สำนักข่าวซินหัวเผย (3 ธ.ค.) คณะนักวิจัยจากสถาบันจีนหลายแห่งร่วมกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้พัฒนาวัสดุนาโนที่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวพายาต้านมะเร็ง (สารประกอบที่สามารถเกาะติดกับโมเลกุลยาเพื่อส่งไปที่เป้าหมายโดยตรง) สร้างความหวังในการหาหนทางรักษาโรคมะเร็งด้วยการให้ยาอย่างแม่นยำ
ผลการทดลองในสัตว์ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วในแอดวานซ์ แมททีเรียล (Advanced Materials) วารสารนานาชาติแสดงให้เห็นว่า วัสดุนาโนที่พื้นผิวถูกหุ้มด้วยเนื้อเยื่อของเนื้องอก สามารถนำยาเคมีบำบัดเข้าสู่เนื้องอกได้อย่างแม่นยำ
ต่ง เหวินเฟย ผู้นำการวิจัยจากสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์และเทคโนโลยีซูโจว (SIBET) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (CAS) กล่าวเมื่อวันพุธ (2 ธ.ค.) ว่าองค์ประกอบหลักของวัสดุชนิดใหม่คือซีลีเนียม และซิลิกอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถเกิดการย่อยสลายทางเคมี (Degradation) ได้ด้วยการฉายรังสีเอ็กซเรย์
เมื่อใช้รังสีเอ็กซเรย์ฉายที่ระดับต่ำ วัสดุดังกล่าวสามารถปล่อยยาแบบควบคุมได้ โดยการทดสอบในหนูที่เป็นมะเร็งเต้านมพบว่า การใช้ตัวพายานาโนนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาเนื้องอกได้ถึงสองเท่า และลดผลกระทบจากสารพิษได้อย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้เคมีบำบัดแบบดั้งเดิม
เส้า ตัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซาท์ไชน่า (SCUT) ในกว่างโจว ซึ่งได้เข้าร่วมการศึกษาดังกล่าวกล่าวว่า “เรายังพบจากการทดลองอีกว่าตัวพายานาโนทำให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อเนื้องอก ซึ่งชี้ว่ามันไม่เพียงแต่ช่วยทำลายเนื้องอกเท่านั้น แต่ยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเนื้องอกได้ด้วย”