xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อฮ่องกง เหมือนลูกที่ถูกพราก ยากจะรักพ่อแม่ "จีน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มีคำกล่าวมานานแล้วว่า ฮ่องกงกับจีนเปรียบเหมือนลูกที่ถูกพรากไปตั้งแต่เด็กและได้กลับคืนสู่การดูแลของพ่อแม่ ส่วนไต้หวันเหมือนพี่น้องที่ทะเลาะกันแล้วแยกบ้านออกไป วันนี้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของจีนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่มีทางโต้แย้งอธิปไตยของจีนเหนือเกาะฮ่องกงได้เลย แต่นั่นคือนัยยะทางกฎหมาย ทว่ามิติความรู้สึก หรือพฤตินัยของคนฮ่องกงที่มีกับจีนนั้น อาจไม่สามารถใช้เหตุผลนิตินัย

โครงการความคิดเห็นสาธารณะที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKUPOP) สัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัย 1,015 คน ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปีนี้ พบว่าจำนวนผู้ที่ระบุว่าตนเป็น “Hongkonger” หรือชาวฮ่องกงนั้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 ในขณะที่ผู้ที่รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นพลเมืองของประเทศจีนได้ลดลงจากหนึ่งในสามของปีที่แล้ว เหลือเพียงประมาณหนึ่งในสี่ในปีนี้ (2019)

ผู้ตอบสำรวจ 53% ระบุว่าตนเองเป็น "ชาวฮ่องกง", 23% ระบุว่าตนเองเป็น “ชาวฮ่องกงในประเทศจีน”, 12% ระบุว่าตนเองเป็น “ชาวจีนในฮ่องกง” เหลือเพียง 11% ระบุว่าตนเองเป็น "ชาวจีนแผ่นดินใหญ่"

“ตัวชี้วัดเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงสู่จีน” ผู้อำนวยการสำรวจฯ HKUPOP โรเบิร์ต เฉิง กล่าวว่ารู้สึกเสียใจกับผลสำรวจที่ออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่อาจให้ผลสำรวจเป็นอื่นไปได้

คนฮ่องกง รู้สึกว่าตนเองแตกต่างกับคนจีนอย่างไร การวิเคราะห์เชิงลึกแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามยิ่งอายุน้อยเท่าไร ยิ่งมีโอกาสน้อยที่พวกเขารู้สึกภูมิใจกับการเป็นพลเมืองของประเทศจีน และนั่นยิ่งมีผลเสียต่อนโยบายของรัฐบาลกลางในฮ่องกงมากขึ้นเท่านั้น

ในประเด็นนี้ อีกด้านหนึ่ง ศาสตราจารย์จาง เหว่ยเหว่ย ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า "คนซึ่งได้รับการศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ พบว่ายากที่จะเข้าใจกับสถานการณ์ และเรียกพวกเขา (ผู้ประท้วงฮ่องกง) ว่าคนทรยศ แต่คลื่นผู้ประท้วงจำนวนมากในฮ่องกงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย พวกเขาแม้จะมีใบหน้าเป็นคนจีนแต่ถือหนังสือเดินทางประเทศอังกฤษ และแคนาดา พวกเขาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านจีนชนิดเข้ากระดูก พวกเขาเชื่อมั่นในตะวันตก"

ฮ่องกง แม้เป็นหนึ่งในภูมิภาคกึ่งอิสระของจีนดำเนินงานภายใต้หลักการ“ หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่วางไว้ในปฏิญญา จีน - อังกฤษ ปี 1984 ขณะที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินมาหลายครั้งตลอดศตวรรษที่ 20 จากการล่มสลายของราชวงศ์ชิง จนถึงสงครามกลางเมืองจีน แต่ฮ่องกงและคนฮ่องกงกลับไม่เคยต้องพบเจอความวุ่นวาย และโศกนาฎกรรมใดๆ ด้วยอยู่ใต้ปีกการปกป้องส่วนใหญ่จากการเป็นอาณานิคมอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1843 ถึง 1997 นี่ย่อมเป็นผลให้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคมความคิดของคนที่แตกต่างกันระหว่างสองดินแดน

ภูมิหลังในรอบชั่วอายุคนเพียงสอง-สามรุ่น ยังมีเรื่องความแตกต่างที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งสื่อต่างประเทศมักจะนำเสนอกันว่าความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญพื้นฐานอยู่ 6 ประการ

1. พูดคนละภาษา (กวางตุ้งกับจีนกลาง)
แม้จะเป็นภาษาจีนที่เขียนเหมือนกัน แต่ภาษาพูดก็มีความเข้าใจกันยาก ภาษาทางการของจีนแผ่นดินใหญ่ คือภาษาจีนกลางสมัยใหม่ และภาษาจีนกลางเพิ่งถูกนำมาใช้เป็นภาษาประจำชาติทั่วไปในปี ค.ศ. 1955 โรงเรียนสอนภาษาจีนแผ่นดินใหญ่ทุกแห่งใช้ภาษาจีนกลาง หรือ "ผู่ทงฮว่า" (普通话) แม้ว่าคนจีนจำนวนมากจะใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาภูมิลำเนา

