ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะนำเสนอหัวข้อแหวกแนวจากที่เคยเขียนมา อยากจะแชร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สังคมยุคปัจจุบันกับสังคมของเพศที่สาม หากกล่าวถึง “เพศที่สาม”ในสังคมไทยถึงแม้ว่าในทางกฎหมายคุ้มครองยังไม่มีออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ไทยเราถือว่าเปิดกว้าง เพศที่สามสามารถแสดงออกและแสดงตัวในสังคมได้อย่างอิสระ อีกทั้งในสังคมของการทำงานไทยถือว่า “เพศที่สาม”ได้รับการยอมรับและมีโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างกว้างขวาง ดังนั้นในสังคมที่เปิดกว้าง เคารพสิทธิส่วนบุคคล ยอมรับความต่างและมีความเท่าเทียม สำคัญอย่างยิ่งกับการมีอยู่ของกลุ่มเพศที่สามในสังคม
ในมุมของคนจีนมองว่าไทยเป็น “ประเทศแห่งเพศที่สาม” นอกจากช้างไทย สาวประเภทสองเสมือนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว นักท่องเที่ยวจีนที่ไปเที่ยวไทยต้องไปดูทิฟฟานี่หรือคาบาเร่ ซึ่งที่ผ่านมากิจการพวกนี้ทำเงินจากนักท่องเที่ยวได้เป็นกอบเป็นกำ ในอีกมุมหนึ่งของกลุ่มคนเพศที่สามจากจีนมองว่าไทยนอกจากเป็นสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นสวรรค์ของการท่องเที่ยวพักผ่อนของกลุ่มคนเพศที่สามอีกด้วย คนจีนกลุ่มนี้ออกไปเที่ยวไทยพักอาศัย เดินจับมือ เที่ยวบาร์เกย์มีอิสระ ไม่มีสายตาแปลกๆคอยจ้องมอง โดยก่อนหน้านี้มีบทสัมภาษณ์ของคนจีนที่ทำงานอยู่ที่ไทยเป็นเอเจนซี่ขายอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า “กลุ่มเพศที่สามจากจีนชอบมาเที่ยวพักผ่อนที่ไทย คนกลุ่มนี้จำนวนมากมาเที่ยวที่ไทยบ่อยๆ บางคนวางแผนอยากที่จะมาใช้ชีวิตยามแก่ที่ไทย” มีผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวชี้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สนับสนุนและรับนักท่องเที่ยวเพศที่สาม
ผู้เขียนต้องขอเท้าความก่อนว่าในปัจจุบันสังคมจีนยังรับกันไม่ค่อยได้กับพฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศ ไม่ว่าจะชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง การคบหรือชอบเพศเดียวกัน สำหรับสังคมจีนเป็นเรื่องน่าอายและส่วนใหญ่ครอบครัวจีนรับกันไม่ค่อยจะได้ เพราะโดยพื้นฐานทัศนคติชีวิตที่สุขสมบูรณ์ของคนธรรมดา คือ การแต่งงาน มีครอบครัวและมีลูก คนที่ไม่แต่งงานหรือไม่มีลูกจะถือเป็น “เรื่องแปลก”ของสังคม ดังนั้นพ่อแม่จีนที่หัวโบราณก็จะเร่งให้ลูกสาวลูกชายตัวเองแต่งงาน มีครอบครัวมีลูกเร็วๆ เพื่อหน้าตาของครอบครัวในหมู่เครือญาติและสังคม
ตั้งแต่ปี 2012 มีตัวเลขสำรวจในภูมิภาคเอเชียพบว่ามีประชากร 0.3% เป็นเพศที่สาม ตัวเลขในขณะนั้นประมาณ 9.5 ล้านคน และจากการประเมินตัวเลขอย่างต่ำๆของจีนในขณะนั้นน่าจะมีตัวเลขของกลุ่มประชากรเพศที่สามอยู่ประมาณ 4 ล้านคน คนกลุ่มนี้คิดว่าตัวเองเกิดมาในร่างกายที่ผิดอยากที่จะเปลี่ยนเพศไปเป็นเพศตรงข้ามที่ตัวเองเป็นอยู่ และในประเทศจีนเองถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะยังหัวโบราณอยู่แต่ในปี 2017 ก็มีรายงานสำรวจคุณภาพชีวิตของประชากรเพศที่สาม พบว่ากลุ่มคนเพศที่สามในจีนหนึ่งในสิบเคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และจากการรายงานของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ในปี 2018 กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มคนเพศที่สามในจีนยังไม่มีความคุ้มครองด้านกฎหมาย ทำให้คนกลุ่มนี้มีความกดดันอย่างสูงในการดำรงชีวิต ทั้งถูกเหยียดและดูถูก ในรายงานของสหประชาชาติฉบับนี้แนะนำให้ควรมีการตั้งกฎหมายคุ้มครอง(ความยากง่ายของการมีกฎหมายคุ้มครองเพศที่สามของแต่ประเทศต่างกันไปอีก) และต่อมาในปี 2019 สหประชาชาติประกาศว่า การมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศไม่ใช่เป็นปัญหาทางจิต และได้แก้ไขคำที่ใช้ในบัญญัติโรคนานาชาติประเภท Gender Incongruence(ความไม่สอดคล้องทางเพศสภาพ) โดยเอาคำว่า ปัญหาทางจิตตัดออกไป
