xs
xsm
sm
md
lg

ไอริส จาง: “การลืมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งที่สอง” ...เหตุที่พึงรำลึกถึง “การข่มขืนแห่งนานกิง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปกหนังสือ The Rape of Nanking: The Forgotten Holocaust of World War II   กับภาพ ไอริส จางผู้เขียน
ภายในห้องจัดแสดงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของอนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงโดยผู้รุกรานชาวญี่น (Memorial Hall of the Victims in the Nanjing Massacre by Japanese Invaders) มีรูปปั้นหญิงสาวผู้หนึ่งตระหง่านอยู่ภายในห้อง เธอคือ ไอริส จาง ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้เขียนหนังสือ The Rape of Nanking ชื่อหนังสือเล่มนี้ถูกนำมาเรียกขานเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงว่า “การข่มขืนแห่งนานกิง”
ในเช้าวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) ที่ผ่านมา จีนจัดพิธีรำลึก ‘เหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง’ ณ จัตุรัสอนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงโดยผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น นครหนันจิง หรือนานกิง มณฑลเจียงซู เพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่ถูกทหารกองทัพญี่ปุ่นสังหารโหดในช่วงเวลาเพียง 6 สัปดาห์…ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึง “ไอริส จาง” ไปด้วย

ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนขอเรียกเมืองหนันจิงซึ่งเป็นสำเนียงจีนกลาง ว่า “นานกิง” ตามแบบที่เรียกขานกันจากประวัติศาสตร์สงคราม

เมื่อ 83 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นได้บุกยึดนานกิง โดยเข้ายึดครองเมืองในวันที่ 13 ธันวาคม ปีค.ศ. 1937 เข่นฆ่าสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดเหี้ยมจนถึงต้นปี 1938 ระหว่างนั้นทหารญี่ปุ่นได้สังหารพลเรือนและทหารที่ไร้อาวุธด้วยวิธีการอำมหิตหลากหลายรูปแบบ ทั้งทำร้ายทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ข่มขืน จากข้อมูลตัวเลขทางการจีนระบุจำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฯ ถึง 300,000 คน


ไอริส จาง (Iris Chang) ได้อุทิศชีวิตสืบเสาะรวบรวมข้อมูลเพื่อตีแผ่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงผ่านหนังสือThe Rape of Nanking: The Forgotten Holocaust of World War II หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งหลังจากที่ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกวางตลาดเมื่อปี 1997 และทำให้ ไอริส จาง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงประวัติศาสตร์


The Rape of Nanking มีการแปลฉบับภาษาไทย ชื่อหนังสือ ‘หลั่งเลือดที่นานกิง’ แปลโดย ฉัตรนคร องคสิงห์

ไอริส จาง กับหนังสือ The Rape of Nanking: The Forgotten Holocaust of World War II
จากชื่อหนังสือ...จางมองว่าการสังหารหมู่ที่นานกิงอย่างโหดเหี้ยมนั้นเป็น “พันธุฆาต” (Holocaust ) เช่นเดียวกับที่ผู้นำลัทธินาซีฮิตเลอร์สังหารล้างเผ่าพันธุ์ยิว เธอชี้ว่า“การลืมการล้างเผ่าพันธุ์ คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งที่สอง” นี่คือ ความคิดความเชื่อที่สร้างปณิธานแน่วแน่ให้แก่หญิงเชื้อสายจีนขณะที่เธออยู่ในวัยดอกไม้บาน ความคิดนี้ถูกแปลงเป็นพลังยิ่งใหญ่ให้แก่หญิงสาวในวัยเพียง 29 ปี ในการต่อสู้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญ อุทิศตัวสร้างผลงานเขียนที่สั่นสะเทือนมนุษย์ชาติชิ้นหนึ่ง

The Rape of Nanking ของ ไอริส จาง เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ในช่วงเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมืองนานกิงฉบับภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้เหตุการณ์สังหารหมู่ที่โหดสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาตินี้อย่างรอบด้าน

อีก 7 ปีต่อมาหลังจากที่หนังสือ The Rape of Nanking ออกวางตลาด ไอริส จางได้สร้างความตกตะลึงแก่ชาวโลกอีกครั้ง ด้วยการสังหารตัวเองด้วยลูกปืน! ร่างสาววัย 36 ปี นอนตายอยู่ในรถยนต์บนถนนนอกเมืองเซาท์เบย์ ซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปว่า “ไอริส จางยิงตัวตาย”

