ในสุดสัปดาห์นี้ชาวไทยจะมีโอกาสได้ชมโบราณวัตถุล้ำค่ากว่าร้อยชิ้นจาก “สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้” ในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง จิ๋นซีฮ่องเต้ จัดที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ระหว่าง 15 ก.ย.-15 ธ.ค.2562 กลุ่มสื่อได้นำเสนอความอลังการมหัศจรรย์ลึกล้ำในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้กันไปไม่น้อยแล้ว ในบทความนี้ขอเล่าเรื่อง “ความยิ่งใหญ่” ของเจ้าของสุสานผู้ทรงอิทธิพลและคุณูปการแก่ชนชาติจีน ถึงขนาดมีคำกล่าวขานว่า ไม่มี “จิ๋นซีฮ่องเต้” ก็จะไม่มี “จีนอย่างทุกวันนี้”
ย้อนเวลากลับไปยังอดีตเมื่อราว 2,000-2,400 ปีที่แล้ว ในยุคราชวงศ์โจวตะวันออก (หรือตงโจว) ซึ่งอำนาจอ่อนแอแทบไม่เหลือหลอ ประวัติศาสตร์จีนช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากระบอบทาสสู่ระบอบศักดินา ประกอบด้วยแคว้นใหญ่ แคว้นเล็กมากมายนับพันๆ
สมัยราชวงศ์โจวตะวันออกนี้มีการแบ่งยุคตามสภาพสังคมเป็นสองช่วง ได้แก่ ยุคชุนชิว(春秋/ 770-473 ก่อน ค.ศ.) และยุคจ้านกั๋ว หรือยุคสงคราม ((战国/ 475-221 ก่อน ค.ศ.) แคว้นใหญ่ที่ทรงอำนาจเข้มแข็งกว่าต่างทำสงครามยึดครองดินแดนของแคว้นเล็กแคว้นน้อย ถือเป็นยุควุ่นวายเต็มไปด้วยการสู้รบประชาชนทุกข์ยากมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนกว่าสองพันปี
เส้นทางสู่มหาอำนาจของแคว้นฉิน
ล่วงสู่ยุคจ้านกั๋ว เหลือแคว้นใหญ่ 7 แคว้น หรือ “เจ้าใหญ่เจ็ดแคว้น” ได้แก่ ฉี เว่ย จ้าว หาน ฉิน ฉู่ และเยี่ยน
แคว้นฉินเป็นมหาอำนาจทางตะวันตกมาตั้งแต่ยุคชุนชิว แต่เมื่อเทียบกับแว่นแคว้นทางตะวันออก ฉินยังจัดเป็นรัฐที่ล้าหลังถูกดูถูกเหยียดหนามว่าเป็นคนป่าเถื่อน และไม่อาจช่วงชิงความเป็นเจ้ากับแคว้นอื่น ต่อมาประมุขฉินเสี้ยวกงเริ่ม “การปฏิรูปซางยาง” (356 ก่อนค.ศ.) โดยปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างถึงรากถึงโคน อีกทั้งพัฒนากองทัพทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และพลาธิการจนกลายเป็นกองทัพที่ทรงประสิทธิภาพสูง
*การปฏิรูปซางยางซึ่งกินเวลากว่า 123 ปี โดยมีเจ้าแคว้น 7 คนสืบทอดอำนาจปกครองแผ่นดิน ส่งผลให้แคว้นฉินทวีอำนาจแข็งแกร่งมากขึ้นๆ ขณะที่หกแคว้นเจ้าใหญ่เสื่อมโทรมลง
