โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
ด้วยสถานการณ์เร่งด่วนในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกที่ตั้งแต่เริ่มระบาดจนถึงปัจจุบันก็เกือบๆสองปีแล้ว ผลกระทบและความสูญเสียนับวันยิ่งขยายวงไม่สิ้นสุด ทำให้ทั่วโลกยิ่งเร่งการวิจัยพัฒนารวมไปถึงเร่งการอนุมัติวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนได้เป็นวงกว้าง กลุ่มองค์กรและบริษัทด้านเวชภัณฑ์หลายค่ายต่างเร่งศึกษาพัฒนาวัคซีนหลายประเภท ในบทความนี้ผู้เขียนขออัปเดตสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19ในประเทศจีนพร้อมกับรายงานข้อมูลสถิติฉบับใหม่ที่บ่งชี้ถึงระดับความปลอดภัยของตัววัคซีนเชื้อตายที่จีนใช้และผลิตอยู่ในปัจจุบัน
จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาจีนได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้วทั้งหมด 244 ล้านโดส แน่นอนว่าสำหรับจีนเองที่มีประชากรมหาศาลถึง 1.4 พันล้านคน เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนของคนทั้งประเทศจึงยังอยู่ในระดับต่ำ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นคือรัฐบาลจีนจริงจังและพยายามรณรงค์ให้ประชาชนไปลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน วัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนในจีนผลิตจากสองค่ายคือ ชิโนฟาร์ม (Sinopharm) และชิโนแวค (Sinovac) โดยวัคซีนจากทั้งสองค่ายนี้ถือเป็นประเภทเชื้อตายทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์จีนต่างเชื่อมั่นว่า วัคซีนเชื้อตายมีความปลอดภัยสูงเพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนประเภทนี้มีมาอย่างยาวนานและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เมืองใหญ่ๆอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้นต่างลุยรณรงค์ฯอย่างแข็งขัน และประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างในมหาวิทยาลัยของผู้เขียนอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว เพราะความไม่แน่นอนของอนาคตกับวิกฤติการระบาดในหลายประเทศยังรุนแรงอีกทั้งมีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จีนมองว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนในประเทศได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น ส่วนในบางพื้นที่หรือบางเขตที่ประชาชนไม่ค่อยจะกระตือรือร้นไปฉีดวัคซีนเท่าไหร่นัก รัฐบาลท้องถิ่นบางพื้นที่ได้ลงทุนแจกรางวัลให้แก่ผู้มาฉีดวัคซีน เช่น มีการแจกไข่ไก่หรือนมสด คูปองลดราคาสินค้า เป็นต้น
ในวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา วารสารวิชาการ “นิตยสารระบาดวิทยาแห่งจีน” เผยแพร่รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนในกลุ่มเร่งด่วนกลุ่มแรกจำนวน 519,543 คน (ข้อมูลอัปเดตเมื่อเดือนธ.ค. 2020) กลุ่มเร่งด่วนนี้ได้รับการฉีดวัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นของวิสาหกิจรัฐจีนคือ China National Biotec Group (CNBG) โดย CNBG ได้มอบหมายให้บริษัทสองรายคือ Wuhan Institute of Biological Products และ Beijing Institute of Biological Products เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิดภายใต้ชื่อ Sinopharm
ในรายงานสรุปผลการฉีดวัคซีน Sinopharm ในคนกลุ่มนี้ว่า มีความปลอดภัยค่อนข้างดี ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง อาการข้างเคียงทั่วไปค่อนข้างน้อย ทั้งนี้กลุ่มเร่งด่วนคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อฯ เช่น กลุ่มแพทย์และพยาบาล ผู้ที่จะต้องเดินทางไปเรียนหรือทำงานต่างประเทศ กลุ่มคนที่ทำงานติดต่อกับต่างชาติ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ในภาคบริการประชาชน เป็นต้น
รายงานการศึกษาฉบับนี้ได้เผยข้อมูลเชิงสถิติจากกลุ่มตัวอย่างนี้ถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังจากที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายของ Sinopharm พบว่า มีอาการไม่พึงประสงค์ทั่วทั้งร่างกาย 1.06% โดยแบ่งเป็นสองแบบคือ หนึ่งมีอาการไม่พึงประสงค์บางส่วนของร่างกาย 0.37% สองมีอาการไม่พึงประสงค์ทั้งร่างกาย 0.69% สำหรับอาการไม่พึงประสงค์บางส่วนส่วนมากคือ ปวดแขนตรงที่ฉีดหรืออาจจะมีอาการบวม ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ทั้งร่างกาย เช่น มีอาการเวียนหัว ปวดหัว เบื่ออาหารและไข้ขึ้น เป็นต้น
สำหรับรายละเอียดการเกิดอาการตามระยะเวลาหลังจากที่ฉีดวัคซีนแบ่งได้ดังต่อไปนี้
- รู้สึกปวดตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน มักเกิดหลังฉีดภายใน 24 ชั่วโมง
- บริเวณที่ฉีดวัคซีน จับดูแล้วเหมือนมีก้อนแข็งอยู่ข้างใน มักเกิดหลังฉีด 1-4 วัน
