xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนายกฯหลี่ เผิง ผู้นำแห่งประวัติศาสตร์การเมืองจีนที่โลกจดจำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง กล่าวคำปราศรัยสำคัญในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนสภาประชาชนจีน (National Peoples Congress-NPC) ในวันที่ 15 มี.ค. 1993 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
MGR ONLINE--อดีตนายกรัฐมนตรีจีนผู้วายชนม์ของจีน หลี่ เผิง และโจว เอินไหล ต่างอยู่ในความรับรู้ของชาวจีน ณ แห่งที่แตกต่างกันคนละขั้ว คนหนึ่งถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ขณะที่อีกคนเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ

ภาพลักษณ์ของอดีตนายกฯหลี่เผิง ตราตรึงในความทรงจำของชาวโลกอย่างไม่รู้ลืมจากบทบาทในเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 หลี่เป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญที่ผลักดันการตัดสินใจและออกคำสั่งให้กองทัพเคลื่อนขบวนรถถังติดอาวุธเข้าสลายการชุมนุมประท้วงที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ปี 1989 ซึ่งบางแหล่งระบุว่ามีผู้เสียชีวิตนับนับร้อยไปถึงนับพันๆคนระหว่างเหตุการณ์ฯแต่รัฐบาลจีนไม่เคยประกาศตัวเลขฯนี้ สื่อเทศบางรายจึงให้ฉายาหลี่เผิงเป็น “นักฆ่าแห่งปักกิ่ง”

สัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้รายงานข่าวอสัญกรรม “หลี่ เผิงได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคที่ไม่แจ้งชัดในคืนวันจันทร์ที่ 22 ก.ค.”

ในแถลงการณ์อสัญกรรม ผู้นำจีนยกย่องหลี่เป็นสมาชิกที่ทรงคุณูปการต่อพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นทหารหาญผู้จงรักภักดีแห่งกองทัพแดง เป็นนักปฏิวัติแห่งชนชั้นกรรมาชนที่ดีเด่น และรัฐบุรุษของประเทศชาติ พร้อมทั้งกล่าวยกย่องบทบาทของหลี่ในการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989

“ด้วยความสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นของกลุ่มผู้นำการปฏิวัติอาวุโสโดยมีสหายเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นตัวแทน สหายหลี่ เผิงมีจุดยืนชัดเจนเช่นเดียวกับเหล่าสหายในคณะกรรมการกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรในการดำเนินมาตรการเด็ดขาดเพื่อยุติความวุ่นวาย หยุดการก่อความวุ่นวายของกลุ่มปฏิกิริยาการปฏิวัติเพื่อรักษาเสถียรภาพประเทศชาติ นับเป็นบทบาทที่เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อชะตากรรมของพรรคฯและประเทศชาติ ” แถลงการณ์อสัญกรรมระบุ
จากซ้าย: เติ้ง เสี่ยวผิง เจียง เจ๋อหมิน และหลี่ เผิง ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ห้า ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 13 ในปักกิ่งเดือนพ.ย. 1989 (แฟ้มภาพ ซินหวา)
ประวัติชีวิตหลี่ เผิง เกิดที่เซี่ยงไฮ้ บ้านเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่มณฑลเสฉวน บิดาคือ หลี่ ซั่วซุน (李硕勋) หลี่ผู้พ่อเป็นนักเขียนและเพื่อนของโจว เอินไหล เขาถูกพรรคก๊กมินตั๋งสังหารในปี 1931 และได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งการปฏิวัติผู้พลีชีพ

หลี่เขียนในบันทึกความทรงจำของตนว่า เขาได้พบกับภรรยาของโจวคือ เติ้ง อิ่งเชาในเฉิงตูเมื่อปี 1939 และได้ไปอาศัยที่บ้านของโจวในฉงชิ่ง เรื่องที่หลี่ เผิงเป็นบุตรบุญธรรมของโจวนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร
ปี 1984 หลี่ไปศึกษาที่สถาบันพลังงานแห่งกรุงมอสโก (Moscow Power Engineering Institute) เอกวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้า โซเวียตจึงเป็นเบ้าหลอมแนวความคิดของเขา เมื่อหลี่กลับประเทศในปี 1955 ก็คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมพลังงาน

หลี่เข้าสู่สังเวียนการเมืองจนได้เป็นผู้นำดาวรุ่งในสมัยผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิงจากช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยได้กินตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการพลังงาน เป็นต้น

