xs
xsm
sm
md
lg

“มหัศจรรย์เศรษฐกิจเซินเจิ้น” ขึ้นกับเทนเซ็นต์ หัวเหวย และบ.ชั้นนำอื่นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขนาดเศรษฐกิจเซินเจิ้นแซงหน้าฮ่องกงไปเมื่อปี 2018 ผู้นำสีจิ้น ผิงได้ประกาศเป้าหมายต่อไปจะสร้าง “มหัศจรรย์เศรษฐกิจเซินเจิ้น” ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าหลายประเทศ และในห้าปีข้างหน้านี้จะมุ่งทุ่มเทให้กับโครงการใหญ่เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เซินเจิ้นซึ่งมีฉายาเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งจีน” เป็นเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในกว่างตง หรือกวางตุ้งซึ่งเป็นมณฑลยักษ์แห่งภาคใต้จีน จีดีพีเมืองเซินเจิ้นได้แซงหน้าฮ่องกง และสิงคโปร์ไปเมื่อสองปีที่แล้ว

ผู้นำจีนยังตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2025 เศรษฐกิจเซินเจิ้นจะมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านหยวน (611 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สูงกว่าประเทศโปรตุเกส อิสราเอล และไอร์แลนด์ เป็นต้น สำหรับจีดีพีเซินเจิ้นปี 2020 ขยายตัวในอัตรา 3.1 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 2.77 ล้านล้านหยวน

เป็นที่ทราบกันดีในวงการที่ติดตามเรื่องจีนว่า ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศปลายทศวรรษที่ 1970 สมัยผู้นำเติ้งเสี่ยวผิงนั้นเซินเจิ้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆที่ล้าหลัง สีจิ้นผิงได้ประกาศในพิธีฉลองวาระครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสี่แห่งของประเทศ (จูไห่ ซั่นโถว (ซัวเถา) เซี่ยเหมิน และเซินเจิ้น)ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ว่าเซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำของโลก และจะได้รับอำนาจการปกครองบริหารตัวเองสูงขึ้นเพื่อสร้าง “มหัศจรรย์อีกครั้ง” ภายใต้แผนพัฒนาฯห้าปีของจีน (2021-2025)นี้ เซินเจิ้นตั้งเป้าหมายอีกว่าจะขึ้นมาเป็น “พลังขับเคลื่อนหลัก” ในการปฏิรูปของประเทศ พร้อมกับเป็นขุมพลังผลักดันการเจริญเติบโตและศูนย์กลางนวัตกรรมในภูมิภาคเกรทเตอร์เบย์แอเรีย (Greater Bay Area) ที่ประกอบด้วย 9 เมืองในมณฑลกว่างตง มาเก๊า และฮ่องกง โดยเงื่อนไขปัจจัยที่จะทำให้เซินเจิ้นบรรลุเป้าหมายนี้อยู่ที่กลุ่มบริษัทชั้นนำของโลก อย่าง เทนเซ็นต์ (Tencent Holdings) และหัวเหวย เทคโนโลยีส (Huawei Technologies)

หลิว กัวหงผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่และการเงินของสถาบันการพัฒนาแห่งจีนในเมืองเซินเจิ้น ชี้ว่าความสำเร็จของเซินเจิ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะอานิสงส์จากเหล่าผู้เล่นในหลายภาคธุรกิจ โดยบริษัทชั้นนำในหลายอุตสาหกรรมของประเทศหลายๆรายที่อยู่ในเมืองเซินเจิ้นไล่เรียงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็มี China Vanke และ Poly Group, บริษัทเทนเซ็นต์แห่งภาคไอที, ผิงอัน อินชัวรันส์ แห่งภาคอุตสาหกรรมการประกันภัย, ภาคการผลิตก็มี หัวเหวย, และยักษ์ใหญ่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD

จากการจัดอันดับของหูรุ่น รีพอร์ต (Hurun Report) ในปี 2020 กลุ่มบริษัทเอกชนในเซินเจิ้นที่ได้ขึ้นทำเนียบบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าสูงสุด 500 รายของประเทศจีนนั้นมีจำนวนมากเป็นอันดับที่สาม ในจำนวนนี้สามรายติดอันดับบริษัทมูลค่าสูงสุดสิบอันดับ “ท็อปเทน” ขณะที่ 59 ราย ติดอันดับสูงสุด100 อันดับ ทั้งนี้จากข้อมูลอัปเดทเมื่อเดือนต.ค.2020

ขณะที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทในเซินเจิ้นอยู่ในภาคไอที อสังหาฯ และการเงิน แผนพัฒนาห้าปีจีนยังมุ่งทุ่มเทให้กับโครงการยักษ์ใหญ่เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน


มาดูกลุ่มบริษัทชั้นนำที่เป็นเสมือน “ขุนพลใหญ่” ที่จะทำให้เซินเจิ้นบรรลุการเติบโตตามเป้าหมาย และมีบทบาทสำคัญในเกรทเตอร์เบย์ แอเรีย


