามากถึง 1.3 พันล้านดอลล่าร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 80% ทำให้เห็นว่าเชอรี่เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในจีน

กลุ่มผลไม้เขตร้อนที่จีนนำเข้าและได้รับความนิยม ที่เกริ่นไปแล้วจะเห็นได้ว่าผลไม้ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ที่ไทยเรามีผลผลิตสูงและผลิตได้คุณภาพดี ทำให้ไทยเป็นคู่ค้าผลไม้อันดับหนึ่งของจีน โดย ณ ปัจจุบันจำนวนการนำเข้าผลไม้จากไทยของจีนมีสัดส่วนมากกว่า 35% ของการนำเข้าผลไม้ต่างประเทศทั้งหมด และตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมาผลไม้สด 4 ชนิดแรกที่จีนนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ทุเรียน เชอรี่ กล้วย และมังคุด โดยมีแนวโน้มที่จะมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่อาโวคาโดและแก้วมังกรมีแนวโน้มการนำเข้าลดลง 


ในฝั่งของผลไม้ไทยนอกจากทุเรียนและมะพร้าวแล้ว มังคุดยังมาแรงอย่างมากในตลาดจีน ส่วนผลไม้สดนำเข้าที่จีนนำเข้ามากที่สุดคือกล้วยหอมฟิลิปปินส์ ในปี 2019 นำเข้าทั้งปีมากกว่า 2 ล้านตัน ผลผลิตกล้วยในประเทศจีนเองเฉลี่ยปีละ 11 ล้านตันและปริมาณการบริโภคกล้วยนำเข้าของจีนคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของตลาดกล้วยในประเทศทั้งหมด ถัดมาอันดับสองและสามที่นำเข้ามากที่สุดได้แก่ มะพร้าว และทุเรียน

ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง พนักงานกำลังช่วยลูกค้าเลือกทุเรียนหมอนทอง (ภาพจาก Sougou.com)
ที่น่าสนใจคือทุเรียนไทยในปี 2019 ปริมาณการนำเข้าอยู่ในอันดับสาม เท่ากับ 6 แสนกว่าตัน แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่ารวมนั้นมากเป็นอันดับหนึ่ง เท่ากับ 1.6 พันล้านดอลลาร์ และมะพร้าวสดนำเข้าเป็นปริมาณมากอันดับสอง ที่ 6.5 แสนตันแต่มาดูมูลค่านำเข้ามีจำนวนเพียง 290 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ดังนั้นในจำนวนผลไม้สดไทยที่ส่งออกมาจีน ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ทำเงินให้ไทยมากที่สุดในปัจจุบัน ส่วนมังคุดก็กำลังมาแรง

อัตราส่วนการนำเข้าผลไม้สดของจีน 54% มาจากแถบเอเชีย ผลไม้สดนำเข้าจากลาตินอเมริกามีสัดส่วน 30% ที่เหลือคือการนำเข้าจากแอฟริกา และจากอเมริกาและแคนาคาไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ไทยเรายังคงเป็นเจ้าตลาดผลไม้สดนำเข้าจากจีนโดยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการจัดอันดับประเทศที่จีนนำเข้าผลไม้ในทุกปีไทยจะไม่ใช่ที่สองก็ที่หนึ่งเสมอ ในรายการผลไม้นำเข้าต่างประเทศ 49 ชนิด มีผลไม้ไทย 5 ชนิดกินสัดส่วนการนำเข้าไปกว่า 80% เลยทีเดียว โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด ไทยเป็นผู้เล่นเดียวในตลาดจีนไม่มีคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ ไทยเป็นประเทศส่งออกผลไม้อันดับต้นๆของโลก สัดส่วนการส่งออกของทุเรียนมีมากที่สุด รองลงมาคือมังคุด ลำไยและมะพร้าว ซึ่งได้รับความนิยมทุกอย่างในจีน

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้สัมผัสขอยืนยันว่าผลไม้ไทยที่กล่าวมาข้างต้นได้รับความนิยมอย่างมากในจีนจริงๆ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเป็นฤดูของทุเรียนและทุเรียนก็ไหลทะลักเข้าจีนจำนวนมาก ทำให้หลายซูเปอร์มาร์เก็ตมีทุเรียนสดวางขายและราคาไม่แพงมากกิโลกรัมละประมาณ 200-300 บาท ที่ไหนมีการลดราคาทุเรียนคนจะไปมุงอยู่ที่นั่น ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์เหอหม่า ทุเรียนหมอนทองที่ขายในวันเสาร์-อาทิตย์ กิโลกรัมละ 200 บาทคนจีนก็แย่งกันเลือกแย่งกันซื้อ แล้วคนจีนจะชินกับการกินทุเรียนแบบสุกงอม ตูดปริ เนื้อเละ

ปัจจุบันจีนนำเข้าผลไม้จาก 24 ประเทศ ผลไม้ 200 กว่าชนิดที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้า โดยในปี 2019 มีผลไม้สด 13 ชนิดจาก 12 ประเทศได้รับใบอนุญาตการนำเข้าจากจีน โดยเพื่อนบ้านไทยกับประเภทผลไม้ที่ได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น ลูกแพร์และมะพร้าวจากฟิลิปปินส์ มังคุดจากเวียดนาม และกล้วยจากกัมพูชา คนจีนหนึ่งคนเฉลี่ยบริโภคผลไม้สดปีละ 183.5 กิโลกรัม เมืองชั้นรองที่กำลังมีฐานะขึ้นมา ผู้คนมีเงินใช้จ่าย ซื้อผลไม้นำเข้า อย่างเช่นเมืองหังโจว ปริมาณการบริโภคผลไม้นำเข้าปี 2020 เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 110 เปอร์เซ็นต์

สำหรับอนาคตผลไม้ไทยยังคงสดใสเพราะความเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีอยู่แล้ว คุณภาพที่คัดมาแล้วจากไทย แต่เรื่องท้าทายก็มีเช่นกัน ทางการไทยต้องจับตาผลไม้เขตร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีน อีกทั้งเรื่องของการป้องกันผลไม้ประเทศเพื่อนบ้านไปชุบตัวและส่งออกจากไทยและแอบอ้างว่าเป็นผลไม้ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น