กลุ่มสื่อต่างชาติ รายงาน (11 ม.ค.) จีนพบร้อยละ 76 ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลจนหายแล้วมีปัญหาสุขภาพระยะยาว
รายงานระบุว่า แม้ผู้ป่วยเหล่านั้นจะออกจากโรงพยาบาลแล้ว 6 เดือนก็ยังมีอาการไม่ปกติของร่างกาย โดยร้อยละ 63 มีอาการอ่อนเพลีย ร้อยละ 26 นอนหลับได้ยาก และร้อยละ 33 มีสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาในตับ ซึ่งจะนำมาสู่โรคต่าง ๆ รวมถึงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ผู้ป่วยหลายร้อยคนมีร่องรอยคล้ายกระจกฝ้าในเนื้อเยื่อปอด ทำให้หายใจได้สั้นกว่าปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถใจได้ลึกขนาดที่ไม่สามารถทำการทดสอบการทำงานของปอดได้เลย
ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยยังคงมีภาวะเครียด ซึ่งนักวิจัยยังไม่สามารถระบุว่าเกิดจากความเสียหายของเซลล์ประสาทหรือจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่เคยประสบมา
นอกจากนี้ ระดับแอนติบอดี้ในร่างกายของผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานโรคต่าง ๆ ได้ในอนาคต
ก่อนหน้านี้ หลายประเทศได้ศึกษาผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 ซึ่งพบอาการที่หลากหลายตั้งแต่ผมร่วงไปจนถึงโรคหัวใจ อย่างไรก็ดี การศึกษาของจีนในครั้งนี้เป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดรวมทั้งสิ้นกว่า 1,733 คน
ราวร้อยละ 15 ของกลุ่มผู้ป่วยปฏิเสธที่จะเข้าโครงการศึกษาผลกระทบระยะยาว ขณะที่อีกร้อยละ 15 เสียชีวิตหรือเจ็บป่วยเกินกว่าจะเข้าโครงการจากโรคหัวใจ โรคปอดหรือโรคไต
อย่างไรก็ดี นาย Giuseppe Remuzzi ศาสตราจารย์ด้านวักกวิทยา (ไต) ของสถาบัน Istituto Mario Negri ในอิตาลีเห็นว่า ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณในการอ่านผลการวิจัยดังกล่าว เนื่องจากเป็นการศึกษาด้วยการคัดกรองอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้ผลการวิจัยคลาดเคลื่อนได้