โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
วันนี้ผู้เขียนขอพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในมุมของการเติบโตมหภาค ท่านที่ติดตามเรื่องของจีนอยู่จะทราบว่าจีนแบ่งโซนของประเทศเป็นในภาพใหญ่ออกเป็นเหนือและใต้ โดยอ้างอิงตามภูมิศาสตร์ของประเทศใช้เส้นแบ่งจากแนวสันเขาฉินหลิง (秦岭: Qin Ling) ทางตะวันตกของประเทศที่ทอดตัวเป็นแนวยาวไปทางด้านตะวันออก และมีสายแม่น้ำไหวเหอ (淮河:Huai He) ต่อออกไปสู่ทะเลด้านเหนือของเซี่ยงไฮ้ โดยแนวสันเขาฉินหลิงมีความยาวทั้งหมด 1,600 กิโลเมตรต่อด้วยสายแม่น้ำไหวเหอมีความยาวทั้งหมด 1,252 กิโลเมตร จากเกณฑ์การแบ่งดังกล่าวจึงถือว่าปัจจุบันเมืองเศรษฐกิจของจีนอย่าง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง ซูโจว หางโจว ถือเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเพราะอยู่ใต้สายแม่น้ำไหวเหอ
ทั้งนี้มาตรฐานการแบ่งเหนือ-ใต้ของจีนที่มีมาไม่ใช่จะอ้างอิงแต่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศเท่านั้น ในด้านของภูมิอากาศ(จากเส้นแบ่งนี้เมืองทางตอนเหนือหมายถึงเขตมณฑลที่อยู่ทางเหนือของแนวสันเขาฉินหลิงและสายแม่น้ำไหวเหอ รัฐบาลจะจัดระบบการปล่อยน้ำร้อนจากส่วนกลางผ่านท่อส่งถึงบ้านเรือนประชาชนเพื่อให้ความร้อนในบ้านในหน้าหนาว ซึ่งบ้านเรือนที่อยู่ทางด้านใต้จะไม่มี ต้องเปิดแอร์หรือเครื่องทำความร้อนในบ้านเอาเอง) การเกษตรเพาะปลูก การดำรงชีวิต ความเคยชินและนิสัยของผู้คนก็ต่างกันมากพอสมควร คนจีนเองก็จะชอบแบ่งเหมือนกันว่าเป็นคนเหนือหรือคนใต้ เพราะลักษณะนิสัยโดยรวมที่ต่างกันและมีวัฒนธรรมความเคยชินในหลายด้านที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ในบางครั้งคนเหนือคนใต้จะมีการเหยียดกันไปมาอยู่บ้าง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นได้บ่อยๆในโซเชียลมีเดียจีน
เมื่อต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมาทางการจีประกาศเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 10 อันดับแรกของสามไตรมาสแรกในปีนี้ ปักกิ่งเป็นเมืองเดียวของทางฝั่งเหนือที่ได้เข้าไปอยู่ในการจัดอันดับนี้ ที่เหลือ 9 เมืองล้วนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ทั้งสิ้น โดยอันดับเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีดังต่อไปนี้ 1.เซี่ยงไฮ้ 2.ปักกิ่ง 3.เซินเจิ้น 4.ฉงชิ่ง 5.กว่างโจว 6.ซูโจว 7.เฉิงตู 8.หางโจว 9.หนานจิง และ 10.อู่ฮั่น เมืองที่มีศักยภาพค่อนข้างสูงทางตอนเหนืออย่างเมืองเทียนจินก็ไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของปีนี้และเป็นปีแรกที่เทียนจินตกกระป๋องถูกนำขึ้นมาโดยอู่ฮั่น คนจีนบางกลุ่มกล่าวกันว่า “ศักราชใหม่ของจีนตอนใต้กำลังจะเริ่มขึ้น” ในปี 1978 ที่จีนเพิ่งเปิดประเทศ ขนาดเศรษฐกิจ 10 อันดับแรกมีเมืองทางตอนเหนือ 6 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เฉินหยาง ต้าเหลียน ฮาร์บิน และชิงเต่า หลังจาก 40 กว่าปีผ่านไปกลายเป็นว่า มีแต่ปักกิ่งเท่านั้นที่ยังอยู่ในการจัดอันดับฯ ที่สำคัญคือในต้นปีนี้ทุกเมืองทั้งประเทศของจีนต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 อู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางระบาดโควิด-19 กลับฟื้นฟูตัวเองอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในเมือง 10 ลำดับที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของประเทศ แสดงถึงเมืองอู่ฮั่นมีศักยภาพและพื้นฐานที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิม ถึงแม้ว่าต้นปีจะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็สามารถพลิกกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
จากประวัติศาสตร์ของจีนที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่โบราณเศรษฐกิจของเมืองทางตอนใต้จะดีกว่าเมืองทางตอนเหนือเสมอ จีนมีคำพูดที่ว่า “南强北弱” อ่านว่า หนันเฉียงเป่ยรั่ว ตั้งแต่สมัยสามก๊กการพัฒนาและการเคลื่อนย้ายคนเริ่มไปทางตอนใต้ พอเข้าถึงราชวงศ์ถังช่วงที่รุ่งเรืองมากที่สุด เมืองหยางโจวและเฉิงตูที่เป็นเมืองทางตอนใต้กลายมาเป็นเมืองที่ความรุ่งเรืองตีตื้นขึ้นมาเทียบเท่ากับเมืองทางตอนเหนือที่เป็นศูนย์กลางการปกครองในสมัยนั้น(ศูนย์กลางอยู่ที่ซีอาน) ต่อมาในช่วงราชวงศ์ซ่งเริ่มมีการพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนใต้อย่างกว้างขวางเนื่องจากการค้าต่างประเทศในสมัยนั้น หลายเมืองในช่วงเวลานี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วได้แก่ ฝูเจี้ยน กว่างโจวและฉวนโจว ซึ่งในขณะนั้นเมืองเหล่านี้เป็นศูนย์กลางของการออกเรือ ค้าขายทางทะเล หลังจากนั้นเป็นต้นมา ฐานทางเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งกระจุกอยู่ทางตอนใต้และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจทางตอนเหนือจะพลิกกลับมานำได้ยาก อย่างในสมัยราชวงศ์หมิงตอนแรกจะตั้งเมืองหลวงไว้ที่หนานจิงแต่เพราะพิจารณาถึงความบาลานต์ของเหนือใต้ และการปกครองมหภาค ทำให้สุดท้ายกลับไปตั้งเมืองหลวงที่ปักกิ่ง และหลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิง อำนาจตกอยู่ในมือของเจียงไคเช็ค ขณะนั้นบริเวณเจ้อเจียงและเซี่ยงไฮ้ เป็นเหมือนขุมทรัพย์ของเขา หากว่าญี่ปุ่นจะเข้ามารุกรานทางตะวันออกเฉียงเหนือจีนหรือทางตอนเหนือไม่เป็นไร แต่หากว่าจะมารุกรานทางตอนใต้เจียงไคเช็คจะปกป้องด้วยชีวิต!
