โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
ข่าวเด่นในจีนช่วงปลายปี 2020 หนีไม่พ้นเรื่อง “การลงดาบอาลีบาบา” โดยเฉพาะในส่วนของแพลตฟอร์มการเงินออนไลน์อาลีเพย์ของ แอนต์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการธุรกิจการเงินออนไลน์ของอาลีบาบา ที่ทางรัฐบาลจีนจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษนำโดยสำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติและธนาคารกลางแห่งชาติจีน โดยมีสองประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องคือ ระบบการเงินของประเทศและสัญญาการร่วมมือของแพลตฟอร์มอาลีบาบากับผู้ค้าแบบ “2 เลือก 1” หมายถึงหากเซ็นสัญญานำสินค้ามาวางขายในแพลตฟอร์มอาลีบาบาแล้วไม่สามารถเอาไปเสนอขายในแพลตฟอร์มอื่นได้อีกซึ่งตรงนี้เข้าข่ายการผูกขาดตลาด
เรื่องราวของการตรวจสอบบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่รัฐบาลจีนสั่งยุติแผนการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณะ (IPO) ของแอนต์ กรุ๊ป ซึ่งตอนนั้นเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลกเพราะหากแอนต์ กรุ๊ป ขึ้นตลาดหลักทรัพย์สำเร็จจะกลายเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณะครั้งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะมีจำนวนเงินระดมทุนเข้าซื้อมากถึง 34,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ข่าวในจีนลือกันหนาหูว่าเหตุผลที่รัฐบาลแตะเบรกการเข้าตลาดหุ้นของแอนต์ กรุ๊ป เป็นเพราะการที่แจ็ค หม่าไปพูดแสดงความคิดเห็นของตนในการประชุมการเงินออนไลน์ การประชุมบันด์ ซัมมิตที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนต.ค. โดยผู้เขียนเองได้ไปหามาฟัง ความยาวประมาณ 20 นาที โดยสรุปแจ็ค หม่าได้กล่าวถึงการพัฒนาของระบบการเงินออนไลน์ของอาลีเพย์ การปล่อยเงินกู้โดยใช้เครดิตส่วนบุคคลของผู้ใช้ โดยใช้บิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยประมวลผล ซึ่งเป็นวิธีการใหม่และเป็นแนวทางใหม่ของการพัฒนาในอนาคต การตรวจสอบต่างๆต้องตามให้ทัน ไม่ยึดติดกับการพัฒนาแบบรูปแบบเก่า เป็นต้น
หลังจากการวิจารณ์ของหม่า ก็มีกระแสด้านลบออกมาต่างๆนานา แน่นอนว่ารัฐบาลมองว่าประเด็นที่แจ็ค หม่ากำลังปฏิบัติหลายเรื่องมีความสุ่มเสี่ยง เพราะการปล่อยเงินกู้ให้ประชาชนในวงกว้างผ่านแพลตฟอร์มอาลีเพย์ โดยอ้างอิงจากแค่เครดิตส่วนบุคคลของผู้ใช้ ไม่มีการวางทรัพย์สินประกันเพื่อกู้เงินเหมือนกับระบบธนาคาร ปัญหาที่ตามมาคือ การปล่อยเงินกู้รายย่อยที่ง่ายและมากเกินไป อย่างเด็กนักเรียนมัธยมหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีใช้อาลีเพย์และมีคะแนนเครดิตที่ดีก็สามารถแปลงเครดิตเป็นเงินเพื่อเอาไปใช้จ่ายได้(อาจจะเป็นต้นเหตุให้เยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากเป็นหนี้เกินตัว อาจจะเกิดค่านิยมการใช้เงินฟุ่มเฟือยในสังคม) อย่างเพื่อนของผู้เขียนฐานเงินเดือนจริง 8,000 หยวน แต่ใช้บริการยืมเงินในอาลีเพย์บ่อย ทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน จ่ายค่าเช่าบ้าน ผ่อนคอมพิวเตอร์ ผ่อนมือถือ ทำให้เพื่อนของผู้เขียนรายนี้มีเครดิตรายเดือนในอาลีเพย์อยู่ 50,000 หยวนหรือเกือบ 2.5 แสนบาทเลยทีเดียว!!! ตรงนี้เองผู้เขียนมองว่าเป็นเหมือน “ดาบสองคม” มีทั้งด้านดีและด้านเสีย มีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากมาย แต่การกู้ยืมยืมเงินอย่างไร้ความควบคุมก็นำมาสู่หายนะ
นอกจากนี้แล้วอาลีเพย์ยังมีประเด็นเรื่องของการนำสัญญาเงินกู้ส่วนบุคคลของประชาชนออกไปกู้เงินต่อในตลาดการเงิน กู้เงินอีกก้อนออกมาหมุนเวียน และเอาเงินที่กู้ออกมาได้รอบสองไปกู้เงินออกมารอบสามรอบสี่อีก ทำให้ขนาดของเงินมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะการหมุนเงินแบบนี้ในระบบการเงินออนไลน์ของอาลีเพย์ ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า ABS หรือ Asset-backed Securities ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่สูงที่จะเกิดฟองสบู่ทางการเงินแตกเพราะเป็นเงินที่กู้มาแล้วไปใช้กู้ต่ออีก
