กลุ่มสื่อจีนรายงาน (17 ก.ค.) จีนประกาศเตรียมนำสถานีอวกาศเทียนกง-2 กลับสู่โลก ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการทดลองในอวกาศ
สำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่มีคนบังคับแห่งจีน (China Manned Space Engineering Office) เปิดเผยว่า สถานีอวกาศเทียนกง-2 จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในวันศุกร์ (19 ก.ค.) และจะตกลงในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยคาดว่าจะเป็นจุดเดียวกับสถานีอวกาศเทียนกง-1 กลับสู่โลกเมื่อ 2 เม.ย. 61
รายงานระบุว่า ปฏิบัติการนำสถานีอวกาศกลับสู่ชั้นบรรยากาศในครั้งนี้ จีนสามารถควบคุมสถานีอวกาศได้ตามแผนงานทุกประการ
จีนเดินหน้าไล่ล่าความปรารถนาสร้าง “สถานีอวกาศ” ของตัวเอง ด้วยความสำเร็จในการปล่อยห้องปฏิบัติการทางอวกาศ “เทียนกง 2” ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2559 ด้วยจรวดขนส่งฉังเจิง 2เอฟ (Long March 2F) ซึ่งถูกยิงออกจากฐานปล่อยในศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วฉวน กลางทะเลทรายโกบี
เทียนกง 2 ซึ่งมีความยาว 14 เมตร และน้ำหนัก 8,600 กิโลกรัม ถือเป็นห้องปฏิบัติการทางอวกาศลำดับที่สองของจีน ต่อจากเทียนกง 1 ที่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2554 โดยคำว่าเทียนกง (天宫) เป็นภาษาจีนกลาง หมายถึง “ปราสาทบนสวรรค์”
ทั้งนี้ ในปี 2535 จีนได้พัฒนายุทธศาสตร์ 3 ขั้นตอน สำหรับภารกิจอวกาศที่มีคนบังคับ ได้แก่ ขั้นตอนแรกการส่งนักบินอวกาศไปยังอวกาศและเดินทางกลับมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัย และนักบินอวกาศคนแรกคือ หยัง ลี่เหว่ย ผู้พิชิตภารกิจเสินโจว-5 ในปี 2546 ขั้นตอนที่สองคือการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิกเที่ยวบินอวกาศขั้นสูง รวมทั้งกิจกรรมของยานพาหนะเสริมพิเศษ และการเชื่อมต่อในวงโคจร และขั้นตอนต่อไปคือการประกอบและการส่งปฏิบัติการสถานีอวกาศที่มีคนบังคับถาวร