ซีจีทีเอ็น (17 มิ.ย.) - เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ หัวเว่ย ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชาวอเมริกันจอร์จ กิลเดอร์ และ นิโคลัส เนโกรปอนเต้ ที่สำนักงานใหญ่ของ บริษัทในเซินเจิ้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา คืบหน้าระบบปฏิบัติการ Hongmeng และก่อตั้งมหาวิทยาลัย
เหริน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคทั้งสองได้พูดคุยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและสถานการณ์ที่อยู่ตรงทางแพร่ง ทางแยก ด้วยความเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมมนุษย์และผู้คนจำเป็นต้องมีส่วนร่วม และไม่คิดว่าเป็นเทคโนโลยีในอนาคต "เชิงลบ"
เหริน กล่าวว่าหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับตั้งแต่ บริษัท เพิ่งเริ่มก่อตั้ง "หัวเว่ยไม่ได้ทำและจะไม่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา" เขากล่าวในการอภิปราย
ซีอีโอยังกล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญของโลกคือการทำงานร่วมกัน และโลกจะสามารถสนองตอบความต้องการของมนุษย์ได้
เหริน ยังกล่าวว่า จีนจำเป็นต้องทำงานอย่างหนักกับนวัตกรรม
"ผมคิดว่านวัตกรรมจำนวนมากในประเทศจีนในทุกวันนี้แม้จะเฟื่องฟู แต่เป็นนวัตกรรมแอปพลิเคชั่นซึ่งสร้างขึ้นบนเครือข่ายนวัตกรรมระดับโลก" ซีอีโอ หัวเว่ยกล่าว และว่า
"ถ้าเทียบกับทั้งโลก ผมคิดว่านวัตกรรมของเรายังไม่ประสบความสำเร็จ และเราจำเป็นต้องทำงานอย่างหนัก"
หัวเว่ย ก่อตั้งมหาวิทยาลัย โดยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์
"หัวเว่ยยินดีที่จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและนักวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ นอกจากนี้เรายังปฏิบัติตามกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือที่เรียกกันว่า Bayh-Dole Act ของสหรัฐอเมริกาในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยเราทำการลงทุน แต่ไม่แสวงหาความสำเร็จใด ๆ จากการเป็นหุ้นส่วน"
เหริน กล่าวว่า "มีคนที่ต้องการทำงานกับหัวเว่ยอยู่เสมอ"
หัวเว่ยเป็น 'บริษัทที่ยึดมั่นจริยธรรม'
หัวเว่ย เป็นบริษัทที่ยึดบรรทัดฐานด้านจริยธรรม แม้ว่าบริษัทจะมีกรณีพิพาทคดีความเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็ยังเชื่อว่าการตัดสินของศาลอเมริกันจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและเสมอภาค” เหริน กล่าว และเสริมว่า "รายงานบางฉบับกล่าวว่า หัวเว่ยขโมยสิทธิบัตรซึ่งเป็นไปไม่ได้"
"หัวเว่ยมีสิทธิบัตรจำนวนมากสำหรับ 5G แต่จะไม่ใช้สิทธิบัตรเหล่านี้เป็นอาวุธในการยับยั้งการพัฒนาสังคมมนุษย์" เหริน กล่าว และยืนยันว่า "ในอนาคตหัวเว่ยจะไม่คิดราคาแพงเกินไป กับบริษัทอื่น ๆ ที่ใช้สิทธิบัตรของตน"
“เราไม่ได้คาดหวังว่าจะถูกโจมตีเราในหลาย ๆ ด้าน” เหริน กล่าวพร้อมคาดการฟื้นฟูธุรกิจจะดีขึ้นในปี 2564
“ตอนนี้เราไม่สามารถจัดหาส่วนประกอบได้ ไม่สามารถมีส่วนร่วมในองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ไม่สามารถทำงานใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ไม่สามารถใช้อะไรกับส่วนประกอบของสหรัฐอเมริกา และไม่สามารถสร้างการเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่ใช้ส่วนประกอบดังกล่าวได้”
หัวเว่ยซึ่งมีรายรับ 7.21 แสนล้านหยวน ในปีที่แล้ว คาดว่าปีนี้จะสูญเสีย รายได้ถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดการณ์รายได้ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ และปีถัดไป ต่ำกว่าเป้าหมายเริ่มต้นสำหรับการเติบโตในปี 2562 ที่ระหว่าง 1.25 แสนล้านดอลลาร์ กับ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Hongmeng
หัวเว่ยยังกล่าวอีกว่า สามารถเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Hongmeng ซึ่งกำลังทำการทดสอบภายใน 9 เดือนหากจำเป็น เนื่องจากโทรศัพท์ของพวกเขาถูกตัดออกจากการอัปเดตของระบบปฏิบัติการ Android ของ Google หลังจากการสั่งห้าม
แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมยังคงสงสัย ศักยภาพผู้ผลิตชิปจีนสามารถตอบสนองความท้าทายในการจัดหาความต้องการของหัวเว่ยและบริษัทเทคโนโลยีในประเทศอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นิโคลัส เนโกรปอนเต้ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยสื่อเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์กล่าวว่าการแบนของสหรัฐฯ เป็นความผิดพลาด
“ประธานาธิบดีของเราได้กล่าวต่อสาธารณชนแล้วว่า เขาจะพิจารณาหัวเว่ยอีกครั้ง หากเราสามารถทำข้อตกลงการค้าได้ข้อสรุปชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ” เขากล่าว และว่า “มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอย่างอื่น”
เหรินกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าเป็นต้นมานี่ ได้ส่งผลกระทบยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย และจัดส่งสมาร์ทโฟนระหว่างประเทศของบริษัทลดลง 40%
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอของหัวเว่ยกล่าวว่าจะไม่ลดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา แม้จะได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งห้าม และจะไม่มีการปลดพนักงานจำนวนมาก