ไชน่า เดลี/MGR Online - บริษัทจีนนำโดย "อาลีบาบา-เทนเซ็นต์-ผิงอัน" คว้า 3 อันดับแรกบริษัทเอกชนครองสิทธิบัตรนวัตกรรมบล็อกเชนมากที่สุดในโลกในปี 2562 ดัน เครือข่ายบริการบล็อกเชนแห่งชาติ หรือ BSN ของจีนที่เพิ่งเปิดตัวให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว
จากรายงานของ IPRDaily และ icoPat ผู้รวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิบัตรทั่วโลกที่เผยแพร่ในปีนี้ ระบุว่า บริษัทจีนเรียงแถวครองตำแหน่ง ผู้ครอบครองสิทธิบัตรนวัตกรรมบล็อกเชน (Blockchain) จากการจัดอันดับ 2019 Global Blockchain Invention Patent Ranking โดยจากสิบอันดับแรก (Top 10) ของบริษัทที่ครอบครองนวัตกรรมด้านบล็อกเชนมากที่สุดในโลก 3 อันดับแรกตกเป็นของบริษัทจีนทั้งหมดคือ อาลีบาบา เทนเซ็นต์ และกลุ่มผิงอัน โดยอาลีบาบาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากถึง 1,505 ฉบับ
รายงานดังกล่าววิเคราะห์การยื่นขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับบล็อกเชนตลอดทั้งปี 2562 พบว่า อาลีบาบาครองตำแหน่งที่หนึ่งของบริษัททั่วโลกที่ขอสิทธิบัตรประเภทนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ขณะที่เทนเซ็นต์ยื่นขอสิทธิบัตรประเภทนี้จำนวน 724 ฉบับ ส่วนกลุ่มผิงอันจำนวน 561 ฉบับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วการยื่นขอสิทธิบัตรของอาลีบาบา ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการชำระเงินออนไลน์ การเงิน ประกันภัย และความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ส่วนการขอสิทธิบัตรบล็อกเชน เทนเซ็นต์นั้นเกี่ยวพันกับการผลิตเนื้อหา และสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า
จากข้อมูลของ IPRDaily บริษัท 100 อันดับแรกที่มีการขอสิทธิบัตรบล็อกเชนนั้นส่วนใหญ่กระจุกตัวจากประเทศ 5 ประเทศเท่านั้น โดย บริษัทจีนครองสัดส่วนราวร้อยละ 60 ตามมาด้วยสหรัฐอเมริการ้อยละ 22 และ ญี่ปุ่นร้อยละ 6
เมื่อวันเสาร์ (12 ก.ย.) ที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัวระบุว่า จีนเพิ่งเปิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ Blockchain-based service network (BSN; 区块链服务网络) ซึ่งเป็นเครือข่ายการให้บริการบล็อกเชนระดับประเทศ เพื่อพัฒนาและกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับ "บล็อกเชน" (Blockchain) หรือว่า "โซ่บล็อก" คือเทคโนโลยีของการทำรายการระเบียน/บันทึก ที่เพิ่มขึ้น/ยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยแต่ละรายการเรียกว่า บล็อก ซึ่งนำมาเชื่อมต่อเป็นลูกโซ่ (เชน) โดยตรวจสอบความถูกต้องและรับประกันความปลอดภัยโดยวิทยาการเข้ารหัสลับ บล็อกแต่ละบล็อกปกติจะมีค่าแฮชของบล็อกก่อนหน้าซึ่งสามารถใช้ยืนยันความถูกต้องของบล็อกก่อนหน้า มีตราเวลาและข้อมูลธุรกรรม บล็อกเชนออกแบบให้ทนทานต่อการเปลี่ยนข้อมูลที่บันทึกแล้ว คือเป็น "บัญชีแยกประเภท (ledger) แบบกระจายและเปิด ที่สามารถบันทึกธุรกรรมระหว่างบุคคลสองพวกอย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบที่ยืนยันได้และถาวร" ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในหลายๆ อุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น เทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค), อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (ไอโอที), ระบบการผลิตอัจฉริยะ, ระบบการบริหารห่วงโซ่การผลิต และ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น