"ในสรรพสิ่งล้วนมีจังหวะพิชิต และแพ้พ่าย มีแรงผลักสู่โอกาสความได้เปรียบ กับแรงกดให้พลิกคว่ำ" ซึ่งดูเหมือนว่า สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ผู้มีความรอบรู้และศึกษาพิชัยสงครามซุนวู จะเป็นผู้ที่เข้าใจในสภาวะนี้อย่างดีกับสถานการณ์ของจีนและโลกในยุคหลังโรคระบาด
ถ้อยแถลงของสี จิ้นผิง ล่าสุด ในระหว่างการประชุมระดับสูงเมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ก็สะท้อนหลักคิดในหลายบทของพิชัยสงครามซุนวู กับสถานการณ์จีนกับโลก ได้แก่ จุดอ่อนจุดแข็ง เข้ารบเมื่อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้าศึกเมื่อฮึกเหิม จู่โจมเมื่อข้าศึกเกียจคร้านอิดโรย และความสามารถในการปรับตัว ปรับตามเงื่อนไขของโอกาสและอุปสรรค อาจใช้วิธีที่แตกต่าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างเดียวกัน
ในระหว่างการประชุมระดับสูงเมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคม สี จิ้นผิง กล่าวเรียกร้องความเชื่อมั่นและความมั่นใจท่ามกลางความท้าทายระดับโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สี จิ้นผิง กล่าวเชื่อมั่นว่า "เวลาและแรงผลักกำลังเข้าทางฝั่งจีน"
คำพูดของ สี จิ้นผิง ในที่ประชุม เป็นที่ทราบว่า เหมือน"ผลึก" มากกว่า "น้ำ"
สี จิ้นผิง กล่าวถึง "เวลาและแรงผลักกำลังเข้าทางฝั่งจีน" นี้ ว่าไปก็คือการกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานเดินทัพไปถึงสนามรบพร้อมกัน เพราะหาไม่แล้ว ก็คงเป็นตามที่ซุนวู กล่าวว่า "ปีกซ้ายมิอาจช่วยปีกขวา ปีกขวามิอาจช่วยปีกซ้าย แนวหน้ามิอาจช่วยส่วนหลัง ส่วนหลังก็มิอาจช่วยแนวหน้า ที่อยู่ใกล้เพียงสิบลี้กลับเหมือนอยู่ไกล"
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้วางวิสัยทัศน์ของเขาสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ในอีกสามทศวรรษข้างหน้า โดยเรียกร้องให้มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในการเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน
"แม้จะมีความท้าทายต่าง ๆ เช่น การระบาดของไวรัสโคโรนา การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำกับตะวันตกและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว" สีกล่าว และย้ำว่า
“โลกอยู่ในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในศตวรรษที่ผ่านมา ... แต่เวลาและแรงผลักดันอยู่ข้างเรา”
สี จิ้นผิง กล่าวกับคณะกรรมการโปลิตบูโร และรองประธานาธิบดีหวัง ฉีซาน ในการประชุม ทั้งให้ความมั่นใจและให้พิจารณาสภาพการณ์ เกี่ยวกับแผนระยะกลางและระยะยาวของจีนสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจถึงปี 2568 ว่า
“ในขณะเดียวกันเราต้องเห็นอย่างชัดเจนตรงกันว่า ในตอนนี้และจนถึงช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึงนี้ เราอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของโอกาส แต่โอกาสของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอกับความท้าทาย”
สตีฟ ซัง ผู้อำนวยการ SOAS China Institute แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าวกับเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ ว่า "คำพูดของสี แสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากโลกที่ตกอยู่ในความผันผวน และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถพลิกโฉมระเบียบโลกได้"
“สีเป็นคนมองโลกในแง่ดีและรอบคอบ เขามองว่าสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปและการพัฒนาเป็นไปในเชิงบวกสำหรับจีน แม้จะมองเห็นความท้าทาย ปัจจัยลบ แต่รู้สึกมั่นใจว่าจีนในยุคของเขาจะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดได้” ซัง กล่าว
สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญกับความสามารถในการปรับตัว ว่า “โอกาสและความท้าทายเหล่านี้ มีความเปิดกว้างมาก เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่โดยรวมแล้วจะเป็นโอกาสมากกว่า เป็นความท้าทายของเรา”
"จีนอยู่ในจุดตัดและกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุ“ เป้าหมายร้อยปี” สองประการสำหรับจีน ด้วยการเป็น“สังคมแห่งความอยู่ดีมีสุข” ภายในสิ้นปีนี้ (2564) ขจัดความยากจนทั่วประเทศและเพิ่มจีดีพีและรายได้ต่อหัวของประชากรเป็นสองเท่าจากปี 2553
