โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีไร้สาย+การส่งอาหาร “Internet+Delivery” เพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตประชาชน ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านอาหารต่างๆ ยิ่งในช่วงระหว่างของการระบาดของโควิด-19 ด้วยแล้ว ผลักดันให้แพลตฟอร์มสั่งอาหารต่างๆเติบโตอย่างรวดเร็ว การโตที่เร็วของแพลตฟอร์มทำให้มีความต้องการผู้ส่งอาหารจำนวนมาก ในปัจจุบันแพลตฟอร์มสั่งอาหารรายใหญ่ของจีนมีสองรายที่แข่งกันอย่างดุเดือด โดยทั้งสองมีส่วนแบ่งในตลาดไม่ทิ้งห่างกันมากนัก อันดับหนึ่งคือ ‘เหมยถวน’ (Meituan) กินส่วนแบ่งในตลาดจีน 51 เปอร์เซ็นต์ และ ‘เอ้อเลอมา’ (Eleme) กินส่วนแบ่งในตลาดจีน 45.9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 3.1 เปอร์เซ็นต์คือผู้บริการรายย่อยอื่นๆ
ตัวเลขผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารของจีนมีมากกว่า 450 ล้านคนทั่วประเทศ ในอุตสาหกรรมภาคร้านอาหารเมืองชั้น 1-2 มีส่วนแบ่งอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยอดขายมาจากเดลิเวอรี่ การสั่งอาหารออนไลน์ของจีนยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองชั้น 1 และเมืองชั้น 2 เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและจังหวะการใช้ชีวิตของคนเมืองกับเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตแบบเร่งด่วน การบริการส่งอาหารถึงมือเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตในเมือง
คุณสมบัติการรับสมัครพนักงานส่งอาหารในแพลตฟอร์มต่างๆไม่ได้มีข้อจำกัดมากนัก ดังนั้นใครๆก็ยื่นใบสมัครได้ขอแค่ขยัน อายุถึงเกณฑ์ และสุขภาพแข็งแรง ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้มีทั้งแบบทำงานเต็มเวลา และ พาร์ทไทม์ ยิ่งในช่วงของการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา ผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพพนักงานส่งอาหารมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆเพราะถ้าขยันส่งเยอะจะมีรายได้ที่น่าพอใจและถือเป็นอาชีพอิสระ รายได้ขึ้นอยู่กับความขยันส่วนบุคคลล้วนๆ ในเว็บไซต์หรือบล็อกข่าวหลายแห่งรายงานว่า ในปัจจุบันมีคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท 7 หมื่นคนที่ประกอบอาชีพพนักงานส่งอาหารตามแพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเซียลมีเดียของจีนเองก็เคยมีการเปิดเผยว่าอาชีพคนส่งอาหารในเมืองชั้นหนึ่งรายได้มากกว่า 10,000 หยวนต่อเดือน (มากกว่า 48,000 บาท) ทำให้เป็นที่สนใจของสังคม พนักงานในบริษัทเมืองชั้นหนึ่งหลายคนบอกว่า “ลาออกจากงานกลับบ้านไปเป็นคนส่งอาหารดีกว่า!”