ทว่า สิ่งที่ทำร้ายจิตใจเธอจนเสียสติลั่นไกปืนปลิดชีพตัวเองอย่างน่าเศร้าสลดเช่นนี้คืออะไรนั้นยังเป็นปริศนาสำหรับหลายๆคน...บ้างพูดกันว่าการตายของไอริส จาง มีสาเหตุจากอาการทางจิตที่เกิดจากการทำงานหนักรวบรวมข้อมูลที่เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์เพื่อเขียนหนังสือ The Rape of Nanking และการก่อกวนของพวกฝ่ายขวาญี่ปุ่นที่ตามรังควานคุกคามเธอจนเสียสติ


สาวน้อยผู้สวยงาม ชาญฉลาด และชะตาชีวิตที่แสนรันทด

ไอริส จาง ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน เกิดเมื่อปี 1968 ในพรินซีตัน นิวเจอร์ซีย์ มีชื่อจีนว่า จางฉุนหยู (张纯如)พ่อแม่เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแห่งอิลินอยส์ ปู่และย่าเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง

ไอริส จางเติบโตในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งอิลินอยส์ เป็นสาวหน้าตาสวยงาม เป็นนักค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ขยันขันแข็ง ฉลาดปราดเปรื่อง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาหนังสือพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยแห่งอิลินอยส์ปี 1989 และได้เป็นผู้สื่อข่าวในช่วงเวลาสั้นๆที่ชิคาโก ทรีบูน และสำนักข่าวเอพี ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการเขียนที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์ ปี 1990 จากนั้นก็ยึดอาชีพเขียนหนังสือ และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เขียนบทความให้กับนิวยอร์กไทม์ส นิวสวีค ลอสแองเจลิสไทมส์ เป็นต้น

เธอแต่งงานกับดักลัส มีบุตรชายหนึ่งคนคือคริสโตเฟอร์ (ตอนที่จางเสียชีวิต คริสโตเฟอร์อายุเพียงสองขวบ) ชีวิตของไอริส จาง นับเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ดูเป็นที่อิจฉาของผู้คนในฐานะผู้หญิงที่ฉลาดสวยงาม เป็นภรรยาที่แสนดี เป็นแม่ที่น่ารัก ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ได้รับการยกย่องเป็นนักประวัติศาสตร์แถวหน้าและนักต่อสู้รณรงค์สิทธิมนุษย์ชน เป็น ‘แบบอย่างของหนุ่มสาวเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ’

ดอกไม่ไว้อาลัย ไอริส จาง เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2014 ณ สุสานคาทอลิกในลอสอัลตอส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (แฟ้มภาพจากสื่อจีน พีเพิล เดลี)
ทว่า ฝันร้ายเริ่มคุกคามไอริส จาง เมื่อเธอตั้งใจแน่วแน่ว่าจะตีแผ่เหตุการณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นสังหารหมู่ที่นานกิงซึ่งเป็นบ้านเกิดปู่และย่าของเธอ โดยปณิธานนี้เริ่มเพาะตัวอย่างเงียบๆตั้งแต่วัยเด็กเมื่อปู่ได้เล่าประสบการณ์ชีวิตขณะเผชิญกับสงครามที่นานกิง เด็กหญิงจางได้ฟังเรื่องราวสุดอำมหิตจากปู่ว่า “ทหารญี่ปุ่นได้หั่นเด็กทารกเป็นสามท่อน จับผู้ชายมาฝึกฝนการต่อสู้ด้วยดาบ จับผู้หญิงตั้งครรภ์มาแหวกท้อง ลำน้ำในเมืองนานกิงกลายเป็นสีเลือด...”

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวอันน่าสยดสยองเหลือเชื่อจากคำบอกเล่าของปู่ เธอได้ไปที่ห้องสมุดโรงเรียนค้นหาหนังสือที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตอนกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดเมืองนานกิงเพื่อยืนยันสิ่งที่ปู่ย่าเล่าว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่หาไม่เจอสักเล่ม ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1994 ไอริส จางได้เห็นภาพถ่ายเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงเป็นครั้งแรกขณะไปชมงานแสดงภาพถ่ายที่ซิลลิคอนวัลเลย์ ภาพความโหดร้ายของมนุษย์ สร้างความตกตะลึง โกรธแค้นอย่างสุดบรรยาย ในตอนนั้นใกล้วันครบรอบ 60 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง ทว่า มีหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวฉบับภาษาอังกฤษเพียงเล่มเดียวเท่านั้น นอกไปจากนี้แล้วไม่มีหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์สั่นสะเทือนมนุษย์ชาติครั้งใหญ่ที่นานกิงที่เผยแพร่ในระดับสากลเลย