คำถามต่อมาที่ว่า แล้วในปัจจุบันจำนวนเพศที่สามของจีนมีอยู่เท่าไหร่ ไม่มีใครบอกได้แน่นอน ถึงแม้ว่าในปี 2004 กระทรวงสาธารณสุขจีนทำการสำรวจและรายงานว่า กลุ่มชายรักชายในจีนมีอยู่ประมาณ 5-10 ล้านคน แต่ตัวเลขที่ได้ไม่นับว่าเป็นตัวเลขที่แท้จริงนักเพราะก็ต้องมีคนบางคนที่ปิดบังและไม่อยากเปิดเผย ในปีเดียวกันศาสตราจารย์จางเป่ยชวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยกลุ่มคนเพศที่สามในจีน กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มหญิงรักหญิงในจีนตัวเลขมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน หลังจากนั้นอีกสองปีในปี 2006 กรมควบคุมโรคจีนรายงานจำนวนกลุ่มเพศที่สามชายรักชายในจีนมีจำนวน 20 ล้านคนและหลายปีต่อมาในปี 2014 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์จีนรายงานถึงตัวเลขกลุ่มคนเพศที่สามในจีนมีจำนวน 70 ล้านคนแบ่งเป็นกลุ่มชายรักชาย 35 ล้านคนและกลุ่มหญิงรักหญิง 35 ล้านคน การมองเพศที่สามเป็นเรื่องผิดปกติ ทำให้คนจีนที่แม้จะเป็นเพศที่สามก็ไม่กล้าเปิดเผยรสนิยมของตนเอง
ในปัจจุบันโลกที่เปลี่ยนไป ความกล้าเปิดเผยในตัวตนมีมากขึ้น การเคารพสิทธิส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ทุกคนยึดถือ คนจีนยุคใหม่ได้รับวัฒนธรรมต่างชาติในขณะเดียวกันมีความกล้าแสดงออกยิ่งขึ้น ทำให้คนจีนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่มคนเพศที่สามในกลุ่มคนวัยรุ่นนั้นมีมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่เสมอไป คนรุ่นก่อนๆที่ไม่ยอมเปิดเผยความชอบของตัวเองนั้นมีมากกว่า
อีกประเด็นที่อยากแชร์สู่ผู้เขียนคือ จีนมีแอปพลิเคชันที่โด่งดังมากในหมู่เพศที่สามจีน โดยเฉพาะชายรักชาย อีกทั้งในปัจจุบันยังขยายตลาดไปสู่กลุ่มผู้ใช้ชายรักชายทั่วโลก แอปนี้ชื่อว่า “BLUED” ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 บริษัทนี้ถือว่าเป็นม้ามืดในจับกลุ่มผู้ใช้ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ ตั้งแต่ก่อตั้งแอป BLUED เติบโตอย่างรวดเร็วจนในปี 2020 ได้ขึ้นตลาดหุ้น Nasdaq สำเร็จ ปัจจุบันแอป BLUED มีผู้ใช้ลงทะเบียน 49 ล้านคนทั่วโลก มีให้บริการใน 210 ประเทศและ Active users จากจีนมี 51% และจากต่างประเทศ 49% อีกทั้งในตลาดจีน แอป BLUED นี้มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 70% จะถือว่าเป็นผู้ให้บริการผูกขาดก็ว่าได้ นอกจากนี้แอปนี้ยังสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านการป้องกัน HIV และรณรงค์ด้านการป้องกันอย่างกว้างขวางและรอบด้านอีกด้วย
การมีอยู่ของแอพฯ BLUED เป็นสิ่งใหม่มากๆในสังคมจีน คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักแต่จะเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนเล็กๆในสังคม ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นความก้าวหน้าในสังคมจีนที่ให้โอกาสคนกลุ่มนี้ก้าวออกมายืนในสังคมและรู้จักเพื่อนใหม่ๆที่มีรสนิยมเดียวกันผ่านโซเซียลออนไลน์ ถึงแม้ว่าคนยุคใหม่จีน วัยรุ่นจีนจะเปิดกว้างและยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ แต่กลุ่มคนสูงอายุจีนส่วนใหญ่ก็ยังรับกันไม่ค่อยจะได้อยู่ดี พิธีกรเพศที่สามชื่อดังจีน จินซิง ผู้ที่เปิดเผยตัวเองมาตลอดเคยให้บทสัมภาษณ์ไว้ว่า “สิ่งที่ฉันเป็นไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ฉันรู้ตัวเองและได้ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวออกมาในสังคมและทุกวันนี้ ทุกๆอย่างก็เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น มีความเป็นปกติสุขดี ”