xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวัน อ่วมโควิด รอพิสูจน์เพื่อนแท้ หรือแค่เบี้ยหมากมะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เฉินสือจง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ และ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ชูเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ : “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (ภาพ http://leavenoonebehind.com.tw)
MGR Online - การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ในสัปดาห์นี้ ไต้หวัน ก็ยังไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHA) เป็นปีที่ห้าติดต่อกัน โดยครั้งนี้สมัยที่ 74 จัดระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากเกิดการระบาดโควิด-19 จึงใช้วิธีการประชุมแบบออนไลน์

การไม่ได้รับเชิญอีกครั้งในปีนี้ ยืนยันปัญหานโยบายจีนเดียว ที่เป็นความไม่ลงรอยระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จะชะลอประเด็นอ่อนไหว เพื่อไม่ให้นำไปสู่การแตกหัก แต่ไต้หวันก็ไปไหนต่อไม่ได้อยู่ดีบนเวทีโลก

ไต้หวันต่อสู้เพื่อร่วมอยู่ใน WHA มานาน นับตั้งแต่ปี 2009 ที่เริ่มเข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์ ตั้งแต่นั้นติดต่อกัน 8 ปี โดยรัฐบาลไต้หวันสมัยประธานาธิบดีหม่า อิงจิว เข้ามาร่วม ภายใต้ชื่อ “จีนไทเป (Chinese Taipei)” แต่ก็เป็นการร่วมตามที่ตกลงกับรัฐบาลจีนไว้

มาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (2006-2017) อดีตผู้อำนวยการสาธารณสุข ฮ่องกง (1994-2003) เรียก "จีนไทเป (ไต้หวัน)" ว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ไต้หวันเข้าร่วมเวทีนี้ ก็เริ่มมีความหวังว่าจะขยายสู่การมีส่วนร่วมที่สำคัญอื่น ๆ ในคณะกรรมาธิการองค์การอนามัยโลกได้

แต่หลังจากที่ ไช่ อิงเหวิน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2016 ดำเนินความสัมพันธ์กับปักกิ่งค่อนข้างแข็งกร้าว ชูนโยบายแยกจากจีน ขัดกับหลักนโยบายจีนเดียว

ในปี 2016 ไต้หวันปีนั้น ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสมัชชาอนามัยโลกอีกครั้ง แต่เมื่อ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ยืนยันตามสิทธิในการปกครองไต้หวัน ว่าเป็นประเทศหนึ่ง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน คนหนุ่มสาวไต้หวัน ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใช้ “จีนไทเป" (Chinese Taipei) กดดันรัฐบาลให้เปลี่ยนเรียกเป็น "ไต้หวัน" บนเวทีโลก

จีนต้องการตอกย้ำว่าไต้หวันไม่อาจจะทำอะไรที่ขัดกับหลักนโยบายจีนเดียว จึงเคลื่อนไหวต่อต้านท่าทีของไต้หวันบนเวทีโลก และกีดกันไต้หวันจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกนับแต่นั้น

ด้านสหรัฐ ก็แย้งจีนตลอด เมื่อปี 2020 นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ณ เวลานั้น เคยออกแถลงการณ์ประณามที่ไต้หวันไม่ได้เข้าร่วมสมัชชาอนามัยโลก

และก่อนการประชุมปีนี้ แม้แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แถลงจุดยืนว่า ยืนยันสนับสนุนนโยบายจีนเดียว แต่ได้แถลงในวันที่ 7 พฤษภาคม เรียกร้องฟื้นฟูสถานภาพของไต้หวันใน WHA เช่นกัน

ทางด้าน 15 มิตรประเทศที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์การทูตกับไต้หวัน มี 13 ประเทศที่ยื่นญัตติเรียกร้องไต้หวันได้รับสมาชิกสังเกตการณ์ ส่วนวาติกันไม่มีสิทธิ์ยื่นญัตติเนื่องจากเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ และปารากวัยยังไม่ได้ยื่นญัตติ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะสนับสนุนไต้หวันด้วยวิธีอื่นหรือไม่