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 จีนเริ่มเบี่ยงเบนจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางและหันมาดำเนินการปฏิรูประบบตลาดโดยมีผู้นำนักปฏิรูปอย่างหู เย่าปัง (เลขาธิการพรรคฯปี 1982-1987) และจ้าว จื่อหหยัง (นายกรัฐมนตรีปี 1980-1987) สนับสนุนอย่างแข็งขัน ขณะนั้นเกิดการแตกคอภายในพรรคฯเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์และทิศทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

เมื่อหู เย่าปังผู้นำนักปฏิรูปถูกบีบให้ลาออกจากเลขาธิการพรรคฯในปี1987 โดยนายกฯจ้าว จื่อหยังขึ้นมาแทนที่ หลี่ได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯแทนจ้าว เมื่อจ้าวนั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคฯเขายังสานต่อแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองต่อจากหู เย่าปัง
หลี่ เผิง (ขวา) ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กำลังพูดคุยกับจ้าว จื่อหยัง ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯควบนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพจากหนังสือพิมพ์หมิงเป้า)
หลี่กับจ้าวขัดแย้งกันหนักขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1989 กลุ่มนักศึกษานับแสนคนนำขบวนประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยเข้ามายังจัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนเม.ย.จนมีประชาชนเข้าร่วมนับล้านคน จ้าวแสดงความเห็นใจและเรียกร้องให้มีการเจรจากับกลุ่มนักศึกษา แต่หลี่ปฏิเสธและเดินหน้ามาตรการแข็งกร้าวปราบ “กลุ่มที่ก่อความวุ่นวาย”

ในวันที่ 19 พ.ค. 1989 หลี่ เผิง ได้ประกาศมาตรการแข็งกร้าวใน “คำปราศรัย 5.19” ซึ่งเหมือนเติมเชื้อเพลิงให้กับกระแสความไม่พอใจของกลุ่มนักศึกษาลุกโหมแรง วันถัดมา (20 พ.ค.) หลี่ก็ประกาศกฎอัยการศึกในกรุงปักกิ่ง หลังเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือด “วันที่ 4 มิ.ย.” หลี่กลายเป็นบิ๊กหมายเลขสองของกลุ่มที่กุมอำนาจสูงสุดในประเทศโดยมีเจียง เจ๋อหมินเป็นใจกลางแห่งกลุ่มการนำประเทศจีนรุ่นที่สาม ส่วนจ้าว จื่อหยังถูกกักบริเวณในบ้านพักจนถึงแก่อสัญกรรมในอีกกว่า 15 ปีต่อมา

ในวันที่จีนออกข่าวอสัญกรรมของหลี่เผิง กลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยในฮ่องกง ออกแถลงการณ์ระบุว่ากลุ่มหัวหอกที่ร่วมสนับสนุนการใช้กำลังปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ได้แก่ เติ้ง (เสี่ยวผิง) -หลี่ (เผิง)-หยัง (ซ่างคุน) ขณะนี้หลี่เผิงเป็นผู้นำคนสุดท้ายของกลุ่มฯที่ล่วงลับ จีนควรประกาศความจริงในเหตุการณ์ “4 มิ.ย.” โดยเร็วที่สุด ชำระล้างมลทินให้กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยแห่งปี 89 ดำเนินการไต่สวนและจับมือสังหารมารับผิดชอบ
นายกฯหลี่ เผิง (ซ้าย) และประธานาธิบดี หยัง ซ่างคุน กับเลขาธิการใหญ่พรรคฯ เจียง เจ๋อหมิน ที่มหาศาลาประชาชนจีนเดือนก.ย. 1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ในคำแถลงข่าวอสัญกรรมยังยกย่องหลี่เป็นผู้นำที่สร้างคุณูปการโดดเด่นในภาคพลังงานไฟฟ้าและเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในการวางพื้นฐานการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

ผลงานสะเทือนเลื่อนลั่นที่โลกจดจำของเขาคือ การผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนสามโตรก (Three Gorges Dam) บนฝั่งน้ำแยงซีเกียง เมืองอี๋ชัง มณฑลหูเป่ยท่ามกลางกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ทางการจีนยืนยันเป้าหมายการก่อสร้างฯเพื่อป้องกันน้ำท่วมและผลิตพลังงานสะอาด ขณะนั้นถือว่าเขื่อนสามโตรกมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยตัวเขื่อนยาว 2.3 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำ 632 ตารางกิโลเมตร ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่ถึง 1.4 ล้านคน เพื่อดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 1994 และทำพิธีเปิดฯเมื่อปี 2003

ภาคอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศอยู่ในมือของครอบครัวของหลี่ทั้งสิ้น

