xs
xsm
sm
md
lg

ขนมงานมงคลและขนมไหว้เจ้าของชาวจีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ถุงสี่ถังในปัจจุบัน ขอบคุณภาพจากขนมหล่าเปี้ย ขอบคุณภาพจาก https://m.sohu.com/n/414349514/
โดย พชร ธนภัทรกุล

ลูกอมลูกกวาด/

ในทศวรรษ 1980 ผมพำนักอยู่ที่จีน วันหนึ่ง ผมได้รับถุง “สี่ถัง” จากสาวจีนที่รู้จักมักคุ้นกันคนหนึ่ง พร้อมข่าวดีจากเธอว่า เธอกำลังจะแต่งงานในวันสองวันนี้ ผมรับถุง “สี่ถัง” ของเธอไว้พร้อมแสดงความยินดีกับเธออย่างจริงใจ นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมมีโอกาสมีส่วนร่วมงานแต่งงานของชาวจีนจริงๆ ซึ่งมันกลายเป็นความทรงจำที่สวยงามมาถึงทุกวันนี้

ผมยังจำได้ว่าถุง “สี่ถัง” ที่ผมได้รับมานี้ คือถุงพลาสติคเล็กๆ ข้างในใส่ลูกอมลูกกวาดจำนวนหนึ่งพร้อมบุหรี่สองมวน ไม่มีขนมหวานอย่างอื่น เท่านี้ก็ถือว่าดีมากแล้วสำหรับชาวบ้าน เพราะช่วงเวลานั้น คนจีนรวยอู้ฟู่เหมือนในสมัยนี้ซะที่ไหนกัน อาหารการกินทุกอย่างต้องปันส่วนกันหมด และจากการพูดตุยกับคนจีนที่รู้จักกัน ผมจึงรู้ว่า
ชาวจีนแผ่นดินใหญ่นิยมแจกลูกอมลูกกวาดแก่ญาติมิตรกันสองรอบ รอบแรกแจกก่อนถึงวันงานมงคลสมรส เพื่อเป็นการบอกกล่าวข่าวอันเป็นมงคลนี้ รอบที่สองแจกในระหว่างงานพิธีหรืองานเลี้ยงฉลอง เพื่อแสดงความขอบคุณ และถือเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวด้วย

ชาวจีนเรียกถุงลูกอมลูกกวาดในงานสมรสนี้ว่า “สี่ถัง” (喜糖เสียงจีนกลาง) ความหมายคือน้ำตาลแห่งความยินดีปราโมทย์ ซึ่งมักใช้คู่กับคำเรียกสุราในงานมงคลสมรสว่า “สีจิ่ว” (喜酒เสียงจีนกลาง) ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ “สี่ถัง”

เมื่อถึงวาระอันเป็นมงคล ลูกอมลูกกวาด ที่เด็กจีนซื้อกินอมเล่น ก็ได้กลายเป็น “ขนมหวานมงคล” ในงานแต่งงานสำหรับผู้ใหญ่ไป

ความจริง สมัยก่อนชาวจีนในจีน ไม่ได้ใช้ลูกอมลูกกวาดเป็นขนมหวานมงตลในงานแต่งงานแต่อย่างใด แต่จะใช้ขนมหวานสี่อย่าง มีน้ำตาลกรวด ฟักแก่เชื่อมน้ำตาล ส้มแช่อิ่ม และลำไย รวมเรียกันว่า ซื่อเส้อสี่ถัง (四色喜糖เสียงจีนกลาง) ความหมายคือ น้ำตาล (ของหวาน) สี่อย่างสำหรับงานมงคลสมรส เป็นของที่ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมไว้ โดยจะโปรยขนมหวานนี้ในช่วงที่เจ้าสาวขึ้นนั่งเกี้ยว และเวลาส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องหอ เพื่อให้แขกเหรื่อได้ร่วมยินดีกับชีวิตใหม่ที่เริ่มต้นด้วยความหวานชื่นของคู่บ่าวสาว ปัจจุบันไม่พบธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้แล้ว และขนมหวานในถุงก็เปลี่ยนไป กลายเป็นลูกอมลูกกวาดอย่างที่ผมเคยได้รับ ซึ่งทุกวันนี้ ขนมหวานในถุงก็เปลี่ยนไปอีก โดยขนมหวานที่นิยมกันมีลูกอมนมหรือทอฟฟี่นม ลูกกวาด ลูกกวาดมีไส้ ลูกเยลลี่ ช็อกโกแลต