- รู้สึกเหนื่อยหรือไม่มีแรง มักเกิดหลังการฉีด 2 วัน
- รู้สึกปวดหัว มักเกิดหลังการฉีด 1-3 วัน
- ปวดกล้ามเนื้อ มักเกิดหลังการฉีด 1-3 วัน
- รู้สึกไม่สบายทั้งตัวเช่น ไข้ขึ้น เบื่ออาหาร ปวดเนื้อครั่นตัว ท้องเสีย มักเกิดหลังการฉีดภายในหนึ่งสัปดาห์ โดยวันแรกจะมีอาการหนักที่สุด
ในการวิจัยชุดนี้ยังแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงและเพศชาย พบว่าเพศหญิงมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนมากกว่าเพศชายโดยเปอร์เซ็นต์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของเพศหญิงคือ 1.58% ในขณะที่เพศชายเกิดอาการไม่พึงประสงค์ 0.72% จากรายงานผลการวิจัยนี้แสดงได้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนมากกว่าเพศชายนั่นเอง
ในส่วนของอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนที่แบ่งตามช่วงอายุ พบว่ากลุ่มอายุ 60 ปี หรือมากกว่า มีเพียง 0.62% เท่านั้น กลุ่มคนอายุ 30-39 ปี มี 1.18% ส่วนกลุ่มคนอายุน้อยระหว่าง 12-18 ปี มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนมากถึง 11% จากสถิตินี้ทำให้เห็นว่ากลุ่มคนอายุน้อยมีความเป็นไปได้ที่จะมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนมากกว่ากลุ่มคนสูงอายุด้วยซ้ำไป และโดยส่วนมากอาการไม่พึงประสงค์ของคนได้รับวัคซีนในเข็มที่หนึ่งจะมีมากกว่าเข็มที่สอง
การออกรายงานฉบับนี้เป็นหลักฐานเน้นย้ำความปลอดภัยของวัคซีนเชื้อตายของจีน สำหรับในต่างประเทศอาจมองว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจีนต่ำ แต่ในปัจจุบันที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ในระยะเวลาอันสั้นนี้เรายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าวัคซีนประเภทต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประสิทธิภาพที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากหรือน้อยแค่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาจากการวิจัยพัฒนาและผลิตถึงการเริ่มนำมาฉีดจริงนั้นสั้นมากๆ แต่อย่าลืมว่าบางครั้งการได้ฉีดวัคซีนประเภทหนึ่งที่แม้อาจจะมีประสิทธิภาพต่ำ แต่ก็ยังคงดีกว่าไม่มีเกราะป้องกันอะไรเลย
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19ในจีนได้เปิดขยายให้กลุ่มผู้สูงอายุแล้วเนื่องจากมีหลักฐานวิจัยที่เพียงพอว่า “มีความปลอดภัยมากพอ”
ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดจีนกล่าวว่า หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศ อัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนทั้งหมดต้องสูงถึง 80% และการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นเกราะป้องกันการโจมตีของโรคโควิด-19 นอกจากจะทำให้ร่างกายของผู้ที่ฉีดมีภูมิป้องกันโรคแล้ว ยังสามารถช่วยให้ผู้ที่ได้รับการฉีดแล้วและไปติดโรคโควิด-19 มีอาการไม่รุนแรงกล่าวคือจะไม่พัฒนาไปสู่ผู้ป่วยขั้นวิกฤติ ขณะนี้จีนพยายามอย่างหนักที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศฉีดวัคซีนให้ได้ถึงจำนวน 1,000 ล้านคน หรือมากกว่านั้น ในปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพการฉีดวัคซีนฯรายวันมากที่สุดในโลก โดยในแต่ละวันสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากถึงวันละ 10 ล้านคน หากคำนวณจากศักยภาพการฉีดขนาดนี้จีนจะใช้เวลา 100 วันในการฉีดให้ครบตามเป้าหมาย
World Economic Forum ได้เก็บสถิติจากกลุ่มคนช่วงวัยแรงงานในประเทศต่างๆเกี่ยวกับความยินยอมที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเป็นการรวบรวมสถิติใน 27 ประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง 20,000 คน พบว่าคนจีนมีความยินยอมฉีดวัคซีนมากที่สุดถึง 97 เปอร์เซนต์ ส่วนคนในรัสเซียมีความยินยอมต่ำสุดเพียง 54% หรือครึ่งหนึ่งเท่านั้น หากมองผลของโพลโดยรวมจาก 27 ประเทศนี้ 74 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ยินยอมฉีดวัคซีน ซึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในโลก
สุดท้ายแล้วการฉีดวัคซีนโควิด-19เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ในมุมมองของใครหลายคนก็เห็นว่าการได้รับวัคซีนเป็นเกราะป้องกันตัวเองในชั้นหนึ่งและลดอัตราการติดเชื้อฯหรือหากว่าติดเชื้อฯก็ลดอัตราการพัฒนาไปสู่ผู้ป่วยวิกฤติได้ อีกนัยยะหนึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ในภาวะของความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่างๆนี้ สร้างความกดดันและความเสี่ยงให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนให้สังคมมีภูมิต้านทานและลดการแพร่กระจายเชื้อเป็นงานเร่งด่วนของหลายประเทศ ณ เวลานี้