โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
จากเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตมีความซับซ้อนมากขึ้นกอปรกับความต้องการในด้านต่างๆของชีวิตมีมากขึ้น บทบาทของชายหญิงในสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น บรรทัดฐานของการใช้ชีวิตคู่และความต้องการสูงขึ้น ดังนั้นการประคับประคองชีวิตคู่ให้ตลอดรอดฝั่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมากในกลุ่มคนจีนยุคใหม่ ผู้เขียนมองว่าการแต่งงานของคนจีนยุคใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในเมืองชั้นหนึ่งอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของความรักและความชอบพอกันอีกต่อไป ปัจจัยทางด้านฐานะและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ความเป็น “วัตถุนิยม” ค่อนข้างสูง หลายคนมองว่าการแต่งงานซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องแยกความรักกับความเป็นจริงออกจากกัน
ในวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการพลเรือน ได้ประกาศตัวเลขการแต่งงานและหย่าร้างของประชาชน โดยรายงานว่าในปี 2020 จีนมีการจดทะเบียนสมรส 8.13 ล้านคู่ โดยมีจำนวนลดลงเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2013 ที่ในปีเดียวมีจำนวนจดทะเบียนสมรส 13 ล้านคู่ ที่น่าสนใจคือในช่วง 3 ปีมานี้จำนวนจดทะเบียนสมรสของประชาชนจีนน้อยลงในขณะที่อัตราการหย่าร้างเทียบกับจำนวนการจดทะเบียนสมรสมีสูงขึ้น
ในตารางข้างบนแสดงตัวเลขการจดทะเบียนสมรสและการหย่าร้างในจีนช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการจดทะเบียนสมรสของคู่รักใหม่ลดลงเป็นลำดับส่วนการหย่าร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเปอร์เซ็นต์ของการหย่าร้างต่อการจดทะเบียนสมรสมีจำนวนสูงขึ้น ในปี 2019 อัตราการหย่าร้างสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 เพราะผลกระทบของโรคโควิด-19 ทำให้การจดทะเบียนแต่งงานและหย่าร้างต่างมีจำนวนต่ำลง แต่สัดส่วนการหย่าร้างก็ยังอยู่ในอัตราที่สูงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์
คนจีนยุคใหม่ที่ไม่อยากแต่งงานมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยได้มีนักข่าวไปสัมภาษณ์คนทำงานทั้งชายและหญิง ให้เหตุผลของการไม่แต่งงานดังนี้คือ 64.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงคิดว่าการแต่งงานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิต 43.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงคิดว่าการแต่งงานจะทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และ 53.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายคิดว่าเพราะปัจจัยด้านการเงินทำให้ไม่กล้าหรือไม่พร้อมแต่งงาน สรุปคือการที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงานเพราะเรื่องของ “ต้นทุนการแต่งงาน” ที่สูง ก่อนแต่งงานรับผิดชอบตัวเองคนเดียว หลังแต่งงานต้องดูแลอีกหลายชีวิต
ในโซเชียลมีเดียจีนมีการแชร์เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับประสบการณ์หลังแต่งงานที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก บางคนบอกว่าแต่งงานแล้วต้อมานั่งเสียดายทีหลัง มีหญิงรายหนึ่งแชร์ประสบการณ์หลังแต่งงานของตัวเองว่า “สามีฐานะไม่ค่อยดี แม่สามีไม่มีรายได้ พ่อสามีไม่มีเงินเก็บ สามียังไปกู้เงินนอกระบบออกมา 1 แสนหยวน โดยที่ตัวฉันเองไม่รู้เรื่องเลย กลายเป็นว่าต้องมาแบกรับหนี้ก้อนนี้ร่วมกับสามีอีก ก่อนแต่งงานฉันมีรายได้ดี มีอนาคตการงานที่ดี พอออกจากงานมาแต่งงาน ทุกวันนี้มีแต่หนี้ มีรายจ่ายมากมาย รู้สึกเสียดายจริงๆ” นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ชีวิตการแต่งงานไม่ราบรื่น ดังนั้นคนยุคใหม่มองการแต่งงานเป็นเรื่องของการเสียมากกว่าได้ ก็ไม่น่าจะแปลกนัก
