สุดอลังการ! นักโบราณคดีจีนขุดพบหลุมศพพร้อมโลงที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ตกทอดจากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ หรือ เป่ยเว่ย ที่ครองแผ่นดินจีนเมื่อราวกว่า 1,600 ปีที่แล้ว
เมื่อเร็วๆนี้สถาบันโบราณคดีมณฑลซานซีทางภาคเหนือของจีนแถลงการค้นพบสมบัติล้ำค่าจากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในเมืองต้าถง มณฑลซานซี คือหลุมศพผนังก่ออิฐ พร้อมโบราณวัตถุล้ำค่า ได้แก่ ภาพวาดฝาผนังภายในห้องฝังศพ โลงศพไม้เคลือบ สิ่งทอผ้าไหม และเครื่องเคลือบที่ยังอยู่ในสภาพดี ซึ่งล้วนจัดเป็นสิ่งหายากยิ่ง
ในช่วงเดือนส.ค.-ธ.ค. 2020 สถาบันวิจัยทางโบราณคดีประจำเมืองต้าถง ได้ดำเนินการขุดค้นสุสานราชวงศ์เว่ยเหนือในหมู่บ้านชีหลี่ เขตผิงเฉิง เมืองต้าถง และพบหลุมศพทั้งหมด 86 หลุม โดยมีหนึ่งหลุมที่มีผนังก่ออิฐและภาพวาดประดับฝาผนัง
หลุมศพดังกล่าวมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศใต้ มีความยาวจากฝั่งเหนือจรดใต้อยู่ที่ 24.12 เมตร และความลึกจากพื้นดินถึงก้นหลุมอยู่ที่ 9.3 เมตร หลุมศพดังกล่าวอยู่ในสภาพดั้งเดิม ไม่เคยถูกขุดค้นและปล้นของมีค่า
โหวกล่าวว่าการค้นพบโลงศพไม้เคลือบยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่การทำความเข้าใจลักษณะรูปทรงและกระบวนการผลิตโลงไม้สมัยนั้นมากขึ้น ส่วนภาพวาดฝาผนังที่งดงามจะให้ข้อมูลอันล้ำค่าในการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คน สำหรับกลุ่มเครื่องเคลือบจะมีประโยชน์ในการศึกษาการผลิตไม้เคลือบของภูมิภาคทางตอนเหนือ
ราชวงศ์เว่ยเหนือ หรือเป่ยเว่ย (北魏) สถาปนาขึ้นโดย“ทั่วป๋า” (Tuoba/拓跋) ผู้นำเผ่าเซียนเปย (Xianbei/鲜卑) ซึ่งปกครองภาคเหนือจีนระหว่าง ค.ศ. 386 – 534 โดยตั้งนครหลวงที่เมืองผิงเฉิง( ปัจจุบันคือเมืองต้าถงในมณฑลซานซี)