ขนมจันอับ
จริงๆแล้ว จันอับเป็นชื่อกล่องใส่ของกิน มาจากคำว่า จั่งอั้บ (攒盒เสียงแต้จิ๋ว) จั่ง หมายถึงรวบรวม สะสม รวมกันไว้ ส่วน อั้บ หมายถึงกล่อง ฉะนั้น จั่งอับ (หรือจันอับ) จึงหมายถึงกล่องที่รวมเอาของกินต่างๆมาเก็บไว้ด้วยกัน แต่ในเมืองไทย จันอับที่กลายเป็นคำนิยมไปแล้วนี้ ไม่ใช่กล่อง แต่เป็นชื่อขนมหวานอย่างแห้งของจีนทีมีหลายอย่างรวมกัน ซึ่งก็คงต้องยอมรับตามนี้กันไปโดยปริยาย

ขนมจันอับเป็นชนมพื้นบ้านของชาวแต้จิ๋ว มีชื่อเรียกรวมกันว่า เตี่ยมเหลี่ยว (甜料เสียงแต้จิ๋ว)ประกอบด้วยขนมหวานอย่างแห้ง 5 อย่าง และแต่ละอย่างก็มีชื่อเรียกต่างกันไปดังนี้
ถั่วตัด งาตัด ถั่วลิสงเคลือบน้ำตา (ลูกกวาด) ฟักเชื่อม และข้าวพอง
ถุงสี่ถังในปัจจุบัน ขอบคุณภาพจาก https://zhuanlan.zhihu.com/p/36400501
สำหรับชาวจีน โดยเฉพาะขาวแต้จิ๋วในไทย ขนมหวานอย่างแห้งทั้งห้านี้ เป็นขนมสำคัญที่ทั้งฝายหญิงและฝ่ายชายต้องเตรียมไว้ใช้ทั้งในวันหมั้นและวันส่งตัวเจ้าสาว ซึ่งในวันหมั้น ฝ่ายหญิงต้องเตรียมขนมจันอับ ห่อด้วยกระดาษแดงเป็นจำนวนคู่ไว้

ส่วนฝ่ายชายจะเตรียมขนมจันอับหรือขนมหวานสี่อย่าง (หรือ ซีเซ็กทึ้ง (四色糖เสียงแต้จิ๋ว) ได้แก่ ขนมกุ้ยสือ (ขนมเปี๊ยะชนิดหนึ่ง ไส้ฟักเชื่อม โรยงาบยหน้าขนม) ขนมเหม่งทึ้งหรือขนมงาอ่อน ขนมบีหยุ่งหรือข้าวตอกบดคลุกแป้งขาว และถั่วตัด
จะเห็นได้ว่าขนมหวานสี่อย่างนี้ ต่างจากขนมหวานสี่อย่าง หรือซื่อเส้อสี่ถัง (四色喜糖เสียงจีนกลาง) ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งมีน้ำตาลกรวด ฟักแก่เชื่อมน้ำตาล ส้มแช่อิ่ม และลำไย

ทั้งฝ่ายชายยังอาจเพิ่มขนมเปี๊ยะขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ตั่วหล่าเปี้ย (大朥饼เสียงแต้จิ๋ว) ด้วยก็ได้

ตามธรรมเนียมแล้ว ฝ่ายหญิงจะยกขนมที่เตรียมมาทั้งหมดแก่ฝ่ายขาย ให้ฝ่ายชายรับไว้หมด แล้วฝ่ายชายก็ยกขนมที่เตรียมมาทั้งหมดให้ฝ่ายหญิง ให้ฝ่ายหญิงรับไว้กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งคืนแก่ฝ่ายชาย

นอกเหนือไปจากลูกกวาดลูกอมหลากสี และขนมจันอับที่ใช้ในงานมงคลสมรสแล้ว ชาวจีนมีขนมหวานอย่างแห้งที่ใช้เป็นของไหว้เทพเจ้าทั้งหลาย เริ่มแรกสุดเลย คือใช้น้ำตาลทรายไหว้ทีกง ...