Tencent Holdings
เทนเซ็นต์ ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต มี Market Cap (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด)ที่ราว 6 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง (จากข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย.2021) แซงหน้าอาลีบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง และกลายเป็นบริษัทเอกชนจีนที่มูลค่าสูงที่สุดในปี 2020 จากการจัดอับดับโดยหูรุ่น

เทนเซ็นต์ เจ้าของแอปข้อความสั้น WeChat ละมีหุ้นในบริษัทเกมหลายราย เป็นต้นนั้นติดอันดับที่ 197 ของทำเนียบ Fortune Global 500 List นอกจากนี้ บริษัทในเครือ คือ Tencent Music ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กตั้งแต่ปีเดือนธ.ค. 2018

โพนี่ หม่า ผู้ก่อตั้งเทนเซนต์ วัย 49 ปี มีสินทรัพย์สุทธิ 60.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล Forbes, อัปเดท 14 เม.ย.2021) แซงหน้าแจ๊ค หม่าแห่งอาลีบาบาผู้ร่ำรวยที่สุดในจีนเมื่อปี 2020 ปัจจัยที่ทำให้โพนี่ หม่า ขึ้นมารวยกว่าแจ๊ค หม่า มาจากความต้องการเกมมือถือที่พุ่งกระฉูดในช่วงล็อกดาวน์ควบคุมโควิด-19


Ping An Insurance
ผิงอัน ชื่อที่แปลว่า “ปลอดภัยและอยู่ดี” ให้บริการด้านประกันภัย การเงินและธนาคาร เป็นบริษัทประกันภัยใหญ่สุดของจีน มี Market Cap อยู่ที่ 1.65 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง ติดอันดับที่ 21 ในทำเนียบ Fortune Global 500 List


Huawei Technologies
ก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดยเหริน เจิ้งเฟย หัวเหวยทะยานขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกในภาคอุปกรณ์โทรคมนาคม และสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตาม เครือข่าย 5G ได้กลายเป็นชนวนศึกการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ผู้นำแดนพญาอินทรีปัดแข้งปัดขาหัวเหวยโดยจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯและยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆบอยคอตเครือข่าย 5G จีน

รายได้หัวเหวยในปีที่แล้ว(2020) ขยายเพิ่มที่ 3.8 เปอร์เซนต์ อยู่ที่ 891.4 พันล้านหยวน ถือเป็นการขยายตัวที่เชื่องช้าที่สุดในรอบสิบปี นอกจากนี้อัตราขยายตัวในตลาดต่างแดนยังติดลบ โดยยอดขายร่วงไป 12.2 เปอร์เซ็นต์ทั่วยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ส่วนยอดขายในตลาดเอเชีย-แปซิฟิกก็ตก 8.7 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม กิจการหัวเหวยพึ่งพิงตลาดภายในประเทศเป็นหลักโดยมีสัดส่วนเป็น 65.6 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด


Shenzhen Mindray
บริษัทนี้มีฐานประกอบการในเซินเจิ้น เป็นผู้ให้บริการด้านอุปกรณ์การแพทย์และน้ำยาใสรายใหญ่สุดของจีน การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการจากระบบติดตามคนผู้ป่วยและเครื่องช่วยหายใจพุ่งสูง Market Cap ของ Shenzhen Mindrayจึงดีดตัวสูงถึง 493 พันล้านหยวน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย.2020)

เป็นที่คาดว่าความต้องการจากระบบฯจะยังสูงต่อไปหลังจากที่โรคระบาดซาลงแล้วก็ตาม


BYD
ผู้ผลิตรถยนต์จีนรายนี้ได้รับการสนับสนุนจากอภิมหาเศรษฐีแห่งสหรัฐฯวอร์เร็น บัฟเฟตต์ตั้งแต่ปี 2008  BYD เริ่มกิจการด้วยการผลิตแบตเตอรี่ในปี 1995 จนกลายเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่สุดในจีน ข้อมูลเมื่อปลายปี 2020 ระบุว่า BYD ครองสัดส่วนตลาด 12.9 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีน และข้อมูลอัปเดทในวันที่ 16 เม.ย. ระบุ Market Cap เท่ากับ 548 พันล้านเหรียญฮ่องกง

ในปีโรคระบาด รายงานกำไรสุทธิดีดตัวขึ้น 162 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 4.23 พันล้านหยวน BYD ได้หันมาผลิตหน้ากากอนามัยโดยข้อมูลในเดือนพ.ค.ปีที่แล้วระบุว่าผลิตได้ถึงวันละ 50 ล้านชิ้น

ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ยอดขายรถ BYD ตกลงไป 11 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 130,970 ยูนิตในปีที่แล้ว ในเดือนนี้ BYD ออกรถสองโมเดลโดยตั้งราคาระหว่าง 129,800 หยวน และ 166,800 หยวน เพื่อดึงดูดลูกค้ารายได้ปานกลางและรายได้ต่ำกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น