องค์การอนามัยโลก แถลงว่า การที่ไต้หวันจะได้รับสถานะสมาชิกสังเกตการณ์หรือไม่ นายเทดรอส อะดานอม เลขาธิการฯ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศสมาชิกฯ


ก่อนการประชุมนี้ นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวว่า รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงสนับสนุน “นโยบายจีนเดียว”

ทว่าในอีกด้านหนึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลของไบเดนได้แสดงออกชัดเจนถึงการสนับสนุนไต้หวันที่กำลังเผชิญหน้ากับการกดดันทางทหารจากจีน ตัวแทนของไต้หวันในสหรัฐ ยังได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อวันที่ 20 มกราคมต้นปีด้วย

การดำเนินนโยบายระหว่างสหรัฐและจีนของไบเดน ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะประเด็นไต้หวัน, ปัญหาสิทธิมนุษยชน และการแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้ ถูกหยิบยกมาเสมอและบ่อยขึ้น ๆ

ยิ่งในสถานการณ์ระบาดของโควิด ปีที่แล้ว ไต้หวันกลายเป็นดินแดนที่ปลอดภัยที่สุด การทูตไต้หวันเริ่มแข็งแกร่งขึ้นมาทันใด ขยายนโยบายจัดการโควิด-19 ที่โลกชื่นชมจนสร้างพันธมิตรได้ทั่วโลก ภายใต้โครงการ “Taiwan can help” และ “Taiwan is helping” อาทิ บริจาคหน้ากากให้กับประเทศที่ขาดแคลน และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นส่งไปให้ความช่วยเหลือกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนเสนอตัวร่วมประชุม ในวาระต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันความรู้ในการจัดการโควิดระบาด ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี รวมกว่า 40 ประเทศ

จีนโต้แย้งว่า ไต้หวันควรได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในองค์กรระหว่างประเทศใด ๆ ภายใต้หลักการ "จีนเดียว" เท่านั้น

เดเชนวังโม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของภูฏานซึ่งได้รับเลือกให้เป็นประธาน WHA ในปีนี้ ได้ตัดสินใจที่จะทิ้งข้อเสนอชื่อของไต้หวันออกจากวาระการประชุม

ไต้หวัน แสดง "ไม่พอใจอย่างยิ่ง" ที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก อีกครั้ง 5 ปีติดต่อกัน ออกจดหมายประท้วง โดยกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน และกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ประจวบกับตลอดเดือนพฤษภาคมล่าสุด สถานการณ์โควิดในไทเป-นิวไทเป เข้าขั้นวิกฤต! ห้องพักผู้ป่วยไม่พอ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เฉินสือจง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กล่าวว่า "การแพร่ระบาดของโรคระบาดในไต้หวันที่ทวีความรุนแรงขึ้น แสดงให้เห็นว่าไวรัสไม่มีพรมแดน ไต้หวันไม่สามารถอยู่ข้างเวทีได้ และไม่ควรมีช่องว่างในการป้องกันโรคทั่วโลก"

การไม่ได้รับคำเชิญเข้าร่วม WHA ในปีนี้ "ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียสำหรับไต้หวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย" เนื่องจากโลกต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแบ่งปันข้อมูลที่มีอยู่และความเชี่ยวชาญในการต่อสู้กับโรคโดยรวม

โจเซฟ อู่ รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน แสดงความเสียใจต่อสำนักเลขาธิการองค์การอนามัยโลก ว่า "ยังคงไม่แยแสต่อสิทธิด้านสุขภาพของประชากร 23.5 ล้านคนของไต้หวัน" และแย้งข้อกล่าวอ้างของจีนที่ว่า "มีการเตรียมการที่เหมาะสมสำหรับการเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน"

“สาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่เคยปกครองไต้หวัน แต่ก็ยังคงตีความที่ผิดเพี้ยนของมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และมติสมัชชาอนามัยโลก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิด” อู่ กล่าวและว่า "มีเพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของไต้หวันเท่านั้น ที่สามารถเป็นตัวแทนของคนไต้หวันใน WHO ได้ ขอเรียกร้องให้ WHO และทุกฝ่ายยืนหยัดสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม กลไก และกิจกรรมของ WHO อย่างเต็มที่ ร่วมมือกับประเทศทั่วโลกเพื่อดำเนินการตามกฎบัตรของ WHO : “สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ : “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ยังได้ขอบคุณไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศ กลุ่ม G7 ที่ออกแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่สนับสนุนการเสนอไต้หวันเข้าร่วม WHA


ด้านจีน แม้จะไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้จากรัฐบาลโดยตรง แต่นักสังเกตการณ์ฝั่งจีน จางหัว นักวิจัยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กับ หยิน เหมาเซียง นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ได้กล่าวถึง "การทูตวัคซีน" และมิตรภาพปลอมระหว่างวอชิงตันและไต้หวัน ว่า

"ความจริงที่น่าเศร้าคือ แม้ว่าแผ่นดินใหญ่จะแสดงความเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการต่อต้านไวรัสแก่ไต้หวัน แต่ "กฎหมาย" ของไต้หวันได้ห้ามการนำเข้าวัคซีนจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อใช้กับการควบคุมโรคระบาด

ตอนนี้ไต้หวันปักหมุดความหวังที่จะได้รับวัคซีนของอเมริกา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับยาจากวอชิงตันเลย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา "รัฐมนตรีสาธารณสุข" ของไต้หวันกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เขาได้พูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการขอรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ จะนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯ จะส่งวัคซีน 80 ล้านโดสไปต่างประเทศภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ และไต้หวันก็กระตือรือร้นที่จะได้รับส่วนแบ่ง แต่นักสังเกตการณ์ฝั่งจีน มองว่า "เกาะนี้ไม่น่าจะมีความสำคัญกับการทูตวัคซีนของสหรัฐฯ"

เบรนต์ คริสเตนเซน ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นสถานทูตสหรัฐฯ ในทางพฤตินัย
เบรนต์ คริสเตนเซน ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นสถานทูตสหรัฐฯ ในทางพฤตินัย กล่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่าวอชิงตัน “ไม่รีบร้อน” จัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปช่วยเหลือไทเป เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังถือว่าต่ำมาก แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยังอยู่ระหว่างพูดคุยกันในประเด็นนี้

"ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตัน - ไต้หวัน คือวอชิงตันไม่สนใจผลประโยชน์ของเกาะเลย แต่ก็ถือว่าเกาะนี้เป็นเสมือนไพ่และเบี้ย สหรัฐฯ ใช้เกาะไต้หวันเป็นเครื่องมือ แม้ว่าสถาบันอเมริกันในไต้หวันจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตัน - ไต้หวันด้วยวลี "เพื่อนแท้ ความก้าวหน้าที่แท้จริง" แต่ความจริงก็เป็นอีกเรื่อง สหรัฐอเมริกาและเกาะไต้หวันเป็น "เพื่อนปลอม"

"สหรัฐฯ ไม่ได้จัดหาวัคซีนให้กับเกาะไต้หวัน แค่เสนอการสนับสนุนให้เกาะนี้เข้าร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก เป็นการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลุกปั่นแผ่นดินใหญ่ เพื่อก่อความเสื่อมเสียให้กับภาพลักษณ์ของปักกิ่ง โดยที่สหรัฐ ไม่เสียหายอะไรเลย"

นักสังเกตการณ์กล่าวว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตัน - ไต้หวันจะได้รับผลกระทบหรือไม่? หากไต้หวันไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับโรคระบาด? ไต้หวันรู้ดีว่า สหรัฐฯ ไม่ช่วยเหลืออย่างจริงใจ แต่กลับไร้เดียงสาที่เชื่อว่าสหรัฐฯ พร้อมจะสนับสนุนทุกเมื่อ"

เชื่อแน่ว่า สหรัฐฯ คงต้องเร่งส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรณีฉุกเฉินให้กับที่ไต้หวันระลอกนี้ เพราะมันเป็นบทพิสูจน์ว่าไต้หวันคือเพื่อนแท้ หรือแค่เบี้ยหมากมะกัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น