น้ำตาลทราย
ชาวจีนแต้จิ๋วใช้น้ำตาลไหว้เทพเจ้า “ทีกง” (天公) ซึ่งเชื่อกันว่าคือเง็กเซียนฮ่องเต้ (玉上皇帝) ผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์ โดยจะไหว้กันในช่วงเวลาที่เรียกว่า จื๋อซี้ (子时เสียงแต้จิ๋ว หรือจื่อสือ-เสียงจีนกลาง) หรือช่วงเวลาระหว่าง 5 ทุ่มในคืนวันที่ 8 ถึงตี 1 ในวันที่ 9 ของเดือนหนึ่ง เพราะวันที่ 9 เป็นวันเกิดของเทพเจ้าทีกงนั่นเอง ชาวฮกเกี้ยนและชาวฮากกาหรือจีนแคะ ก็ไหว้ทีกงกันในเวลานี้เหมือนกัน

หมายเหตุ ชาวจีนนับแวลาเป็นคาบๆละ 2 ชั่วโมง โดยเริ่มคาบแรกที่ 23.00-01.00 นับต่อเนื่อไปจนครบ 24 ชั่วโมง จะได้ 12 คาบ แต่ละคาบให้กำกับด้วยชื่อนักษัตร เริ่มจากชวดไปตามลำดับ ซึ่งจะครบ 12 คาบต่อ 12 นักษัตรพอดี ชาวจีนใช้เวลาที่นับเป็นคาบนี้ บันทึกตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น เวลาเกิด ฤกษ์ยามดีร้าย ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

พอหลังงห้าทุ่มของกลางดึกวันนั้น พิธีไหว้เทพเจ้า “ทีกง” ก็จะเริ่มขึ้น ของบวงสรวงหลักคือ น้ำตาลทราย จะเป็นน้ำตาลทรายขาวหรือ โอวทึ้ง (乌糖เสียงแต้จิ๋ว น้ำตาลแดง) ก็ได้ 1 ที่ ของบวงสรวงอย่างอื่นๆก็มี เช่น ชา 3 ถ้วย หมี่สั้ว 3 มัด อาหารแห้ง 5 อย่างได้แก่ ดอกไม้จีน เห็ดหูหนูดำ วุ้นเส้น เห็ดหอม และอั่งจ้อ/พุดซาจีน พร้อมด้วยผลไม้ต่างๆ ธูป และเทียนแดงแบบจีน

ที่บ้านนอกจากไหว้ทีกงแล้ว อาม่าก็ไม่ลืมที่จะเตรียมน้ำตาลทรายไว้ไหว้เจ้าที่ (ตี่จูเอี๊ย) เพิ่มอีก 1 ที่ด้วย ทั้งๆที่ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างนี้ แต่อาม่าก็เต็มใจทำทั้งด้วยแรงศรัทธานับถือ และหวังให้เทพเจ้าทั้งมวลไม่ว่าจะอยู่บนสวรรค์หรือบนโลกมนุษย์ มาช่วยปกป้องคุ้มครองให้ทุกคนในบ้านแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง มีสุขภาพแข็งแรง และประสบแต่ความราบรื่นเจริญก้าวหน้าทั้งการงานและการเรียนกันทั่วหน้า นี่เป็นภาพที่ผมเห็นจนชินตามาทุกปีตลอดระเวลาหลายสิบปี

