xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระจันทร์ในอารมณ์โรแมนติก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากhttps://zhuanlan.zhihu.com/p/44005528
โดย พชร ธนภัทรกุล

เราเรียกวันเพ็ญเดือนแปดจีนว่า เป็นวันไหว้พระจันทร์ของชาวจีน อันที่จริง ชาวจีนไม่ได้เรียกวันนี้อย่างนี้ แต่เรียกว่า จงชิวเจี๋ย (中秋节เสียงจีนกลาง หรือตงชิวโจ่ย-เสียงแต้จิ๋ว) หมายถึงวันกลางสารทฤดู (อ่านว่า สา-ระ-ทะ-รึ-ดู คือฤดูใบไม้ร่วง) ไม่มีพระจันทร์อยู่ในชื่อของเทศกาลนี้ แล้วเอาพระจันทร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับวันนี้ได้อย่างไร

นานนับพันปีมาแล้ว ที่ชาวจีนการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลในรอบปีออกเป็นสี่ฤดูได้แก่
ชุน (春) หรือวสันตฤดู ฤดูใบใม้ผลิ โดยจะเริ่มต้นฤดูนี้ราว 10 วันก่อนถึงวันตรุษจีน ภาพสัญลักษณ์ของฤดูนี้ คือดอกไม้

เซี่ย (夏) คิมหันตฤดู ฤดูร้อน โดยเริ่มวันแรกในต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสาม ภาพสัญลักษณ์ของฤดูนี้ คือพระอาทิตย์

ชิว (秋) สารทฤดู ฤดูใบไม้ร่วง โดย ในต้นชาวงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนหก ภาพสัญลักษณ์ของฤดูนี้ คือพระจันทร์

ตง (冬) เหมันตฤดู ฤดูหนาว โดยเริ่มต้นในราวช่วงปลายเดือนเก้าต่อต้นเดือนสิบ ภาพสัญลักษณ์ของฤดูนี้ คือหิมะ

ทำไมชาวจีนถึงให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ประจำฤดูใบไม้ร่วง คำตอบน่าจะเป็นเพราะว่า ชาวจีนโดยบรรดาปัญญาชน กวี นักเขียน ต่างมองว่า พระจันทร์ในคืนกลางฤดูใบไม้ร่วง สวยที่สุด แจ่มจรัสเต็มดวงที่สุดในรอบปี ที่มาที่ไปคงมาจากคำในกวีนิพนธ์ชื่อ “หวีเหม่ยเหริน” ของหลี่วี่ (虞美人李煜เสียงจีนกลาง) ขึ้นต้นรำพึงรำพันว่า
春花秋月何時了往事知多少。..
(ชุน-ฟง-ชิว-เยว่-เหอ-สือ-เหลี่ยว-หว่าง-ซื่อ-จือ-ตัว-เส่า)

ขอถอดความดังนี้
“เมื่อใดหนอ ดอกไม้ยามวสันต์ พระจันทร์ในคืนสารท จักจบสิ้น รู้หรือไม่ว่า ข้ามีความหลังฝังใจมากเพียงใด”
ในฐานะกษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์และสิ้นแผ่นดิน ทัศนียภาพของฤดูกาลตามธรรมชาติอันสวยงามที่วนเวียนมาปีแล้วปีเล่า นอกจากไม่ทำให้เขานึกถึงวันชื่นคืนสุขแล้ว มันกลับยิ่งเพิ่มพูนความทุกข์ใจให้เขาเป็นเท่าทวี ถึงกับร้องถามว่า เมื่อใดจะจบสิ้นเสียทีหนอ

ต่อมา สี่คำแรกในคำกวีนิพนธ์วรรคนี้ คือ ชุนฮวาชิวเยว่ (春花秋月) ได้สร้างภาพสัญลักษณ์ให้กับฤดูใบใม้ผลิและฤดูใบใม้ร่วง และยังกลายเป็นสำนวนที่หมายถึงช่วงเวลาที่งดงาม ซึ่งมักหมายถึงช่วงชีวิตในวัยหนุ่มสาว ในช่วงเวลาที่มีโอกาสดีๆ และวันเวลาที่ผันผ่านไปในรอบปี

อารมณ์โรแมนติกของกวีนิพนธ์บทนี้ได้นำเอาพระจันทร์มาอยู่คู่กับฤดูใบไม้ร่วง และหมายเฉพาะคืนวันเพ็ญเดือนแปดเท่านั้น ทำไม...ทั้งที่มีคืนวันเพ็ญในทุกเดือนตลอดทั้งปี ทำไมชาวจีนถึงเลือกเอาคืนวันเพ็ญเดือนแปดเป็นวัน “จงชิวเจี๋ย” (中秋节) หรือวันเทศกาลกึ่งสารทฤดู