ภาษาทางการของฮ่องกงเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ในทางปฏิบัติ ภาษา “จีน” ของฮ่องกงหมายถึง “กวางตุ้ง” อันเป็นภาษาจีนตอนใต้ ที่หากพูดจีนกลาง คนฮ่องกงจะไม่สามารถเข้าใจ

2. เขียนอักษรจีนคนละแบบ
ภาษาเขียนของคนฮ่องกง เป็นอักขระจีนแบบดั้งเดิมไม่ตัดรายละเอียด เหมือนอักษรจีนของคนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ใช้อักษรแบบย่อ ซึ่งเป็นอักษรประดิษฐ์ที่ทันสมัยและได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 1950 เพื่อทำให้ประชาชนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น

3. ความสามารถทางการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
คนฮ่องกงรุ่นนี้ เกิดมาส่วนใหญ่ล้วนมีชื่อนำเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ในทางตรงกันข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษจะเดินทางมาฮ่องกง ตั้งแต่การเรียกและจำชื่อคนฮ่องกง ป้ายชื่อถนนทั้งหมด เอกสารทางการ และการบริการของรัฐบาล รวมถึงเมนูและเว็บไซต์ร้านอาหาร ส่วนใหญ่นั้นเป็นแบบสองภาษา นอกจากนี้โรงเรียนท้องถิ่นในฮ่องกงยังคงมาตรฐานการสอนภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างสูง และชาวฮ่องกงที่เป็นชนชั้นกลางและชั้นสูงจำนวนมากไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2011 พบว่า “ภาษาจีนกลาง" ได้แซงภาษาอังกฤษขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ของภาษาที่ชาวฮ่องกงพูดได้มากที่สุดรองจากภาษาจีนกวางตุ้งแล้ว

หลายปีก่อน (ค.ศ. 2012) ยังมีกระแสต่อต้าน โดยมีชาวฮ่องกงและชาวจีนกวางตุ้งจำนวนหนึ่งออกมาเดินขบวนประท้วงหลังมีข่าวว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายให้เปลี่ยนภาษาที่ใช้ในรายการทีวีมาใช้ภาษาจีนกลางอันเป็นภาษาทางการของประเทศแทน ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนรายการส่วนใหญ่ของสถานีโทรทัศน์กวางโจว ให้ใช้ภาษาจีนกลาง และเตรียมเลิกออกอากาศภาษากวางตุ้งอีกหลายรายการ

4. สองศตวรรษที่แตกต่างกันมาก ...
ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ประสบชะตากรรมผ่านสองศตวรรษที่แตกต่างกันมาก

หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิงในปี 1912 จีนผ่านช่วงกลียุคนานหลายทศวรรษสังคมแบ่งแยก บ้านและครอบครัวแตกพลัดพราม ผ่านสงครามกลางเมืองจีน และสงครามจีน - ญี่ปุ่น จนแม้หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นในปี 1949 วิปโยคยังเกิดบนแผ่นดิน ผู้คนเสียชีวิตหลายล้านในระหว่างการก้าวกระโดดครั้งใหญ่และการปฏิวัติทางวัฒนธรรม จากความพยายามเปลี่ยนประเทศให้เป็นสังคมสังคมนิยม ซึ่งในเวลานั้นมีแต่คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพหนีแผ่นดินมา ฮ่องกง-อาณานิคมของอังกฤษตลอดศตวรรษที่ 20

จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่จึงเพิ่งเริ่มลืมตาอ้าปาก และประสบความสำเร็จ ผ่านการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายครั้ง ซึ่งทำให้ผู้คนนับไม่ถ้วนหลุดพ้นจากความยากจนและตั้งหลักพัฒนาประเทศให้ผงาดขึ้นมาได้ในที่สุด

ทว่าในช่วงเวลาแห่งความวิปโยคแผ่นดินใหญ่นั้น ฮ่องกงแม้ใกล้แต่กลับไกลจีนเหมือนเกาะสวรรค์ ที่ไม่เคยพบเจอมรสุมความวุ่นวายมากมายแบบบนแผ่นดินใหญ่ เศรษฐกิจของฮ่องกงเริ่มขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของเมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินและอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ต้นในช่วงปี 1950 และ 60

จนเมื่อกลับสู่การปกครองของจีนในปี 1997 ฮ่องกงกลายเป็นดินแดนกึ่งอิสระ โดยยังได้รับความคุ้มครองให้ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของฮ่องกงและระบบกฎหมายอิสระจากแผ่นดินใหญ่

5. เสรีภาพโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต
เว็บไซต์ ไมโครบล็อกเวยปํ๋ว คือทวิตเตอร์ของจีนแผ่นดินใหญ่ และแอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย WeChat คือประตูผ่านโลกโซเชียลมีเดียในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีระบบนิเวศทางอินเทอร์เน็ตแยกเป็นของตัวเองหลังกำแพงที่ขนานนามว่า "Great Firewall" ที่รัฐบาลจีนใช้ในการควบคุม ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศต่าง ๆ เช่น Google, Facebook, Gmail, Instagram และ Snapchat

ในทางตรงกันข้ามคนฮ่องกง เป็นอิสระในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และชาวฮ่องกงมักไม่ค่อยใช้แอพและเว็บไซต์โซเชียลมีเดียของจีน หากไม่จำเป็นจริงๆ เช่นต้องการทำธุรกิจหรือพูดคุยกับเพื่อนในจีนแผ่นดินใหญ่

6. วัฒนธรรมความเชื่อไสยศาสตร์
ฮ่องกงถูกมองว่าเป็น “แบบตะวันตก” มากกว่าแผ่นดินใหญ่ในสายตาของหลาย ๆ คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ชาวฮ่องกงมักจะมีความเชื่อโชคลาง ไหว้พระ ไหว้เจ้ามากกว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะความเชื่อในเรื่องของฮวงจุ้ยไปจนถึงการเข้าวัดเป็นประจำจนถึงงานเทศกาลประจำหมู่บ้าน ฮ่องกงยังคงรักษาความเชื่อและมีการปฏิบัติธรรมเนียมแบบดั้งเดิมมากมายที่อาจดูแปลกตาในสายตาของคนในแผ่นดินใหญ่

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการปฏิวัติของศตวรรษที่ 20 ปัญญาชนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ปฏิเสธความคิดขงจื้อสังคมศักดินาและความเชื่อโชคลางพื้นบ้าน ประเพณีดั้งเดิมจำนวนมากถูกห้ามเด็ดขาด สิ่งเก่าหลายอย่างถูกทุบทำลายในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในนามของความทันสมัย ตั้งแต่นั้นมาทัศนคติเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของจีนได้เลือนๆ ไป ต่างจากสังคมฮ่องกงยังคงเชื่อโชคลางมากกว่าสังคมจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ความแตกต่างเหล่านี้ ยังไม่เป็นนัยยะสำคัญที่ก่อให้เกิดการแรงต่อต้านมากเท่ากับความแตกต่างในรูปแบบการปกครอง ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นความแตกต่างประการที่ 7 ที่สำคัญที่สุดเลย

7. ความแตกต่างในรูปแบบการปกครอง
ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง รัฐบาลจีนใช้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ปกครองฮ่องกง

นโยบาย หนึ่งประเทศ สองระบบ (一国两制) เป็นแนวคิดซึ่งริเริ่มเสนอโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนขณะนั้น เพื่อการรวมประเทศจีนระหว่างต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยเสนอว่าจะมีเพียงจีนเดียว แต่เขตจีนอิสระ เช่น ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน สามารถมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมได้ ต่างกับส่วนที่เหลือของจีนที่ใช้ระบบสังคมนิยม ภายใต้ข้อเสนอนี้แต่ละเขตอิสระจึงสามารถคงมีระบบการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจและการเงินของตนได้ รวมทั้งความตกลงด้านพาณิชย์และวัฒนธรรมกับต่างประเทศ และจะมี "สิทธิบางอย่าง" ในกิจการระหว่างประเทศ

ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกงที่สภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1990 ฮ่องกงจึงมีสิทธิ์ในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี แต่อิสระนี้มีเงื่อนเวลา เพราะรัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1997 จนไปถึง 30 มิถุนายน 2047 หลังจากนั้น ฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองรูปแบบเดียวกับเมืองอื่น ๆ ของจีน (แต่ ณ วันนี้คนฮ่องกงรุ่นใหม่ไม่ต้องการ)

ความแตกต่างของระบบปกครองนี้ เรื่องสิทธิและเสรีภาพในระบบปกครองของประชาชนอาจเป็นความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างฮ่องกงกับมณฑลจีนอื่น ๆ บนแผ่นดินใหญ่ ที่ปกครองใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ฮ่องกงมีประชาธิปไตย (ที่จำกัด) ฮ่องกงยังมีระบบกฎหมายและการพิจารณาคดีของตนเองโดยยึดตามรูปแบบกฎหมายทั่วไปของอังกฤษอย่างสมบูรณ์พร้อม และมีหัวหน้ารัฐบาลของตนเอง

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแยกระบบ แต่ความพยายามของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ในการเข้าคุมการเมืองในสภานิติบัญญัติฮ่องกง หรือที่คนฮ่องกงเชื่อว่าเป็นการยุบนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ ให้เป็นระบบเดียว จึงเป็นหนึ่งเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้าน ไม่ไว้วางใจจีนอย่างรุนแรงและดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น