สำนักข่าวซินหัวรายงาน, 16 ธ.ค. — คณะนักโบราณคดีในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน เปิดเผยการค้นพบนาข้าวยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดมหึมา ซึ่งมีความเก่าแก่สูงสุดมากกว่า 6,000 ปี ในเมืองอี้ว์เหยา
สถาบันโบราณคดีและวัตถุทางวัฒนธรรมเจ้อเจียง ระบุว่านาข้าวโบราณดังกล่าวได้เผยข้อมูลเชิงลึกที่มีความสลักสำคัญเกี่ยวกับสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบแม่น้ำแยงซีตอนล่าง
นาข้าวแห่งนี้มีอายุแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยผืนนาเก่าแก่ที่สุด ซึ่งประกอบด้วยคันดินลักษณะโค้งนูน มีอายุราว 4,300 ปีก่อนคริสตกาล ตรงกับช่วงแรกของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ในยุคหินใหม่ ส่วนผืนนาอีกแห่งที่ค่อนข้างใหม่กว่า มีอายุราว 3,700-3,300 ปีก่อนคริสตกาล โดยนักวิจัยพบทั้งคันดินเทียมและคันดินธรรมชาติ ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรหรือแบ่งเขตแดน
นอกจากนั้นนักโบราณคดีพบคันดินที่มีรูปร่างคล้ายคลึงเครื่องหมาย “#” ในผืนนาอายุน้อยที่สุด ซึ่งมีอายุราว 2,900-2,500 ปีก่อนคริสตกาล ตรงกับช่วงยุควัฒนธรรมเหลียงจู่ โดยผืนนาบางส่วนประกอบด้วยทางสัญจรและระบบชลประทานอันสมบูรณ์
ทั้งนี้ สถาบันฯ เสริมว่าการค้นพบนาข้าวโบราณบ่งชี้ว่าการทำนาเคยเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจในสมัยวัฒนธรรมจีนยุคแรก อาทิ เหอหมู่ตู้และเหลียงจู่