คำถามนี้มีคนพยายามหาคำตอบเหมือนกัน
คนแรกที่พยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้ คือโอวหยังจัน (欧阳詹เสียงจีนกลาง) เขาเป็นคนฮกเกี้ยน ดังนั้น จึงต้องออกเสียงชื่อของเขาในภาษาฮกเกี้ยนว่า เอาหย่งเจียม (ao yong ziam) เขาเป็นคนฮกเกี้ยนคนแรกที่ได้เป็นบัณฑิตชั้นจิ้นสือขั้นเอก ต่อมาเขามีโอกาสเข้ารับราชการเป็น “ผู้ช่วยสอน” ในสำนักราชบัณฑิต ที่เมืองหลวงฉางอันในช่วงกลางสมัยแผ่นดินถัง แม้จะเป็นเพียงตำแหน่งเล็กๆ แต่นี่ก็เพียงพอที่จะทำให้ชาวฮกเกี้ยนยกย่องให้เขาเป็นบิดาแห่งวงการศึกษาของมณฑลฮกเกี้ยนแล้ว

โอวหยังจันได้พยายามอธิบายไว้ในคำนำของบทกวีนิพนธ์ชื่อ “หวันเยว่” หรือ ชมจันทร์ ว่า

“การชมจันทร์ หากเข้าฤดูหนาว จักหนาวเกินไป มากด้วยเกล็ดน้ำค้างแข็ง หากเข้าฤดูร้อน ก็จักร้อนเกินไป มีเมฆมาก เมฆย่อมบดบังจันทร์ เกล็ดน้ำค้างแข็งย่อมเกาะจับตามตัว ทั้งหมดย่อมเป็นอุปสรรคที่จะชมจันทร์ ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นเดือนแรกของฤดู ลุเข้าคืนวันที่สิบห้า ก็เป็นช่วงกลางเดือน ด้วยกฎของธรรมชาติ อากาศหนาวร้อนสมดุลกัน แลนับวาระตามจันทร์ จันทร์ก็นวลผ่องเต็มดวง จึ่งเรียกขานกันว่า จงชิว”

เขาจะพยายามอธิบายจากแง่มุมการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศในแต่ละฤดู จนถึงกับระบุวันที่ชัดเจนลงไปว่าเป็นวัน “จงชิว” (中秋) หรือวันกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อตอบคำถามที่ว่า เหตุใดชาวจีนจึงเลือกวันเพ็ญเดือนแปดเป็นคืน “จงชิวเจี๋ย” แม้จะเว้นข้ามฤดูใบไม้ผลิไป แต่ก็มีเหตุผลพอรับฟังได้ เพราะเมืองจีนในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง กระแสอากาศเย็นจากทางเหนือเริ่มแผ่ปกคลุมลงมาไล่อากาศร้อนชื้นที่ปกคลุมพื้นที่ทั่วประเทศจีนมาตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนให้เคลื่อนลงใต้ไป ช่วงนี้แหละที่ความชื้นในอากาศจะลดลง อากาศแห้งแต่เย็นสบาย ท้องฟ้าโปร่ง มีเมฆน้อย พระจันทร์ในช่วงเวลานี้จึงดูแจ่มกระจ่างยิ่งกว่าเดือนใดๆ สมดังคำกวีโบราณที่ว่า

“จันทร์แจ่มกระจ่างยิ่งฤาไฉน เหตุด้วยฟ้าใสยามใบไม้ร่วง”

สรุป พระจันทร์สวยแจ่มกระจ่างเพราะฟ้าใส
แต่ความจริงที่โอวหยางจันอาจไม่รู้คือ พระจันทร์ไม่ได้สวยเพราะแค่ฟ้าใสเท่านั้น แต่ยังสวยด้วยเหตุผลทางด้านดาราศาสตร์ด้วย

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้น ระยะห่างที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก จึงมีจุดใกล้สุดและไกลสุก ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลกที่สุด เราจะเห็นดวงจันทร์ “ดวงเล็กลง” และช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด เราก็จะเห็นดวงจันทร์ “ดวงโตขึ้น” ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ใกล้โลกที่สุดทางทิศตะวันออกพอดี ขณะที่ดวงอาทิตย์ก็อยู่ทางทิศตะวันตกพอดีเหมือนกัน ทำให้ดวงจันทร์สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้มากที่สุด ดวงจันทร์ในคืนวันนี้จึงดูดวงโตที่สุดและสุกสกาวที่สุดในรอบปี