ในช่วง 123 ปีนี้ กองทัพฉินได้ทำลายทหารแคว้นอื่นรวมถึง 1.5 ล้านคน ความโหดเหี้ยมในการรบที่โลกตะลึง คือ “ยุทธการฉางผิง” ซึ่งเป็นสงครามยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดแห่งยุคจ้านกั๋ว กองทัพแคว้นจ้าวและกองทัพแคว้นฉินตั้งทัพประจันหน้ากันนานถึงสามปีที่ด่านฉางผิง กระทั่งเจ้าครองแคว้นจ้าวหลงกลแคว้นฉินปลดแม่ทัพเหลียนพอ และตั้งเจ้าคั่วผู้เก่งแต่ปากรู้แต่ทฤษฎีแต่ปฏิบัติไม่เป็นมานำทัพจ้าวแทน ในที่สุดเจ้าคั่วหลงกลแม่ทัพไป๋ฉี่แห่งแคว้นฉิน จนถูกทหารฉินใช้เกาทัณฑ์ยิงตาย ทหารฝ่ายแคว้นจ้าวยอมจำนน แต่แม่ทัพฉินได้จับเชลยศึกแคว้นจ้าวสี่แสนกว่าคนนั้นฝังทั้งเป็น
แคว้นฉินขยายดินแดนครอบคลุมพื้นที่แผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน ได้แก่ มณฑลส่านซี กันซู่ หนิงซย่า เสฉวน เหอหนัน ซันซี หูหนัน หูเป่ย กอปรด้วยอัจฉริยภาพของฉินหวางเจิ้ง(秦王政) ได้สร้างภาวะสุกงอมของการก่อตั้งจักรวรรดิ
ฉินหวางเจิ้ง
ฉินหวางเจิ้ง หรืออิ๋งเจิ้ง(嬴政)หรือจ้าวเจิ้ง (趙政) ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉินในวัย 13 ปีหลังจากที่จวงเซี่ยงหวางผู้บิดาเสียชีวิตใน 247 ก่อนค.ศ.ซึ่งเป็นช่วงปลายยุคจ้านกั๋ว โดยมีสมุหนายกคือ หลี่ปู้เหว่ย เป็นผู้สำเร็จราชการ
ฉินหวางเจิ้งกับคณะเสนาบดีได้กำหนดยุทธศาสตร์ก่อตั้งจักรวรรดิสองประการ* คือ สามัคคีแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้ และ ใช้จารชนไส้ศึก จนในที่สุดก็สามารถปราบหกแคว้น ได้แก่ หาน จ้าว เว่ย ฉู่ เยี่ยน และฉี ตามลำดับ
แคว้นฉินใช้เวลาเพียง 10 ปี จึงสามารถปราบและยึดดินแดนหกแคว้นใหญ่ได้ราบคาบในปี 221 ก่อนค.ศ. พร้อมกับปิดฉากราชวงศ์โจว (ทั้งโจวตะวันตกและโจวตะวันออก) ที่ครองแผ่นดินมานาน 867 ปี ฉินหวางเจิ้งในวัย 39 ปี ก่อตั้ง “จักรวรรดิฉิน” และปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนามว่า ฉินสื่อหวงตี้ หรือในชื่อที่ชาวไทยคุ้นหูคือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งมีความหมายว่า “ปฐมจักรพรรดิแห่งฉิน” และได้ประกาศให้ใช้ราชาศัพท์สำหรับฮ่องเต้
พระองค์ดำเนินมาตรการเสริมความมั่นคงให้แก่จักรวรรดิโดยสร้างองค์กรอำนาจรวมศูนย์ส่วนกลาง การขยายกองทัพ รับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนบุคคล สร้างเอกภาพโดยปรับระบบกฎหมาย และกำหนดให้ใช้ตัวอักษร ระบบมาตราชั่วตวงวัด และระบบเงินตราที่เป็นเอกภาพ สิ่งเหลานี้ได้ปูพื้นฐานให้ชนชาติต่างๆอยู่ร่วมกันเป็น “ประชาชาติ” หนึ่งเดียวกัน และได้ปลูกรากเหง้า “จีน” ที่ยืนยงมาจวบจนทุกวันนี้
