xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: หนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่ “ใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง ดอกฯ ต่ำ” หนี้ท่วมหัว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เงินสินเชื่อบริโภคที่สามารถหยิบยืมออกมาใช้ได้ทันที บนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ (ที่มา Tencent)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)


ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องของ “สินเชื่อผู้บริโภค” ของจีนในปัจจุบัน ทำไมประเด็นนี้ถึงน่าสนใจ? เพราะสินเชื่อผู้บริโภคของจีนในยุคนี้ต่างเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์ต่าง ๆ (Internet Loan) จากตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ที่มีบริการออกเงินกู้รายย่อยเพื่อการบริโภค ซึ่งในปัจจุบันของจีนมีมากกว่า 30 กว่าแอปฯ แล้ว และยังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แอปพลิเคชันพวกนี้ปล่อยผลิตภัณฑ์แตกไลน์บริการทางการเงิน อนุมัติเงินกู้รายย่อยให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภค มีจุดเด่นคือ ง่าย - สะดวก - รวดเร็ว ใช้บริการหรือซื้อของที่ต้องการก่อน ผ่อนจ่ายทีหลังได้ง่ายด่าย แค่มีบัตรประชาชนใบเดียวอายุมากกว่า 18 ขึ้นไป มีประวัติการใช้แอปฯ นั้น ๆ ก็สามารถเปิดบริการสินเชื่อการบริโภคได้ทันที โดยสินเชื่อของแต่ละแพลตฟอร์มจะให้ใช้ซื้อสินค้าหรือบริการในแพลตฟอร์มนั้น ๆ

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่น JD.com มีบริการปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคในแพลตฟอร์มเช่นกัน ภายใต้ Jingdong Financial มีบริการที่ชื่อว่า Baitiao (ไป๋เถียว) คือการให้เครดิตแก่ลูกค้าที่ซื้อของออนไลน์ สามารถที่จะ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง อนุมัติทันที ผ่อนจ่ายได้สบาย ๆ” โดยการผ่อนจ่ายสามารถเลือกการผ่อนจ่ายได้สูงสุดถึง 24 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบัตรเครดิตของธนาคารฯ

แอปพลิเคชัน ไป๋เถียว จากค่ายจิงตง ภายใต้สโลแกน ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เครดิตดี มาหาไป๋เถียว (ที่มา Sina.com)
ณ ปัจจุบันผู้บริโภคที่เปิดใช้บริการ "ไป๋เถียว" มีมากกว่า 100 ล้านคน แต่จำนวนจริง ๆ เป็นเท่าไหร่นั้นไม่ได้รับการเปิดเผยจากทางจิงตง เอาแค่ในช่วงเทศกาลช็อปแหลกวันโสด 1111ในปี 2019 จิงตงรายงานว่า ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก ตัวเลขการขายสูงกว่าปี 2018 ในช่วงเวลาเดียวกัน 320 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการใช้ ไป๋เถียว ในการชำระจ่ายค่าสินค้าเพิ่มขึ้น 327 เปอร์เซ็นต์ และภายในแค่ 10 วินาทีจำนวนเงินที่จ่ายจากไป๋เถียว มีมากกว่า 100 ล้านหยวน!! นี่คือตัวอย่างจากแค่แพลตฟอร์มจิงตงเท่านั้น

ในแอปฯ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีน ฯลฯ อย่างแอปเรียกรถฯ "ตีตี", เหมยถวนเดลิเวอรี่ Ctrip.com ต่างมีบริการทางการเงินแบบ “ใช้บริการก่อน จ่ายทีหลัง” ตั้งแต่ใช้ก่อน-กินก่อน ไปยันเที่ยวก่อน-จ่ายทีหลัง ทั้งหมดทั้งมวล แน่นอนว่าในแง่ดีนำมาซึ่งความสะดวกสบายในชีวิตของประชาชนจีน สามารถยืมเงินแพลตฟอร์มต่าง ๆ ออกมาก่อนเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ เงินสดที่มีอยู่สามารถเอาไปลงทุนหรือใช้ในความจำเป็นด้านอื่น ๆ ก่อนได้ สิ่งของที่อยากได้และมีราคาแพง ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินก้อนอีกต่อไป สามารถซื้อและผ่อนจ่ายกับบริการทางการเงินทางของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้เลย บางทีอาจจะมีโปรโมชั่นผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

แต่ข้อเสียนั้น เนื่องจากสาเหตุการจ่ายเงินและยืมเงินในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นไปอย่างง่ายดาย ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน นำมาซึ่งปัญหาการใช้เงินอนาคตเกินตัวและเกิด “หนี้เสีย” เสียเครดิต บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะความไม่ประเมินการใช้จ่ายของตัวเอง

