กลุ่มสื่อต่างประเทศ รายงาน (1 พ.ค.) สภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) เปิดเผยว่า “FAIR1M” ฐานข้อมูลภาพการสำรวจระยะไกลความละเอียดสูงชุดใหม่ มีขนาดใหญ่กว่าชุดข้อมูลที่คล้ายกันที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ หลายสิบหรือหลายร้อยเท่า
ศาสตราจารย์ฟู่ คุน Fu Kun นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันวิจัยข้อมูลการบินและอวกาศของสถาบันในปักกิ่งได้รับเงินทุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ในการใช้ดาวเทียมสังเกตการณ์ “Gaofen” สร้างฐานข้อมูลที่มีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงมากกว่า 15,000 ภาพ โดยมีฉากประกอบข้อมูล 1 ล้านภาพ ซึ่งเทียบกับฐานข้อมูล VEDAI ของฝรั่งเศสซึ่งมีเพียงประมาณ 3,600 ภาพ
ฐานข้อมูล FAIR1M มีข้อมูลโดยละเอียดของสถานที่มากกว่าล้านแห่งในประเทศจีน และสามารถรู้จักข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพ เช่น ลักษณะเครื่องบินแต่ละรุ่น และสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเรือรบกับเรือโดยสาร
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ทหารใช้ดาวเทียมสอดแนมเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ จนเมื่อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น การนับจำนวนรถบรรทุกสินค้าบนท้องถนนในเมือง หรือแม้แต่ในระดับประเทศ ก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานได้
อัลกอริทึม AI ในปัจจุบันพยายามจดจำวัตถุจากภาพที่ถ่ายจากวงโคจร ฐานข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นทำให้ AI ฉลาดขึ้น อย่างไรก็ดี จากภาพถ่ายดาวเทียมมีจำนวนจำกัดและมีราคาแพง โดยเฉพาะภาพที่มีความคมชัดสูง ทำให้ความแม่นยำของ AI สำหรับภาคเอกชนค่อนข้างต่ำ
ในอดีต ภาพถ่ายดาวเทียมถูกเก็บรวบรวมโดยประเทศตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ จนไม่นานมานี้ จีนได้พัฒนาระบบดาวเทียมที่ใหญ่และทันสมัย โดยภาพมากกว่าร้อยละ 80 ในฐานข้อมูล FAIR1M มาจากดาวเทียมของจีน และส่วนที่เหลือจาก Google Earth