ในปี 2019 จากสถิติข้อมูลคนส่งอาหารจากแพลตฟอร์ม Eleme แสดงถึงวุฒิการศึกษาของคนส่งอาหารในแพลตฟอร์มประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงพอสมควร อีกทั้งอายุเฉลี่ยของคนส่งอาหาร 28 ปี ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1985- 1990 หลายคนที่ยึดอาชีพส่งอาหารนี้จนเป็นรายได้หลักเพื่อเลี้ยงครอบครัวก็มีเป็นจำนวนมากทีเดียว
จากที่กล่าวไปแล้วว่ารายได้ต่อเดือนของคนส่งอาหารในเมืองมากกว่าเดือนละ 48,000 บาท ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงจริงๆ เพราะในการส่งอาหารแต่ละครั้งแพลตฟอร์มจะกำหนดค่าแรงในแต่ละออเดอร์อัตโนมัติโดยจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับเวลาการสั่งของลูกค้า(ช่วงเวลาอาหารกลางวันกับอาหารเย็นคือช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วงบ่ายหรือช่วงสายคือเวลาที่ลูกค้าสั่งอาหารน้อย) ระยะทางการส่ง ข้อจำกัดของเวลาการส่ง ราคาอาหาร เป็นต้น อีกทั้งระบบแพลตฟอร์มจะส่งออเดอร์ให้คนส่งอาหารอัตโนมัติ โดยเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งคนส่งจาก GPS โดยในแต่เขตแต่ละพื้นที่จะมีสำนักงานย่อยเป็นศูนย์บริหารอยู่ โดยทั่วไปแล้วคนส่งอาหารจะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง คนพวกนี้จะส่งอาหารได้ไวเพราะคุ้นเคยกับเส้นทางและตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ
มีผู้ส่งอาหารรายหนึ่งเปิดเผยว่า ในการส่งแต่ละครั้งจะได้ค่าเหนื่อย 4.8 – 20 กว่าหยวนไม่เท่ากัน ช่วงเวลาเร่งด่วนที่คนสั่งอาหารในระบบกันเยอะๆจะมีค่าเหนื่อยเพิ่ม 2-3 หยวน หากว่าอยากมีรายได้มากกว่า 10,000 หยวน ต้องวิ่งส่งมากกว่าวันละ 50 ออเดอร์ โดยตัวเขาเองเริ่มส่งอาหารตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พักแค่ช่วงบ่ายเท่านั้นและช่วงเวลาอาหารกลางวันและอาหารเย็นสามารถส่งได้ครั้งหนึ่ง 15-20 ออเดอร์รวดเดียว ทั้งนี้รายได้ของคนส่งอาหารจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเมืองที่ตนอาศัยอยู่ด้วย อย่างเมืองชั้น 2-3-4 รายได้ต่อออเดอร์จะต่ำกว่าเมืองชั้นหนึ่ง สำหรับคนที่วิ่งส่งของเป็นอาชีพหลัก 3-5 ปีรายได้เฉลี่ยจะมากกว่า 5,000 หยวนหรือ 24,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่เลวเลยทีเดียว
ทีนี้เรามาพูดถึงอาชีพส่งอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนจีนทำไมถึงไม่ง่าย? เพราะระบบการสั่งการในแพลตฟอร์มใช้ปัญญาประดิษฐ์และฐานข้อมูลใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) เข้ามาบริหารจัดการพฤติกรรมและความสามารถของคนส่งอาหาร โดยหากยิ่งมีความสามารถส่งได้มาก วิ่งได้เยอะ ยิ่งจะได้ออเดอร์มากขึ้น ยิ่งมีความสามารถส่งของถึงมือลูกค้าได้ไวระบบจะลดเวลาการส่งถึงมือลูกค้าลงอีก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านเวลาของผู้ส่งอาหาร การใช้ระบบประมวลลักษณะนี้เข้ามาใช้ในการควบคุมบริหาร ให้รางวัลหรือลงโทษปรับเงินผู้ส่งอาหารเหมือนจะไม่มีความยืดหยุ่นเท่าไหร่นัก ทำให้คนส่งอาหารในแพลตฟอร์มพวกนี้ยิ่งขยัน ยิ่งเหนื่อย แต่ในขณะเดียวกันก็จะได้เงินมาก ในด้านของผู้บริโภคหรือผู้สั่งอาหารเอง แพลตฟอร์มจะทราบถึงพฤติกรรมต่างๆเช่น