ส่วนในประเด็นของพฤติกรรมการผูกขาดตลาดของอาลีบาบา “2 เลือก 1” เริ่มมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา อาลีบาบา และทีมอลล์ (Tmall) เคยถูกร้องเรียนและฟ้องร้องหลายครั้ง เกี่ยวกับการบังคับผู้ค้าให้เลือกฯ จนเป็นประเด็นว่าเพราะความยิ่งใหญ่เกินไปของอาลีบาบานำมาสู่เงื่อนไขผูกขาด จำกัดอิสระทางการตลาดของผู้ค้า
ในการนัดคุยของทางการจีนกับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่นี้ ไม่ได้นัดคุยแค่อาลีบาบาเท่านั้น ทั้งเทนเซนท์ (Tencent) จิงตง (JD.Com) พินตัวตัว (PIN DUODUO) ตีตี (DiDi) และ เหมยถวน(Meituan) ยังถูกเรียกมาคุยและตักเตือนเพื่อที่หากมีข้อผิดพลาดต้องรีบปรับปรุง จริงๆแล้วหลายคนมองว่าที่รัฐบาลลงดาบกับอาลีบาบาคราวนี้เปรียบเสมือน “เชือดไก่ให้ลิงดู” ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บริษัทอื่นๆ พร้อมกับให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ปรับทัศนคติที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐและคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริงเป็นหลัก
เรื่องของอาลีบาบาปัจจุบันเป็นหนึ่งคดีใหญ่ที่กำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบ โดยตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาที่จีนเริ่มมีกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ยังไม่เคยมีบริษัทไอทียักษ์ใหญ่รายไหนถูกตรวจสอบ อาลีบาบาถือเป็นบริษัทรายใหญ่รายแรกที่ถูกตรวจสอบตั้งแต่มีกฎหมายฯนี้ขึ้นมา ปัจจุบันจีนมีกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กินรวบส่วนแบ่งตลาดอยู่ไม่กี่ราย อาทิ “ตีตี” บริษัทเรียกรถออนไลน์เกือบจะเป็นหนึ่งเดียวในตลาด กินรวบเบ็ดเสร็จ ในภาคการจ่ายเงินออนไลน์ก็มี “อาลีเพย์” และ “วีแชทเพย์” สองเจ้าครองตลาดที่มีการแข่งกันอย่างดุเดือด ซึ่งในอีกไม่นานน่าจะลดความร้อนแรงลงเพราะจีนกำลังจะเริ่มใช้เงินหยวนดิจิตัลที่รัฐบาลเป็นประกันทั่วประเทศ ส่วนตลาดแข่งแข่งการส่งอาหาร (ดิลิเวอรี่) “เหมยถวน” และ “เอ้อเลอมะ” (E leme) เป็นสองเจ้าใหญ่ในตลาด
นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทียังเริ่มลงมาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีก ตลาดขายส่งผักและผลไม้สดสู่ประชาชน โดยใช้ข้อได้เปรียบของเงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามาทำแอพซื้อขายผักผลไม้สดโดยมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมให้ลูกค้ามากมาย ทางด้านของต้นน้ำหมายถึงเกษตรกรผู้ผลิตก็ลงออเดอร์ซื้อขาดในจำนวนมหาศาลกับเกษตรกร ยังมีให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมและเอาสินค้าผักผลไม้ไปเสนอขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ของตน คนก็แห่ไปซื้อสินค้าออนไลน์กันหมด ทำให้แม่ค้ารายย่อยในตลาดได้รับผลกระทบ จนทางการจีนออกมาตำหนิเตือนว่าไม่ควรมาแย่งตลาดเงินเล็กเงินน้อยกับกำไรมีไม่กี่หยวนกับประชาชน แต่ควรนำศักยภาพที่มีไปพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์เชิงมหภาคและประเทศชาติจะดีกว่า เป็นต้น
หลังจากนี้ไปรัฐบาลจีนจะตรวจสอบกลุ่มบริษัทไอทีมากยิ่งขึ้นในเรื่องพฤติกรรมการผูกขาดตลาด เพราะที่ผ่านมาเติบโตกันอย่างรวดเร็ว ไม่มีการดูแลจัดการจริงๆจังๆ การตรวจสอบหละหลวม ต่อไปรัฐบาลจะเข้ามาจัดระบบและระเบียบให้การเติบโตของบริษัทเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับแผนการพัฒนานโยบายของประเทศมากขึ้น หลายคนมองว่าระบบการตรวจสอบของรัฐบาลต่อบริษัทไอทีต่างๆจะกลายเป็นอีก “ความปกติใหม่” (New Normal) อีกทั้งยังมีเรื่องของประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่อยู่ในมือบริษัทเอกชนเหล่านี้มากเกินไปก็จะเกิดความไม่ปลอดภัย สามารถถูกเอาไปใช้ต่อในด้านธุรกิจหรือเกิดการรั่วไหลต่อได้