บุตรชายคนโตของเขา คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลี่ เสี่ยวเผิงอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอแห่งบริษัท ไชน่า หัวเหนิง กรุ๊ป (China Huaneng Group) 1 ในกลุ่ม 5 วิสาหกิจรัฐรายใหญ่ หลี่น้อยผู้นี้มีฉายาคือ “ราชาการไฟฟ้าแห่งเอเชีย” นอกจากนี้ บุตรสาว หลี่ เสี่ยวหลินรองประธานบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ China Datang Corporation ก็มีฉายา “ราชินีการไฟฟ้าแห่งเอเชีย”
นายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง (ขวา) กำลังดื่มฉลอง และภริยา จู หลิน (ซ้าย) หลังการล่องเรือแม่น้ำไรน์ เยอรมนีในวันที่ 6 ก.ค. 1994 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
อดีตนายกฯหลี่ เผิงเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ 18 ที่มหาศาลาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง วันที่ 8 พ.ย.  2012 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ข่าวการจากไปของผู้คนมักทำให้ชาวไทยหลายคนได้นึกถึงบทร้อยกรองจากกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง สำคัญหลายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
หลี่ เผิง เป็นผู้นำปฏิวัติแดงมาตรฐานรุ่นที่สอง บิดาคือหลี่ ซั่วซุนวีรบุรุษผู้พลีชีพให้กับการปฏิวัติ ในภาพ ครอบครัวของหลี่ เผิง  แถวหน้า หลี่เผิงกับภรรยา จู หลิน  แถวหลังจากซ้าย หลี่ เสี่ยงหย่ง หลี่ เสี่ยงเผิง (บุตรชายคนโต) และบุตรสาว หลี่ เสี่ยวหลิน
ประวัติชีวิตของหลี่ เผิง

1928: ถือกำเนิดที่นครเซี่ยงไฮ้

มี.ค. 1941: เดินทางไปเหยียนอัน เข้าร่วมการปฏิวัติและศึกษา คนทั่วไปเข้าใจว่าเขาคือ “ลูกเลี้ยงของโจว เอินไหล”

พ.ย. 1945: เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

ก.ย. 1948: ถูกส่งไปศึกษาที่สถาบันพลังงานแห่งกรุงมอสโก (Moscow Power Engineering Institute) เอกวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้า 

มี.ค. 1955: เดินทางกลับประเทศ เข้าทำงานในอุตสาหกรรมพลังงาน เริ่มงานที่การไฟฟ้าแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือจีน (Northeast electric power administration) จนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายใหญ่สำนักงาน
1966-1979: เลขาฯคณะกรรมาธิการพรรคฯประจำสำนักงานจ่ายไฟฟ้าแห่งปักกิ่ง (Beijing Power Supply), หัวหน้าคณะกรรมการการปฏิวัติ, หัวหน้าสำนักงานการไฟฟ้าแห่งกรุปักกิ่ง

จากเดือนเม.ย. 1979: รัฐมนตรีช่วยว่าการพลังงานซึ่งต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอนุรักษ์น้ำและพลังงานไฟฟ้า (water conservancy and electric power)

มิ.ย. 1983: รองนายกรัฐมนตรีแห่งคณะมุขมนตรีจีน

ก.ย. 1985: ได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกองค์กรอำนาจสูงสุดของพรรคฯคือ สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรฯ

พ.ย. 1987: ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง และรักษาการณ์นายกฯ

เม.ย. 1988: ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

พ.ค. 1989: ก่อนวันที่ 4 มิ.ย. ประกาศนโยบายแข็งกร้าวผ่านสถานีโทรทัศน์ “คำปราศรัย 5.19” ยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มนักศึกษาออกมาเดินขบวนประท้วง วันที่ 20 พ.ค. ลงนามคำสั่งคณะรัฐบาล ประกาศกฎอัยการศึกในเขตปักกิ่ง

มิ.ย. 1989: สั่งกองกำลังติดอาวุธ เคลื่อนขบวนรถถังสลายการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

มี.ค. 1993: กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย อภิมหาโครงการก่อสร้างเขื่อนสามโตรก เริ่มก่อสร้าง

ก.ค. 1997: เป็นประธานในพิธีรับมอบการส่งมอบอำนาจการปกครองฮ่องกงจากอังกฤษ

มี.ค. 1998: ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการประจำของสมัชชาผู้แทนประชาชนจีน (National People's Congress-NPC)

มี.ค. 2003: ปลดเกษียณตำแหน่ง

22 ก.ค. 2019: ถึงแก่อสัญกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น