ในสังคมออนไลน์มีกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหนึ่งดังเป็นพลุแตกในช่วงข้ามคืน มีชื่อว่า “负债者联盟” (อ่านว่า ฟู่ไจ๋เจ้อเหลียนเหมิง) แปลเป็นไทยได้สละสลวยว่า “พันธมิตรคนมีหนี้” กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น จนถึงสิ้นปี 2020 มีสมาชิกแล้วกว่า 3 หมื่นคน

ในเวยปั๋วมีรายงานถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนยุคใหม่ ว่า “ทั้งประเทศจีนมีประชากรที่เกิดในช่วงยุค 90s จำนวน 175 ล้านคน ในจำนวนนี้ 13.4 เปอร์เซ็นต์ไม่มีหนี้ ที่เหลือ 86.6 เปอร์เซ็นต์มีประสบการณ์กู้ยืมเงิน”

นอกจากนี้ธนาคารกลางแห่งชาติจีนได้เคยออกรายงานเมื่อปีที่แล้วกล่าวว่า “จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2020 หนี้เสียเครดิตเงินกู้ส่วนบุคคลของจีนมีมากถึง 85,400 ล้านหยวน มากกว่า 10 ปีที่แล้ว 10 เท่า และกว่าครึ่งเป็นกลุ่มคนยุคใหม่ที่เกิดในช่วงยุค 90s ”

กลับมาที่เรื่องราวของกลุ่ม “พันธมิตรคนมีหนี้” ที่มีสมาชิกกว่า 30,000 คน บางคนอายุยังไม่ถึง 30 ปีติดหนี้รวมทั้งหมดมากกว่า 1 แสนหยวนหรือประมาณ 5 แสนบาท หลายคนแชร์ประสบการณ์จากการ "ไม่มีหนี้" กลายเป็น "หนี้ท่วมหัว" อาทิ โดนหลอก, ทำธุรกิจล้มเหลว, การพนัน, ใช้เงินอนาคตเกินตัว เป็นต้น

จากสถิติภายในกลุ่ม "พันธมิตรคนมีหนี้" ในช่วง 1 เดือน มีสมาชิกโพสต์ข้อความทั้งหมด 844 ครั้ง แสดงจำนวนเงินที่เป็นหนี้กันทั้งหมดรวม 170 ล้านหยวน เฉลี่ยสมาชิกในกลุ่มมีหนี้กันคนละ 3 แสนหยวนหรือล้านกว่าบาท โดยสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่คือกลุ่มอายุ 20-30 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30-40 ปี
สังคมบริโภค ความอยากมี-อยากได้ของคนรุ่นใหม่ ถูกกระตุ้นมากขึ้น การวัดฐานะในสังคมกลายเป็นการใช้ของแบรนด์หรู ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมีมากขึ้น และง่ายขึ้นจากเหตุปัจจัยสนับสนุนเงินกู้แหล่งต่าง ๆ

สถิติของกลุ่มที่มีหนี้สินเชื่อบริโภค ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรายได้ 3,000-5,000 หยวนหรือประมาณ 15,000 - 25,000 บาท และกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาน้อยกว่าหรือเท่ากับปริญญาตรี มีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้สินเชื่อบริโภคมากกว่ากลุ่มอื่น อาจจะเป็นเพราะว่ากลุ่มคนรายได้สูง มีความสามารถในการใช้หนี้และยอมที่จะใช้เงินสดในการจับจ่ายมากกว่า

แต่ข่าวดีอย่างหนึ่งคือ จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา กลุ่มคนยุคใหม่จีนมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากขึ้นโดยในปี 2020 กลุ่มคนอายุ 18-34 ปี ออมเงินเพิ่มเป็น 51 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากปี 2019 ที่มีอยู่ 48 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มคนทำงานหลายคนบอกว่า ตอนนี้ต้องเก็บออมตัวเองให้มาก ต้องรู้เท่าทัน กลยุทธ์ของการถูกชักจูงไปใช้จ่ายเงิน และก่อหนี้สิน

หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ยากลำบากที่สุดของจีนผ่านไป ความต้องการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นลดน้อยลง และเริ่มมุ่งเก็บออมเงินมากยิ่งขึ้น

สรุปคือ ยุคของความเฟื่องฟูเศรษฐกิจออนไลน์จีน มาพร้อมกับบริการทางการเงินนอกเหนือจากบัตรเครดิตที่ต้องอนุมัติโดยธนาคาร ประชาชนจีนเข้าถึงแหล่งเงินออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมมากมาย การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ราคาแพงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป “ใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง ดอกเบี้ยต่ำ” กลายเป็นปัจจัยดูดทรัพย์ เพิ่มหนี้ในสังคมบริโภคนี้ ท้ายที่สุดผู้บริโภคทั้งหลาย ใจต้องแข็ง มีวินัยและมีสติ นั่นเองค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น