กลุ่มสื่อต่างประเทศ รายงาน (18 พ.ค.) นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศจีนพบการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของไวรัสจีโนไทป์ II ของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) ในบางพื้นที่ของจีน
รายงานพบว่ามี การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ โดยมีอัตราการตายในระดับต่ำ (low lethality) โดยข้อมูลอาการของไวรัสกลายพันธุ์ยังมีไม่มาก และมีแนวโน้มว่า จะแพร่หลายในหมู่สุกรในทุ่งนา ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การตายของหมู
นาย Zhao Dongming นักวิจัยสถาบันฯ ระบุว่า "อาการที่ไม่ชัดเจนเพิ่มความยากในการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น และทำให้เกิดความท้าทายในการป้องกันและควบคุมโรค จีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างมากและควรกำหนดมาตรการรับมือโดยทันที"
นาย Yang Zhanqiu รองผู้อำนวยการแผนกชีววิทยาของเชื้อโรคที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นเปิดเผยว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดขึ้นเป็นประจำในจีน และมักมีอัตราการตายของสุกรที่สูง
ปัจจุบัน ทั่วโลกมี ไวรัสฯ อย่างน้อย 24 ชนิด และที่แพร่หลายมากที่สุดในเอเชียคือจีโนไทป์ II โดยขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำได้เพียงคัดแยกสุกรที่ติดเชื้อในระยะเริ่มแรก
สถิติของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีนระบุว่า เมื่อปี 2562 มีรายงานโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 63 ครั้งทั่วประเทศ โดยมีสุกรติดเชื้อมากกว่า 390,000 ตัว