xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียลมีเดีย ในมือคนฮ่องกงรุ่นใหม่ ต้านจุดจบ หนึ่งประเทศสองระบบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โทรศัพท์มือถือในมือของคนหนุ่มสาวผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งได้แสดงพลังทางการเมืองครั้งแรกจากการประท้วงรัฐบาล พ.ศ. 2557 หรือเรียก การปฏิวัติร่ม (Occupy Central) จนถึงการใช้ Telegram, WhatsApp และ Signal เทคโนโลยีการประท้วงครั้งล่าสุด ที่มีวิวัฒนาการขึ้นไปอีกระดับ (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส, 2557)
กลุ่มสื่อจีน - แอปพลิเคชันส่งข้อความที่เข้ารหัสใช้โดยผู้ประท้วง คือเครื่องมือทรงพลังในการจัดการชุมนุม แบ่งปันข้อมูลและเฝ้าระวังหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ ซึ่งชาวฮ่องกงได้เคยแสดงพลังต่อต้านรัฐบาล ผ่าน Facebook และ Twitter ครั้งแรกในการประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2557 หรือ การปฏิวัติร่ม (Occupy Central) จนถึงประท้วงครั้งล่าสุดด้วยวิวัฒนาการขึ้นไปอีกระดับ ผ่าน Telegram, WhatsApp และ Signal

"ปฏิวัติร่ม 2557" เป็นครั้งแรกที่ชาวฮ่องกงแสดงพลังกิจกรรมทางการเมืองผ่านอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง แม้แต่คนที่ไม่ได้เข้าร่วมโดยตรง ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ซึ่งการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับการประท้วงทางโซเชียลนั้นง่ายดาย เหมือนการแชร์ภาพร่มสีเหลืองบนบัญชี Facebook, Instagram และ Twitter เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว

เสรีภาพในการใช้สื่อโซเชียลฮ่องกงนี้เกิดขึ้นได้เพราะ นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" (一国两制) อันเป็นแนวคิดซึ่งริเริ่มเสนอโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนขณะนั้น ทำให้ ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน สามารถมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมได้ และเป็นกุญแจเมืองสำคัญในมือชาวฮ่องกงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดในสภาพแวดล้อมเสรีภาพ ไม่เคยอยู่ใต้กระบวนการยุติธรรมระบบเดียวกับของจีนแผ่นดินใหญ่ อันเป็นปมสำคัญลึกๆ ของการต่อต้านการแก้กฎหมายอาญาฮ่องกงครั้งล่าสุด ที่เดิมพันด้วยอธิปไตยเขตอำนาจศาลฮ่องกง ต้องยอมให้จีนแผ่นดินใหญ่ ล้วงลากตัวผู้ร้ายอาญาข้ามแดนจากฮ่องกงได้

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนี้ ด้วยเหตุผลลึกๆ คือกลัวว่า หากกฎหมายผ่านได้ จะอนุญาตให้ส่งผู้ร้ายหรือผู้ต้องสงสัย หรือผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาข้ามแดนในฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ และคิดไกลถึงขนาดว่าคือจุดจบของ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เพราะชาวฮ่องกงไม่มั่นใจกับนิยาม "ผู้ร้าย" ในสายตาแบบครอบจักรวาลของทางการจีน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงหลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ได้หลั่งไหลกันมาชุมนุมยึดถนนสายสำคัญ ใจกลางฮ่องกง ถึงสองครั้งสองครา ภายในเวลารวดเร็วและเป็นหนึ่งเดียว

แอพส่งข้อความ เช่น Telegram, WhatsApp และ Signal กลายเป็นของวิเศษในมือของผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสามารถรวมตัวขึ้นได้แบบไม่ต้องมีผู้นำชัดเจน แตกต่างจากยุคโจชัว หว่อง เด็กวัย 17 ขย่มรัฐบาลจีน "ปฏิวัติร่ม 2557" และแอพฯ ยังช่วยให้ขบวนชุมนุมสามารถประสานงานการปฏิบัติการกับผู้คนที่ต่างมาร่วมชุมนุมทั้งหลาย อาทิ ร้องขออุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น อุปกรณ์จลาจลและชุดปฐมพยาบาล บางกลุ่มเหล่านี้มีสมาชิกนับหมื่นคน

เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการจัดการประท้วง ยังเป็นแพลตฟอร์มการส่งข้อความข่าวสารสดๆ ที่ปลอดภัย ช่วยผู้ประท้วงสามารถหลีกเลี่ยงการเฝ้าระวัง และสอดส่องของทางการ ซึ่งหลายครั้งมีผู้เข้ารับส่งและแชร์ข้อความกันมากจนทำให้เว็บฯ ล่ม

“ในยุคนี้ ผู้คนฉลาดใช้เทคโนโลยี พวกเขากำลังใช้เทคโนโลยีในทางทีอีกฝ่ายต้องวิ่งไล่กวดตาม” หลกหมาน สุ่ย ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยจีน ที่ทำการวิจัยสื่อและเทคโนโลยี กล่าว