หลังจากนั้นจางใช้เวลาราวสามปีเดินทางไปยังที่ต่างๆทั่วโลก เพื่อค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง เธอได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ ตลอดจนสมุดบันทึกประจำวันอีกจำนวนมาก จดหมาย หนังสือพิมพ์ การสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฯ เป็นต้น ในจำนวนนี้มีเอกสารชิ้นสำคัญคือ สมุดบันทึกของสมาชิกนาซีแห่งเยอรมันจอห์น ราเบ้ (John Rabe)* ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์สงครามในนานกิง โดยสมุดบันทึกเล่มนี้ ได้รับสมญาว่า ‘ฮิตเลอร์แห่งประเทศจีน’

หลังจากที่หนังสือ The Rape of Nankingวางตลาด (ปี 1997) ไอริส จางได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งว่า “นี่เป็นหนังสือที่ฉันไม่เขียนไม่ได้ การเขียนของฉันมาจากความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรม แม้ไม่ได้เงินแม้สตางค์เดียว ฉันก็ไม่สนใจ ฉันต้องการให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นานกิงเมื่อปี 1937 สำหรับฉัน นี่คือ สิ่งสำคัญ”

ในทางกลับกัน ไอริส จางต้องจ่ายราคามหาศาลในการเขียนหนังสือ The Rape of Nanking นั่นคือสภาพร่างกายและจิตใจของเธอเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก ระหว่างการเขียนนี้ เธอมักมี ‘อาการโกรธจนตัวสั่น นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลงฮวบ ผมร่วงมากผิดปกติ’ กระทั่งถูกวินิจฉัยเป็นโรคจิตวิตกกังวลหวาดกลัว และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 5 เดือนในระหว่างที่เธอกำลังเขียนหนังสือเล่มที่สี่ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน

ในช่วงที่ The Rape of Nankingออกใหม่ๆ ชาวจีนคนหนึ่งกล่าวว่า “ไอริส จาง ‘เพียงหนึ่งคน’ ได้รับภาระรับผิดชอบแทนพวกเราทั้งหมดในการบรรลุสิ่งที่พวกเรายังไม่ได้บรรลุตลอด 60 ปีที่ผ่านมา”

ติงหยวนเพื่อนสนิทของไอริส จางเล่าว่า ไอริสมักระบายความคับแค้นต่อเหตุการณ์โหดร้ายน่าเศร้าสลดในนานกิงว่า “ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์โหดเหี้ยมขนาดนี้บนโลกได้? ทำไมคนจึงทำเช่นนี้ได้” –นับเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่...จางคงปรารถนาให้ชาวโลกช่วยกันตอบคำถามเพื่อหยุดความเกลียดชัง การทำร้าย เข่นฆ่าชีวิต เรียนรู้บทเรียนเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า การช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้จะทำให้การบันทึกประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดจากโศกนาฏกรรมของมนุษย์ชาติ ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์

ภาพหนังสือพิมพ์ Tokyo Nichi Nichi Shimbun ตีพิมพ์บทความที่พาดหัวว่า “การแข่งขันสังหารประชาชน 100 คนด้วยดาบ ผู้ทำสถิติยอดเยี่ยม มูกาอิ 106-105…”  (เครดิตภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Nanjing_Massacre)
หมายเหตุ*จอห์น ราเบ้ (Jonh Rabe) เป็นสมาชิกองค์การนาซีแห่งเยอรมนี ที่เข้าไปประจำในเมืองหนันจิงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเห็นเหตุการณ์สงครามในนานกิงจนไม่อาจทานทนได้จึงรวบรวมชาวต่างประเทศกว่า 20 คน จัดตั้งเขตคุ้มครองความปลอดภัยนานกิงซึ่งได้ช่วยชีวิตชาวนานกิงราว 250,000 คน หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ด้วยสถานภาพสมาชิกนาซี จอห์น ราเบ้ จึงถูกดำเนินคดี ไม่มีงานทำ อดอยาก ชาวหนานจิงที่ทราบชะตากรรมของเขาได้ส่งข้าวของอาหารไปให้ ราเบ้ได้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1950

รูปปั้น ไอริส จาง ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้เขียนหนังสือ The Rape of Nanking  ในอนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงโดยผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น (Memorial Hall of the Victims in the Nanjing Massacre by Japanese Invaders) (ภาพจากวิกิพีเดีย


กำลังโหลดความคิดเห็น