ขนมจันอับก็เป็นขนมไหว้เจ้าที่ถูกใช้เป็นประจำ ไม่เพียงเท่านี้ เพราะชาวแต้จิ๋วยังมีขนมไหว้เจ้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือขนมเปี้ยหรือขนมเปี๊ยะ ซึ่งมีหลายชนิดหลายชนาดด้วยกัน
ขนมกุ้ยสือ ขอบคุณภาพจากhttps://www.facebook.com/Hongkongsingunha/photos/a.752746028196677/1054174301387180/?type=3&theater
ขนมเปี๊ยะชนิดที่นิยมกันมากที่สุด และถือเป็นหน้าเป็นตาของขนมปี๊ยะแต้จิ๋ว คือ ตั่วหล่าเปี้ย (大朥饼) หรือหล่าเปี้ย มีขนาดชิ้นใหญ่สุดตั้งแต่ 7-10 นิ้ว และอาจใหญ่กว่านี้ได้ จุดเด่นของหล่าเปี้ยคือ ใช้น้ำมันหมูเป็นส่วนผสมในการนวดแป้งและทำไส้ขนม น้ำมันหมูช่วยให้ตีป้งได้บาง จนทบกันหลายๆชั้น ให้ได้ความหนาตามต้องการ ซึ่งเมื่ออบแล้ว เนื้อแป้งจะกรอบร่วน รสชาติหวานหอมอร่อย แต่ก็มันมาก ไส้ของขนมหล่าเปี้ย ส่วนมากมักเป็นไส้ถั่วเขียวกวน แต่ก็มีชนิดสองไส้ในชิ้นเดียวกัน คือถั่วเขียวกวนกับฟักเชื่อม (ส่วนผสมมีมันหมู ฟักหวาน ต้นหอมซอยเจียวน้ำมัน และงา) เรียกว่า ซังเพ็งเปี้ย (双聘饼)

ส่วนขนมเปี๊ยะอย่างอื่นๆมักมีขนาดเล็กกว่ามาก และส่วนมากมักเป็นไส้ถั่วกวนต่างๆ เช่น ถั่วเขียวกวน ถั่วดำกวน ถั่วแดงกวน เนื้อลูกบัวกวน ซึ่งก็จะตั้งชื่อขนมตามชนิดของไส้ด้วย ขนมเปี้ยไส้อื่นก็เช่น
ขนมชังจูเปี้ย (葱珠饼) เป็นขนมเปี้ยไส้ใบหอมเจียวมันหมู แล้วเคี่ยวด้วยน้ำตาลจนเหนียวข้น

ขนมกุ้ยสือเปี้ย (贵士饼) เป็นขนมเปี้ยไส้ฟัก ไส้เดียวกับในขนมซังเพ็งเปี้ยนั่นแหละ แต่ทำใช้กับชิ้นขนมเปี้ยขนาดเล็ก และมีงาโรยบนหน้าขนม

ขนมหน่ำยู่ (南乳饼) มีไส้เป็นถั่วบดที่ปรุงผสมด้วยเต้าหู้ยี้และพริกไทย รสชาติจึงออกเค็มๆหวานๆ เป็นขนมที่มีรูปทรงยาวรี สองปลายมนกลม ตรงกลางมีรอยแตก โรยน้ำตาลทรายไว้บนรอยแตกนี้

ขนมประเภทของแห้งทั้งหมดที่เล่ามานี้ ชาวจีนแต้จิ๋วใช้ไหว้เจ้าในเกือบทุกวาระเทศกาล รวมไปถึงงานมงคลต่างๆ แม้แต่การไหว้เจ้าในทุกวันที่ 1 และ 15 ของแต่ละเดือน (วันชิวอิดและวันจับโหงว) ของบางบ้านที่คร่งครัด ก็มักใช้ขนมพวกนี้นี่แหละ

ชาวจีนไม่ได้ทำขนมเหล่านี้ขึ้นมาเพียงเพื่อกินเล่น แต่พวกเขาทำมันขึ้นมา เพื่อให้ขนมมีส่วนสืบสานประเพณี เชื่อมสายใยความสัมพันธ์ในครอบครัวเครือญาติ ผ่านงานแต่งงาน และยึดโยงความเชื่อความศรัทธาที่มีมาอย่างยาวนานของชุมชนตนไว้ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านการไหว้เจ้าด้วยขนมชุดเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น