กฎหมายในฮ่องกงรับรองสิทธิ ให้ประชาชนจากการที่จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนร้าย ซึ่งรวมถึงการปฏิเสธที่จะเปิดเผยรหัสพินโค้ด ในโทรศัพท์ส่วนตัว

วิธีหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยคือการปิด Face ID และ Touch ID บน iPhone คุณสมบัติที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ระบบด้วยลายนิ้วมือหรือเพียงแค่ดูที่อุปกรณ์ของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องมือทางอินเทอรเน็ตจะมีประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุม แต่ด้านหนึ่งก็ยังไม่ได้ปลอดภัยแท้จริง และเมื่อแอพฯ ส่งข้อความเป็นปัจจัยสำคัญของการชุมนุม จึงย่อมตกเป็นเป้าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ฯ เช่น อีวาน อิป วัย 20 ปี ผู้จัดการกลุ่มสนทนาที่มีสมาชิก 30,000 คน ถูกกล่าวหาว่าวางแผนร่วมกับผู้อื่น เพื่อขัดขวางการทำงานของสภานิติบัญญัติ และสมรู้ร่วมคิดในการก่อความรำคาญต่อสาธารณะ

ผู้ประท้วงคนหนึ่งสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่รั่วไหลเข้าสู่โลกออฟไลน์ ว่า เพื่อนของเธอบางคนถึงกับเลิกใช้ Octopus บัตรชำระเงิน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในระบบขนส่งสาธารณะในฮ่องกง

"การ์ดแต่ละใบมีหมายเลขซีเรียลที่ไม่ซ้ำกัน บางส่วนเชื่อมโยงกับข้อมูลเช่น ชื่อ วันเดือนปีเกิด และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้กลัวว่า ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ใช้จะหลุดหรือถูกเปิดเผย" ผู้ประท้วงคนหนึ่งกล่าว

Keyboard Frontline องค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนสภาพแวดล้อมออนไลน์เสรี ได้เผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับวิธีที่ผู้ประท้วงสามารถปกป้องตัวตนของพวกเขาได้ ซึ่งรวมถึงการไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ หรือไม่ลืมทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน แม้กระทั่งใช้แผ่นอลูมิเนียมหุ้มบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง และบัตรธนาคาร ซึ่งช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจากการสแกนด้วยความถี่วิทยุ (RFID)

การตั้งค่าสำหรับผู้ส่งข้อความเข้ารหัสที่ปลอดภัยของคนหนุ่มสาวผู้ชุมนุมในรอบนี้ แตกต่างจากการประท้วงกลางเมือง Occupy Central ในปี 2557 ซึ่งมีการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพียง Facebook และ Twitter

แม้ว่า Facebook และ Twitter จะยังคงถูกใช้เพื่อแบ่งปันข่าวเกี่ยวกับการประท้วงครั้งล่าสุด แต่ความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังประเด็นฉาว Facebook กับ Cambridge Analytica หรือ CA บริษัทวิจัยข้อมูลกลยุทธ์การเมือง และการหาเสียงเลือกตั้ง กรณีข้อมูลความลับผู้ใช้หลุดรั่วไหล ราว 87 ล้านบัญชี นอกจากนี้การพัฒนาอย่างรวดเร็วของข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีการเฝ้าระวังในแผ่นดินใหญ่ก็รุดหน้ามาก ทำให้คนเปลี่ยนไปใช้ Telegram และ Signal แบ่งปันข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและการประสานงานเชิงลึกแทนกันหมดแล้ว

“ดูเหมือนว่าในขณะนี้ จะมีกลุ่มทางสังคมหรือองค์กรและกลุ่มเอกชน ใน Telegram เพิ่มขึ้น” ฮาร์วีย์ ผู้อาศัยในฮ่องกง ซึ่งเข้าร่วมทั้งใน การปฏิวัติร่ม 2557 และการประท้วงครั้งล่าสุดกล่าว และว่า เมื่อเทียบเอาจริง ๆ แล้ว Telegram ก็ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่ผู้ประท้วงคิด ต่างจาก WhatsApp และ iMessage

ไม่ว่าการชุมนุมครั้งล่าสุดจะออกหัวหรือก้อย คลี่คลายด้วยการผ่อนหนักเป็นเบา เลื่อนการพิจารณากฎหมาย หรือจบลงด้วยการปิดกั้นจับกุมผู้ชุมนุม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีทางที่จะปิดกั้นจับกุมคนหนุ่มสาวฮ่องกงได้คือ ความตั้งใจเพื่ออนาคตของคนรุ่นเขา ซึ่งเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"

"หนึ่งประเทศ สองระบบ" นี้จะยังคงเป็นกุญแจดอกเดียวที่คนฮ่องกงกำแน่นไว้ในมือข้างหนึ่ง ขณะที่มืออีกข้างหนึ่งของพวกเขา และเธอ ก็ถือโทรศัพท์มือถือ และโลกโซเชียลมีเดียที่พัฒนาเป็นพลังสำคัญ พร้อมจะต่อมือคนเล็กคนน้อย ให้เป็นกำแพงยักษ์กั้นมังกรจากแผ่นดินใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น