นอกจากนี้ ยังมีแง่มุมของภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ผูกโยงวัน “จงชิวเจี๋ย” ไว้ด้วย นับแต่โบราณกาลอันไกลโพ้นเมื่อกว่าสามพันปีมาแล้ว กษัตริย์จีนจะต้องบวงสรวงทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์ในฐานะเทพเจ้าบนฟ้าทุกปี โดยมีการบวงสรวงพระจันทร์แบบไม่ระบุวันบวงสรวงที่แน่นอนกันในช่วงเดือนที่สองของฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า จ้งชิว (仲秋เสียงจีนกลาง)

จ้งชิว หมายถึงช่วงเดือนที่สองทั้งเดือนของฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งตรงกับเดือนแปดตามปฏิทินจีน และอยู่ช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงพอดี จ้ง (仲) หมายถึงลำดับที่สอง ชิว (秋 ) หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง อย่าสับสนกับคำว่า จงชิว (中秋) ที่หมายถึงเฉพาะวันที่ 15 เดือนแปดในฤดูใบไม้ร่วง
ขนมไหว้พระจันทร์แบบแต้จิ๋ว
ในสมัยแผ่นดินฮั่น พิธีนี้เป็นพิธีหลวงที่จำกัดไว้ให้แก่กษัตริย์โดยเฉพาะ ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พูดได้ว่า การบวงสรวงพระจันทร์ของกษัตริย์จีนในยุคนั้น รวมทั้งเทพนิยายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์ เช่น เรื่องเทพธิดาฉางเอ๋อ เรื่องคางคก เรื่องกระต่ายตำยา เรื่องอู๋กังตัดไม้กุ้ย และเรื่องราวต่างๆในวังพระจันทร์ ที่มีมาก่อนหน้านี้นานโข ก็ไม่ก่อให้เกิดเป็นเทศกาลงานรื่นเริงใดๆที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์เลย คือในยุคนั้น ไม่มีงานรื่นเริง ไม่มีเทศกาลวันเพ็ญกลางสารทฤดู ไม่มีการไหว้พระจันทร์ในหมู่ชาวจีนแต่อย่างใด

ในช่วงต้นแผ่นดินถัง ชาวจีนที่เป็นชนชั้นสูงและบัณฑิตปัญญาชน ต่างพากันหันมาสนใจพระจันทร์ในคืนเพ็ญเดือนแปดกัน พวกเขาไม่ได้สนใจพระจันทร์ในฐานะเทพเจ้า เพราะตอนนี้ได้คลายมนตร์ขลังไปมากแล้ว พวกเขาสนใจพระจันทร์ เพราะพระจันทร์ช่วยสร้างทัศนียภาพอันงดงามตามธรรมชาติบนฟากฟ้า เกิดเป็นงานรื่นเริง “ชมจันทร์” ขึ้นในหมู่ชนขั้นสูงและบัณฑิตปัญญาชน

เพื่อนสนิทมิตรสหายต่างมาพบปะสนทนาฮาเฮ ชมจันทร์ ด้นกลอนร่ายคำกวี กินขนมเปี๊ยะ ร่ำสุรากันในคืนเพ็ญเดือนแปด บทกวีที่พูดถึงพระจันทร์เกิดขึ้นมากมายนับร้อยๆบท ใครที่อยู่ไกลบ้านไกลเพื่อนมิตร ก็ร่ายบทกวีคิดถึงบ้านคิดถึงเพื่อนมิตรให้พระจันทร์ได้รับรู้ความตรอมตรมและความคะนึงหาที่ซ่อนอยู่ในใจตน เกิดนิยายฮ่องเต้ชมจันทร์ ฮ่องเต้ท่องวังจันทรา แม้นิยายจะเป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่จดหมายเหตุ และยิ่งไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่การเอาพระจันทร์มาผูกเป็นนิยายได้ ย่อมแสดงว่า ในสมัยนั้น งานรื่นเริงชมจันทร์น่าจะแพร่หลายมากทีเดียว

วันเทศกาลย่อมจะต้องมีการกำหนดวันที่แน่นอนและรูปแบบงานหรือกิจกรรมที่แน่นอน ซึ่งงานรื่นเริงชมจันทร์ที่กล่าวถึงนี้ ก็เข้าสององค์ประกอบนี้ คือกำหนดวันงานไว้ในคืนเพ็ญเดือนแปด และมีกิจกรรมชมจันทร์ที่แน่นอน เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า เทศกาล “จงชิวเจี๋ย” (中秋节เสียจีนกลาง) ได้เกิดขึ้นแล้วในสมัยนี้ เพียงแต่พวกเขาแค่มางานรื่นเริงชมจันทร์กัน ไม่ได้มาไหว้พระจันทร์กันแน่นอน อีกทั้งกิจกรรมในคืนดังกล่าว ก็ไม่ได้แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวบ้าน งานรื่นเริงนี้จึงเป็นงานเทศกาลที่จำกัดอยู่ในวงแคบๆอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงและบัณฑิตปัญญาชนเท่านั้น