ในการออกมาตรการต่างๆเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงๆ จิ๋นซีฮ่องเต้ขจัดอุปสรรคขวากหนามจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์อย่างเหี้ยมเกรียม ดังในกรณีกำจัดพวกลัทธิหญู (ขงจื๊อ) จิ๋นซีฮ่องเต้เห็นดีเห็นงามกับความคิดของหลี่ซือที่ต้องการเลิกระบบ “เฟินเฝิง” สมัยราชวงศ์โจว ที่ให้ท้าวพระยาไปกินเมืองต่างๆ แต่กลุ่มลัทธิหญูหรือขงจื๊อคัดค้านแนวคิดฯนี้ หลี่ซือซึ่งต่อมาได้เป็นสมุหนายกโต้ตอบว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการปกครองก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย พวกลัทธิขงจื๊อเอาแต่ยึดติดแบบแผนโบราณขัดขวางความก้าวหน้า จึงสั่งทำลายเผาหนังสือโบราณปรัชญาของสำนักต่างๆ ผู้ที่สนทนาเกี่ยวกับคัมภีร์ขงจื๊อจะถูกประหารชีวิต และผู้ที่อ้างจารีตโบราณมาคัดค้านระเบียบแบบแผนใหม่จะถูกฆ่าล้างโคตร แต่กลุ่มลัทธิหญูก็หากลัวเกรงไม่ ยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเมืองของจิ๋นซีฮ่องเต้ จนจิ๋นซีฮ่องเต้สั่งจับบัณฑิตหญู 460 คน ไปลงโทษโดยฝังทั้งเป็นในนครเสียนหยาง
จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างคุณูปการแก่แผ่นดินอย่างมิอาจลบล้าง ทว่า พระองค์ใช้การปกครองอย่างโหดสร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชนอย่างมาก ที่สำคัญคือ การเรียกเก็บภาษีที่ดิน ภาษีค่าหัวการเกณฑ์แรงงาน และทำสงคราม
จิ๋นซีฮ่องเต้ได้เกณฑ์แรงงานจำนวนมหาศาลเพื่อผุดอภิมหาโครงการมากมาย เช่น ส่งช่างไปจำลองแบบวังของแคว้นต่างๆมาก่อสร้างเลียนแบบในนครเสียนหยาง สร้างพระราชวัง“อาฝางกง” สำหรับเสด็จออกขุนนางขนาดมหึมา มีท้องพระโรงจุคนได้ถึงหมื่นคน อีกทั้งมีตำหนักพักร้อน 300 กว่าแห่ง
นอกจากนี้ยังทรงสร้างสุสานของพระองค์เองขนาดมโหฬารบริเวณลี่ซานหลิง ตัวสุสานสูงถึง 100 เมตร ความกว้างโดยรอบ 2.5 กิโลเมตร ภายในสร้างเป็นตำหนักต่างๆบรรจุอัญมณีสิ่งมีค่างดงามมากมาย การก่อสร้างโครงการยักษ์ใหญ่เช่นนี้ต้องเกณฑ์แรงงานมหาศาล บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าการก่อสร้างสุสานที่ลี่ซานหลิง ใช้แรงงานถึงสามแสนกว่าคน
บริเวณสุสานลี่ซานหลิงในเมืองเสียนหยาง ห่างจากนครซีอันราว 100 กิโลเมตรนี้เอง ที่ชาวนากลุ่มหนึ่งขุดพบประติมากรรมดินเผารูปทหารขนาดเท่าคนจริงโดยบังเอิญเมื่อปี พ.ศ.2517 กองทหารดินเผานับหมื่นรูปนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่อยู่ชายขอบสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ต่อมา ยังพบประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่เป็นรูปจำลองรถศึกมีประทุน ม้า และสารถีขนาดย่อมกว่าของจริงครึ่งหนึ่ง นักโบราณคดีขุดพบฯในชั้นใต้ดินลึกถึง 56 ฟุต เมื่อพ.ศ.2524