หากผู้สั่งอาหารไม่ค่อยเร่งเวลาการส่งของมาก่อนเลย ต่อไปก็จะได้รับอาหารช้ากว่าคนที่ชอบเร่งกับระบบบ่อยๆ เพราะแพลตฟอร์มรับรู้พฤติกรรมของเราคือสามารถรอได้ จริงๆ การประมวลผลแบบนี้ก็ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้าเท่าใดนัก กล่าวคือถ้ามีคนสั่งอาหารทีหลังเรา แต่ลูกค้าผู้นี้ชอบไปเร่งกับระบบให้ส่งเร็ว ถึงแม้เราจะสั่งก่อนแต่ระบบจะให้คนส่งอาหารไปส่งให้กับคนที่รีบร้อนก่อน อาหารของเราจะถูกส่งทีหลัง เป็นต้น
เคยมีนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แซ่ เฉิน ได้ทำวิจัยในหัวข้อ “ภายใต้การควบคุมของบิ๊กดาต้ากับการวิจัยการควบคุมจัดระบบการทำงานในกลุ่มคนส่งอาหาร” โดยตัวเขาเองได้ไปเป็นคนส่งอาหารให้แพลตฟอร์มออนไลน์หนึ่งเป็นเวลา 5 เดือนด้วยกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลและกระบวนการจัดการต่างๆ โดยเขาได้เขียนสรุป ความยากลำบากของคนส่งอาหารไว้ประเด็นต่างๆดังนี้คือ
- คนส่งอาหารทั้งเหนื่อย ทั้งท้อ ทั้งน่าสงสาร เพราะต้องเจอลูกค้าหลากหลายประเภท การยอมรับทางอาชีพในสังคม ยังต้องมาเจอกับระบบที่เคี่ยวต้องได้ผลงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด(มีความกดดันที่บีบให้ต้องทำผลงานดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ)
- คนส่งอาหารพวกนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านแรงงานอย่างที่ควรจะเป็น แพลตฟอร์มจะเซ็นสัญญาการทำงานแบบชั่วคราวและประกันสังคมบริษัทไม่ได้จ่ายให้แบบเต็ม จะเป็นลักษณะการร่วมมือระหว่างตัวบุคคลกับบริษัทมากกว่า ไม่ใช่แบบลูกจ้างกับนายจ้าง ดังนั้นความเสี่ยงโดยส่วนใหญ่คนส่งอาหารต้องรับไป แพลตฟอร์มเป็นตัวกลางและให้โอกาสการหาเงินแก่คนส่งอาหารเท่านั้น ในขณะเดียวกันคนส่งอาหารก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์มอย่างเคร่งครัด
- การประเมินการทำงานภายใต้การคำนวณประสิทธิภาพจากบิ๊กดาต้านี้ ไม่มีการพิจารณาความต้องการความเป็นมนุษย์เข้าไปเลย ให้งานยังกะหุ่นยนต์ ไม่มีการลากิจหรือลาป่วยใดๆ แค่หยุดส่งอาหารก็จะไม่มีเงินให้
ในช่วงนี้มีสารคดีสั้นที่ฮือฮาของประชาชนจีนเลยทีเดียวคือเรื่องราวที่รองผู้อำนวยการสำนักสังคมมนุษย์ปักกิ่งได้ไปวิ่งส่งอาหารจริงๆ โดยใช้แพลตฟอร์มของMeituan เริ่มจากเป็นลูกมือเรียนรู้จากผู้ส่งอาหารที่มีประสบการณ์และในวันที่เริ่มรับออเดอร์และวิ่งส่งของจริงด้วยตัวเองวันแรก เขาได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้ 100 หยวนในวันนี้ ความจริงที่เกิดขึ้นคือในหนึ่งชั่วโมงเขาได้รายได้ไม่ถึง 3 หยวน ทำงานรับออเดอร์ทั้งหมด 12 ชั่วโมง ส่งไปเพียง 5 ออเดอร์และเขาได้รับเงินเพียง 41 หยวนเท่านั้น สุดท้ายแล้วเขาไปนั่งพักระหว่างทางข้างถนนในลักษณะที่หมดแรง และพูดขึ้นว่า “สงสารตัวเองจริงๆ เงินจากการวิ่งส่งอาหารได้มายากเย็นเหลือเกิน”
หลังจากที่สารคดีเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไปทำให้สังคมจีนให้ความสนใจกับการคุ้มครองด้านอาชีพของคนที่ให้บริการด้านนี้มากขึ้นและเริ่มมีการพูดถึงจริยธรรมของแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่จะใช้แต่การประมวลผลของตัวเลขด้านบิ๊กดาต้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ด้วย