ความอดทนในชีวิตคู่ของคนรุ่นใหม่ต่ำลง มีอิสระทางความคิดมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดเหมือนในสมัยก่อนและไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเอง มีแนวคิดหนึ่งที่แชร์ในโซเซียลมีเดียและมีคนกดแชร์จำนวนมากคือ “ไม่ว่าคนทั้งโลกจะว่ายังไง แต่ตัวฉันเองคิดว่าความรู้สึกของตัวเองถูกต้องที่สุด ไม่ว่าใครจะมองยังไง ฉันไม่มีทางที่จะหวั่นไหวกับสิ่งที่ฉันเป็น มีความสุขกับสิ่งที่ชอบและจะอยู่กับมันได้ยาวนาน สำหรับสิ่งที่ไม่ชอบทำยังไงก็ไม่มีทางยั่งยืน ไม่ฝืนคนอื่นและไม่ฝืนตัวเอง”จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่รักอิสระมากขึ้นและมีทางเลือกทางออกให้ชีวิตตนเองมากมาย อยากจะมองหาคนที่ใช่จริงๆไม่ใช่เพราะการถูกบังคับจากคนรอบข้าง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนจีนยุคใหม่เลือกที่จะแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงาน
กลุ่มคนที่หย่าร้างมากที่สุดในยุคนี้เป็นกลุ่มที่เกิดช่วงปี 1980-1989 คือกลุ่มคนทำงานอายุสามสิบกว่าซึ่งเติบโตมาในช่วงการเติบโตเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด มุมมองของความรักและการแต่งงานค่อนข้างอิสระ ไม่ค่อยยอมรับการคลุมถุงชนเหมือนกับคนในยุคก่อนๆ และชีวิตความเป็นจริงมักจะสวนทางกับวิมานที่วาดไว้เสมอ
ศาสตราจารย์เจ้าเฟิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเคยเปรียบการแต่งงานในเชิงหลักเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า “การแต่งงานก็เหมือนกับการตั้งบริษัท การจดทะเบียนสมรสเหมือนกับการเซ็นสัญญา บริษัทที่เป็นหน่วยครอบครัวต้องบริหารงาน บริหารดีก็เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง บริหารไม่ดีก็จบแยกทางกันไป”
การแต่งงานของคนจีนในปัจจุบันมีเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากที่สุด อย่างเช่นที่จีนมีเรื่องของการหย่าร้างปลอมๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติไปซื้อบ้านหลังที่สองได้ การหย่าร้างปลอมๆ เพื่อหนีหนี้สมรส เป็นต้น เพราะการทำธุรกรรมหลายอย่างของจีน อย่างเช่นเรื่องการซื้อบ้าน มีการจำกัดการซื้อในหลายเมืองและใช้ “หน่วยครอบครัว”เป็นตัวจำกัดการซื้อบ้านหลังที่สอง การหย่าร้างปลอมๆแบบของจีนนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่ากลายเป็นลักษณะเด่นใหม่ของการหย่าร้างที่ไม่มีที่ใดในโลกเหมือน
รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับการหย่าร้างที่มีแนวโน้มมากขึ้น เพราะการหย่าร้างที่สูงขึ้นขณะที่การแต่งงานลดลงนำมาซึ่งปัญหาลูกโซ่ทางสังคมมากมาย ทั้งอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวโดยปล่อยให้มีลูกคนที่สองได้ก็ไม่ได้กระตุ้นอัตราการเกิดนักเพราะการเลี้ยงลูกแต่ละคนมีต้นทุนที่สูงมาก การปล่อยให้มีอัตราการหย่าร้างสูงจะทำให้เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่แตกแยกอาจจะมีปัญหา รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับปัญหานี้และในวันที่ 1 ม.ค. ปีนี้เริ่มใช้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการหย่าร้างคือกำหนด “Calm period” เป็นเวลาหนึ่งเดือน ในที่นี้หมายถึงให้เวลาใจเย็น คิดดีๆ ไตร่ตรองก่อนการหย่าร้างจริง
จริงๆแล้วรัฐบาลมีมาตรการชะลอการหย่าร้างมาตั้งแต่ปี 2003 โดยหลังจากปี 2003 ขั้นตอนการหย่าร้างกว่าจะได้ใบหย่าใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ในปี 2016 มีการทดลองใช้มาตรการ “Calm period”เป็นเวลาครึ่งปีในบางพื้นที่ของจีน อย่างเช่นที่เซี่ยงไฮ้ ในช่วง 4 เดือนของการทดลองมาตรการนี้ในเดือนมิ.ย.-ก.ย. ปี 2016 ที่ศาลจิ้งอันของเซี่ยงไฮ้ มีคู่สามีภรรยา 67 คู่ที่ยื่นขอหย่าร้างอยู่ที่ชั้นศาล หลังจากการโน้มน้าวและแก้ปัญหาในชั้นศาลต้น ทำให้ 27 คู่หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ล้มเลิกแผนการหย่า “Calm period”มีผลอย่างยิ่งในการตัดสินใจของทั้งสองฝ่าย แต่กระนั้นกระแสต้านของกฎหมายใหม่นี้ก็มีอยู่เหมือนกัน เช่นบางคนมองว่า “ระยะเวลาใจเย็น-ไตร่ตรอง” นี้ อาจจะให้เวลาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำการโอนถ่ายหรือขายทรัพย์สิน หรือว่าอาจเกิดการทำร้ายร่างกายกันขึ้นได้ เป็นต้น สรุปคือการหย่าร้างไม่ใช่เรื่องที่น่าสนับสนุนนัก ดังนั้นการแต่งงานและการหย่าร้างต้องรอบคอบ ตัดสินใจให้ดี ทั้งสองฝ่ายควรความรับผิดชอบในชีวิตครอบครัว