จนมาถึงช่วงกลางสมัยแผ่นดินถัง ชาวบ้านจึงเริ่มมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์บ้าง งานศาลเจ้าบ้าง งานพบปะชุมนุมกันบ้าง และมากลายเป็นงานเทศกาล “จงชิวเจี๋ย” ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในปลายสมัยแผ่นดินถัง แต่บรรยากาศงานเทศกาลก็ยังไม่คึกคักแพร่ไปทั่วสังคมจีน

เทศกาล “จงชิวเจี๋ย” มาเฟื่องฟูที่สุดในสมัยแผ่นดินซ่ง เป็นวันสำคัญของชาติ ราชการยกให้เป็นวันหยุด มีการฉลองรื่นเริงกันทั้งวัน แต่ละบ้านต่างปูเสื่อจัดเลี้ยงกันในครอบครัว ลูกหลานต่างมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันรับเทศกาลสำคัญนี้ กลายเป็นเทศกาลใหญ่เทศกาลหนึ่ง และยังมีการ “ไหว้พระจันทร์” กันด้วย ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการไหว้พระจันทร์กันในคืนเพ็ญเดือนแปด แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องจริงจังอะไรนัก ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานรื่นเริงเท่านั้น และมีเพียงเด็กหนุ่มเด็กสาววัย 12-13 ปีไหว้จันทร์ขอพร

เด็กชายหวังเยือนวังพระจันทรา ย่ำแดนสวรรค์ เด็กสาวหวังให้หน้าตาผุดผ่องดั่งพระจันทร์ งดงามดั่งนางฉางเอ๋อ การไหว้พระจันทร์เพื่อขอพรที่ดูไม่จริงจังอะไรนักนี้ จึงยังไม่แพร่หลาย ไม่เอิกเกริก ไม่ต้องตระเตรียมของไหว้ใดๆ ต่างจากการไหว้พระจันทร์ในยุคหลังที่มีพิธีกรรมอย่างจริงจัง คนที่ไหว้ก็ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นหญิงในวัยผู้ใหญ่ ส่วนผู้ชายจะไม่ไหว้พระจันทร์กัน

สาระสำคัญในวัน “จงชิวเจี๋ย”ในช่วงสมัยแผ่นดินหมิงและชิงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก พิธีกรรมไหว้พระจันทร์อย่างเป็นทางการ ได้เข้ามาแทนที่งานรื่นเริงชมจันทร์ จนไม่หลงเหลือบรรยากาศอันแสนโรแมนติคให้เห็นอีกเลย

ของดีอย่างเดียวที่เกิดชึ้นในสองแผ่นดินนี้ คือขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งมีหลากหลายมาก เช่น ขนมไหว้พระจันทร์แบบกวางตุ้ง ที่กลายเป็นตัวแทนขนมไหว้พระจันทร์ไปแล้ว มีจุดเด่น คือมีเนื้อไส้มาก เปลือกบาง ชิ้นกลมแบนใหญ่และหนามาก

ขนมไหว้พระจันทร์ของชาวแต้จิ๋ว มีสองชนิด ชนิดแรก คือ ง้วยกอ (月糕) เป็นขนมโก๋สีขาวแผ่นใหญ่ มักมีลายพิมพ์รูปพระจันทร์กับต้นกุ้ยบนหน้าขนม อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ง้วยเปี้ย (月饼) เป็นขนมเปี๊ยะแผ่นกลมบาง ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ โรยงาบนหน้าขนมทั้งแผ่น จึงเรียก งาแผ่น ขนมไหว้พระจันทร์ยูนนานก้อนกลมมนแบน ไส้ขนมที่ต้องมีหมูแฮมยูนนานผสมเป็นเอกลักษณ์

นั่งจิบน้ำชา กินขนม ชมจันทร์ และเล่าเรื่องราวของพระจันทร์กับวัฒนธรรมจีนให้คุณผู้อ่านฟังจนจบแล้ว ก็ขอยกวรรคทองของฝงเมิ่งหลง มังกรฝันแห่งเมืองซูโจวมาฝากส่งท้าย

“คนประสบ สิ่งดีดี ย่อมแช่มชื่น จันทร์มาถึง คืนกลางสารท ยิ่งแจ่มฟ้า”
ขอพรจากพระจันทร์ ให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งดีดีเทอญ


กำลังโหลดความคิดเห็น