และเป็นประเทศสังคมนิยมยุคใหม่ที่มีความมั่งคั่ง มั่นคง เสมอภาค ปรองดอง และก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2592 ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งครบหนึ่งร้อยปี นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนกว่าพันล้าน พลิกชีวิตสู่ความรุ่งเรืองในระยะเวลาอันสั้น
การบรรลุเป้าหมายร้อยปีทั้งสองประการนั้นสำคัญกับ "ความฝันจีน" (Chinese Dream) อันเป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยสี จิ้นผิง ในปี 2555 ที่ต้องการนำพาชาติสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ 'การฟื้นฟูจีนครั้งใหญ่' ภายในปี 2592
ในคำกล่าวของสี ยังเน้นย้ำกลยุทธ์ "หมุนเวียนเศรษฐกิจคู่ขนาน" ซึ่งประกาศครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางความท้าทายระดับโลกที่เกิดจากการระบาดใหญ่และการเติบโตที่ชะลอตัวของจีน
กลยุทธ์ "หมุนเวียนเศรษฐกิจคู่ขนาน" (Dual Circulation) นี้จะเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นการพึ่งพาการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสองกระแสควบคู่และเกื้อหนุนกัน คือ การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ (Internal Circulation) และ การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ (External Circulation) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสำคัญ
“เพียงแค่พึ่งพาตนเองและพัฒนาตลาดในประเทศและทำให้การไหลเวียนภายในเป็นไปอย่างราบรื่น เราจะสามารถเติบโตและพัฒนาได้ด้วยตนเอง” สีกล่าว
ทั้งนี้ สี จิ้นผิง ไม่ได้ระบุรายละเอียดนโยบายที่จีนจะใช้ แต่สิ่งที่เขาประกาศคือ "ตอนนี้เงื่อนไขสุกงอมแล้ว”
แม้นานาชาติจะพยายามเร่งวัคซีนเพื่อกำจัดโควิดให้สิ้นในปีนี้ แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือโลกยุคหลังโควิด-19 ที่ไม่เหมือนเดิม โควิด-19 ทำให้สหรัฐอเมริกาทิ้งบทบาทความเป็นผู้นำโลกที่ดี เผชิญกับความแตกแยกทางสังคมที่เหลื่อมล้ำในประเทศ และเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่พ้น นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวยอมรับว่า "กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า ในระยะใกล้นี้ วิกฤตด้านสาธารณสุขจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ และวิกฤตดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง"
ด้านสหภาพยุโรปเผชิญวิกฤต ‘งบประมาณ’ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด หนีไม่พ้นประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เช่น อิตาลี สเปน กรีซ โปรตุเกส ฮังการีและโปแลนด์ แน่นอนว่าวิกฤตงบประมาณยังมีผลกระทบทางการเมือง สะท้อนความอ่อนแอและขาดความเป็นเอกภาพของอียูเองด้วย
ขณะที่ ญี่ปุ่น มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก อีกราย ก็รอเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจครั้งมโหฬารกว่าใคร จากภาระของการเป็น "เจ้าภาพโอลิมปิกประวัติศาสตร์" ที่ยังไม่รู้อนาคต
จวง เต้อสุ่ย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ จริยธรรมชุมชน แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่าสุนทรพจน์ของ สี จิ้นผิงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของเขาในระบบการเมืองและการพัฒนาของจีน
“จากคำพูดของเขา เราจะเห็นว่าปักกิ่งมีความมั่นใจอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของจีนและมาตรการตอบสนองทุกประเภท มุ่งมั่นที่จะเดินตามเส้นทางของตัวเองโดยไม่ได้รับผลกระทบจากโลกภายนอก เนื่องจากมีสถานการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษ”
จวง เต้อสุ่ย ยังเห็นว่าในปีข้างหน้านี้ สี จิ้นผิง กำหนดทิศทางให้ความสำคัญกับปัญหาภายในประเทศและปรับปรุงชีวิตของชาวจีนมากกว่าเรื่องระหว่างประเทศ
เผิง เผิง รองประธานของสมาคมวิจัยการปฏิรูประบบมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่าคำกล่าวของสี บ่งบอกถึง โมเมนตัมใหม่ของจีน ในขณะที่สหรัฐฯ ตกอยู่ในความโกลาหลท่ามกลางการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