กลุ่มสื่อจีน รายงาน วันอังคาร (15 ธ.ค.) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (Chinese National Space Administration-CNSA) เปิดเผยว่ายานสำรวจดาวอังคาร 'เทียนเวิ่น-1' (Tianwen-1) เดินทางห่างจากพื้นโลกมากกว่า 100 ล้านกิโลเมตรแล้ว
ยานสำรวจดาวอังคารลำนี้ประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพโลกเคียงคู่กับดวงจันทร์ อีกทั้งเสร็จสิ้นการปรับวิถีวงโคจรกลางทาง 2 ครั้ง รวมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์ติดตั้งต่าง ๆ บนยานโดยอัตโนมัติแล้ว โดยคาดว่ายานลำนี้จะเดินทางถึงดาวอังคารประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ปัจจุบัน เทียนเวิ่น-1 เดินทางในห้วงอวกาศเป็นเวลานาน 144 วัน ด้วยระยะทางมากกว่า 360 ล้านกิโลเมตร และห่างจากดาวอังคารประมาณ 12 ล้านกิโลเมตร
องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนระบุว่า เทียนเวิ่น-1 จะดำเนินการปรับวงโคจรอีกหลายครั้ง และอาจชะลอความเร็วเพื่อเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ก่อนหน้านี้ เทียนเวิ่น-1 ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพโลกและดวงจันทร์ การปรับวิถีวงโคจร 2 ครั้ง และการตรวจสอบน้ำหนักบรรทุกหลายรายการด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันชาติจีน CNSA เผยแพร่ภาพเซลฟีของยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 โดยเซ็นเซอร์วัดระยะพร้อมเลนส์มุมกว้าง 2 ตัว ที่ติดอยู่ด้านนอกยานเทียนเวิ่น-1 แยกตัวออกจากยานตามคำสั่งการจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน และบันทึกภาพด้วยความเร็ว 1 ภาพต่อ 1 วินาที ซึ่งภาพที่ได้ถูกส่งให้ยานผ่านระบบไว-ไฟ ก่อนส่งกลับมายังผืนโลก