ตั้งแต่ปีก่อตั้งจีนใหม่ 1949 จนถึงปัจจุบัน 70 กว่าปี ในช่วงเริ่มต้นดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของทางตอนเหนือจะนำตอนใต้ขึ้นมาอยู่บ้าง เพราะรัฐบาลตั้งเมืองหลวงอยู่ในเมืองปักกิ่ง พร้อมทั้งอุตสาหกรรมหนักของจีนทางตอนเหนือแข็งแกร่งกว่าตอนใต้ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นไปทางด้านอุตสาหกรรมหนัก โดยรวมทางตอนเหนือจะแข็งแกร่งกว่าตอนใต้ หลังจากนั้นในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเพราะมลภาวะที่รุมเร้าทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจควบคุมการปล่อยของเสียของโรงงานอุตสาหกรรมหนักพวกนี้ แน่นอนว่าสุดท้ายก็กระทบกับศักยภาพการผลิตและการเติบโตที่มีข้อจำกัดตรงนี้อยู่ และในปัจจุบันทางตอนเหนือของจีนพยายามที่จะเบนเข็มไปพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงประเภทต่างๆอย่างครบวงจร
หลังจากการปฎิรูปเศรษฐกิจเป็นต้นมา การพัฒนาของเมืองทางตอนใต้กลับมาชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกครั้ง จากที่การพัฒนาเมืองชายฝั่งทะเล ทำให้เมืองชายฝั่งหลายเมืองทางตอนใต้ร่ำรวยขึ้นมาประชาชนกินดีอยู่ดี จากที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้นปี 1978 ขนาดเศรษฐกิจ 10 อันดับแรกของจีนเมืองตอนเหนือมี 6 เมือง ต่อมาปี 1999 เมืองทางเหนือที่ติอการจัดอันดับขนาดเศรษฐกิจใหญ่สิบเมืองเหลืออยู่เพียง 2 เมืองคือปักกิ่งและเทียนจิน ในปีนี้ 2020 เหลืออยู่แค่ปักกิ่งเท่านั้น
ในด้านของการใช้ชีวิตคนจีนที่อยู่ทางตอนใต้ต้นทุนในการดำรงชีวิตจะถูกกว่าทางตอนเหนือ ตั้งแต่เรื่องของการกินอยู่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยต้องเสียค่าบริการการให้ความร้อนในบ้านที่ต้องจ่ายทุกๆปี ค่าใช้จ่ายแค่ตรงนี้ก็เกือบหมื่นบาทต่อปี ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะย้ายไปกระจุกตัวในเมืองที่เหมาะกับการทำงานและใช้ชีวิต ต่อมานักลงทุนก็จะไปลงทุนก่อสร้างในภูมิภาคที่มีคนกระจุกตัวอยู่เยอะ การพัฒนาก็ตามเข้ามา อย่างเช่นตะวันออกเฉียงเหนือของจีนติดกับเกาหลีเหนือ เป็นโซนอากาศหนาวเย็น เศรษฐกิจแต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยจะดีนักเทียบกับที่อื่นๆ คนตะวันออกเฉียงเหนือจีนส่วนใหญ่วัยแรงงานจะลงมาทางใต้ อย่างปักกิ่งก็มีคนตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เยอะ เพราะเศรษฐกิจและโอกาสที่ดีกว่า เพราะเหตุนี้ทำให้การพัฒนาของพื้นที่ถดถอยลงเรื่อยๆ
รัฐบาลจีนตระหนักถึงปัญหานี้ไม่นิ่งดูดายเพราะการพัฒนาของทั้งประเทศที่ไม่สมดุลจะนำมาซึ่งปัญหาด้านต่างๆในอนาคต ดังนั้นในทางเหนือพยายามที่จะสร้างกลุ่มเมืองให้เชื่อมต่อกันอย่างเช่น ปักกิ่งเชื่อมเหอเป่ย พยายามสร้างเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือให้เชื่อมต่อกับการร่วมมือเส้นทางสายไหมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทางตะวันออกเฉียงเหนือพัฒนากลุ่มเมืองอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นมีการประเมินว่าในอนาคตเศรษฐกิจของเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ของจีนจะนำโด่งในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในบริเวณเมืองลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ ฮ่องกง มาเก๊า และเขตการค้าเสรีเกาะไห่หนาน เป็นต้น