สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน วันศุกร์ (5 ก.พ.) องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวอังคารภาพแรก ซึ่งบันทึกโดยเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ยานสำรวจดาวอังคารของจีน ขณะอยู่ห่างจากดาวเคราะห์แดง 2.2 ล้านกิโลเมตร
องค์การฯ ระบุว่ายานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ดำเนินการปรับวิถีวงโคจร ครั้งที่ 4 เมื่อ 20.00 น. ของวันศุกร์ (5 ก.พ.) ตามเวลาปักกิ่ง โดยมีเป้าหมายเดินทางสู่จุดบรรจบกับดาวอังคารบนวิถีวงโคจรตามที่วางแผนไว้ล่วงหน้า
ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ได้เดินทางนานราว 197 วัน คิดเป็นระยะทางไกลราว 465 ล้านกิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ห่างจากโลก 184 ล้านกิโลเมตร และจากดาวอังคาร 1.1 ล้านกิโลเมตร โดยระบบการทำงานทั้งหมดของยานอวกาศยังคงปกติดี
ในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันชาติจีน CNSA เผยแพร่ภาพเซลฟีของยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 โดยเซ็นเซอร์วัดระยะพร้อมเลนส์มุมกว้าง 2 ตัว ที่ติดอยู่ด้านนอกยานเทียนเวิ่น-1 แยกตัวออกจากยานตามคำสั่งการจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน และบันทึกภาพด้วยความเร็ว 1 ภาพต่อ 1 วินาที ซึ่งภาพที่ได้ถูกส่งให้ยานผ่านระบบไว-ไฟ ก่อนส่งกลับมายังผืนโลก
ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 จากดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์เล็กที่สุดอันดับที่ 2 ในระบบสุริยะรองจากดาวพุธ ชื่อภาษาอังกฤษ (Mars) ได้ชื่อตามเทพเจ้าแห่งสงครามของโรมัน มักได้รับขนานนาม "ดาวแดง" เพราะมีออกไซด์ของเหล็กดาษดื่นบนพื้นผิวทำให้มีสีออกแดงเรื่อ
ทั้งนี้ จีนส่งยานสำรวจดาวอังคารลำนี้สู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ซึ่งทำการปรับวิถีวงโคจรครั้งแรกวันที่ 2 ส.ค. 2563 ครั้งที่ 2 วันที่ 20 ก.ย. 2563 และครั้งที่ 3 วันที่ 28 ต.ค. 2563 โดยยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ถูกออกแบบให้โคจร ลงจอด และสำรวจพื้นผิวในภารกิจเดียว