กลับมาที่เรื่องเกณฑ์แรงงาน ราชสำนักราชวงศ์ฉินยังได้วางกำลังทหารตามแนวชายแดนภาคเหนือสามแสนกว่าคน ส่งกองทหารที่ไปปราบชาวเย่ว์ทางภาคใต้อีกห้าแสนกว่าคน และแรงงานสำหรับตัดถนนหนทาง จำนวนแรงงานที่ถูกเกณฑ์เหล่านี้รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าสองล้านคน
ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้มีราษฎรราว 20 ล้านคน เมื่อประชาชนจำนวนมากต้องทิ้งการผลิต ก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา
จนกระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ในปี 210 ก่อนค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 37 ของการครองราชย์
จักรพรรดิฉินองค์ที่สองคือ ฉินเอ้อซื่อ(秦二世)หรือ หูฮ่าย(胡亥) อำมหิตยิ่งกว่า พระองค์สั่งจับนางสนมที่ไม่มีบุตรฝังทั้งเป็นในสุสานลี่ซานหลิง และจับช่างก่อสร้างทั้งหมดฝังทั้งเป็นไปด้วยเพื่อมิให้ความลับการก่อสร้างสุสานรั่วไหล
ฉินเอ้อซื่อไม่สนใจการบริหารปกครองบ้านเมือง เอาแต่สำเริงสำราญไปกับการล่าสัตว์ ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย กฎหมายของจิ๋นซีฮ่องเต้นับว่าโหดเหี้ยมที่สุดแล้ว เช่น คนทำผิดกฎหมายจะถูกลงโทษ 3 ชั่วโคตร ใช้ระบบห้าบ้าน-สิบบ้านโดยหากมีคนในครอบครัวทำผิดเพียงคนเดียว คนอื่นในห้าครอบครัวจะถูกลงโทษด้วย มาถึงสมัยจักรพรรดิฉินที่สองยิ่งเพิ่มความโหดเหี้ยมจนบ้าคลั่ง เช่น มีการยกย่องขุนนางที่ฆ่าคนได้มากเท่าใดก็ยิ่งแสดงถึงความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ เหล่าขุนนางจึงพากันเข่นฆ่าราษฎร
“ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการขัดขืนต่อสู้” กลุ่มราษฎรที่สุดทนต่อการกดขี่ได้ลุกขึ้นสู้เป็นระลอกๆ ในที่สุด พ.ศ. 336 กองทัพกบฏนำโดยหลิวปัง (เล่าปัง) ก็เข้ายึดนครเสียนได้สำเร็จ ปิดฉากการปกครองราชวงศ์ฉิน
จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงฝันให้ราชวงศ์ฉินครองแผ่นดินนับพันนับหมื่นปี แต่แล้ว...ราชวงศ์ฉินก็พินาศสิ้นราชวงศ์ไปภายหลังจากที่พระองค์สวรรคตไปเพียงสามปีเท่านั้น
ราชวงศ์ฉินครองแผ่นดินอยู่ได้เพียง 15 ปี นับเป็นราชวงศ์จีนที่ครองแผ่นดินในชั่วเวลาสั้นที่สุด
ขณะที่อิทธิพลของฉินผู้รวบรวมแผ่นดินใหญ่ยืนยงมาตลอดประวัติศาสตร์จีนนับกว่าสองพันปี ประวัติศาสตร์อันแสนสั้นของราชวงศ์ฉิน ก็ได้พิสูจน์และให้บทเรียนใหญ่ว่าการใช้อำนาจรุนแรงกำจัดฝ่ายตรงข้าม สกัดกั้นความคิดของอีกฝ่าย ไม่ใช่หนทางความรุ่งเรืองสงบร่มเย็นของบ้านเมือง
*หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือ “กว่าจะมาเป็นจีน ประวัติศาสตร์การก่อตั้งจักรวรรดิของจิ๋นซีฮ่องเต้” โดย ทองแถม นาถจำนง