หม่า ปัว นักเขียนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในชื่อ เหล่ากุ่ย รำลึกความหลังเมื่อสามสิบปีที่แล้ว เขาได้พาลูกชายวัย 6 ขวบ ไปยังใจกลางนครหลวงปักกิ่ง
ฤดูใบไม้ผลิปี 1989 กลุ่มนักศึกษาต่างหลั่งไหลมายังจัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปประชาธิปไตย
หม่า ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้สื่อข่าวและเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการพาลูกชายไปเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์
แต่แล้ว...ขบวนรถถังก็เคลื่อนเข้ามายังบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ปฏิบัติการสลายกลุ่มประท้วงอย่างนองเลือด ข้อมูลบางแหล่งว่ามีผู้เสียชีวิตในระหว่างการปราบปราบนั้น มีจำนวนหลายร้อยคน บางแหล่งว่าอาจมากกว่าพัน
“ผมคิดไม่ถึงเลยว่ารัฐบาลจะทำเช่นนั้น ผมตกใจกลัวมาก...ไม่เคยลืมภาพในวันนั้นเลย”
สำหรับหม่า ความทรงจำในวันคืนช่วงนั้นยังชัดเจน แต่สำหรับลูกชายของเขาได้ลืมมันไปแล้ว
“ผมพาลูกชายไปยังที่ชุมนุมประท้วง ตอนนั้นเขาอายุ 6-7 ขวบ แต่ลูกชายผมไม่สนใจการเมืองหรอก และผมก็ไม่สามารถพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้กับเขา”
สามสิบปีนับจาก “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน” กล้องเฝ้าระวังความปลอดภัยถูกติดตั้งตามเสามุมต่างๆทั่วบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ขณะที่กลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลาดตระเวนเฝ้ายามอย่างเข้มงวด
จีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ คนรุ่นใหม่เติบโตผ่านยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง พร้อมๆกับช่องว่างในความตื่นตัวและสนใจเกี่ยวกับ “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน” ที่ถ่างกว้างระหว่างชั่วรุ่นคน บางกลุ่มพ่อแม่ผู้เคยพิสมัยลัทธิเสรีนิยมต้องหลบไปข้างทาง มองดูยุคของลูกหลานที่หันเหสู่ลัทธิชาตินิยมและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง ขณะที่บางกลุ่มรู้ดีว่าราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการถกเถียงเกี่ยวกับเหตุการณ์อ่อนไหวนั้นสูงเกินกว่าจะแบกรับไหว
จาง ซื่อจวิน เลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายนกับลูกๆของเขา จางเป็นแพทย์ทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ หน่วยกองกำลังที่ 54 ซึ่งถูกเรียกไปปฏิบัติการบังคับใช้กฎอัยการศึกในช่วงวันสุดท้ายของการปราบปราม
จางลาออกจากกองทัพในวันถัดมาหลังปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น และได้บอกเล่าแก่ผู้คนทั่วไปเกี่ยวกับความทรงจำอันน่ากลัวในคืนนั้นที่คอยหลอกหลอนเขาตลอดเวลา แต่จางบอกกับเพื่อนๆว่าเขาไม่พูดถึงเรื่องนี้กับลูกสาว หากเธอไม่ถามถึง
จางเล่าว่าลูกสาวของเขาได้เป็นประจักษ์พยานความเคลื่อนไหวของเขาด้วย เธอวิตกกังวลทุกครั้งที่เขาถูกจับตัวไป
“ทุกๆรุ่นคนต่างก็มีส่วนร่วมแบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ หากเธอต้องการเรียนรู้มากกว่านี้ เธอก็จะค้นหาหนทางของตัวเอง” จางกล่าว
การถกเถียงเหตุการณ์ปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ยังเป็นสิ่งต้องห้ามทางการเมืองประเด็นใหญ่ที่สุดในประเทศจีน
เมื่อเดือนที่แล้ว นักเคลื่อนไหว นาย เฉิน ปิงง ถูกตัดสินจำคุกสามปีครึ่งหลังจากที่เคลื่อนไหวรณรงค์การเมืองในปี 2016 โดยออกแบบฉลากติดขวดเหล้าเป็นภาพจากเหตุการณ์ปราบปรามวันที่ 4 มิถุนายน
แม้จีนเซนเซอร์การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามวันที่ 4 มิ.ย.อย่างเข้มงวด เรื่องราวการปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนองเลือด ก็เล็ดรอดออกมา
ในปี 2007 มีโฆษณารำลึกถึงกลุ่มเหยื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบปรามวันที่ 4 มิถุนายนให้กับแม่ๆของเหยื่อ ปรากฏในหนังสือพิมพ์เฉิงตู อีฟนิ่ง นิวส์ เลขาฯสาวที่รับโฆษณาชิ้นนั้นไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามฯ และยังคิดว่าเป็นการรำลึกถึงอุบัติภัยเหมืองแร่
กลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลบางคนใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 8964
แต่คนรุ่นใหม่แทบทั้งหมดไม่รู้เรื่องหรือนัยยะแฝงของตัวเลขวันเวลานี้
ครูวัย 26 ปี ในนครเซินเจิ้น บอกว่าเธอไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการปราบปรามที่เทียนอันเหมิน จนกระทั่งมาพบเอกสารในยูทิวป์ (YouTube) ระหว่างที่เดินทางไปประเทศเวียดนามเมื่อเดือน ม.ค.
“ไม่มีใครบอกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ทั้งครูสอนวิชาการเมือง ครูสอนประวัติศาสตร์ ผู้ใหญ่ แล้วเราจะรู้เรื่องนี้ได้ยังไง” ครูสาวผู้ไม่เผยนาม บอก และเล่าว่าเมื่อเธอเห็นภาพรถถังเคลื่อนขบวน เธอตกใจกลัวมาก สรรพเสียงความวุ่นวายและเสียงร้องตระโกนด้วยความโกรธแค้นของฝูงชน “ฉันไม่สามารถดูถึงฉากตอนยิง”
ซาร่าห์ หลิน วัย 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ยินดีเผชิญหน้ากับปัญหา เธอได้ยินเรื่องการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจากอาของเธอ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1989 ขณะนั้นอาของเธอเป็นคนแจกใบปลิวเกี่ยวกับการประท้วง
อาของเธอเล่าเหตุการณ์ให้ฟังอย่างคร่าวๆ แต่หลินได้ค้นข้อมูลด้วยตัวเองและพบรูปภาพและการให้ปากคำพยานของประชาชนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์
หลินเผยว่าเธอได้พูดคุยเรื่องนี้กับกลุ่มคนรุ่นก่อน แต่พวกเขาไม่สนใจและไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์นั้นอีก “บางคนรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดอย่างเฉยเมย บางคนไม่เชื่อเรื่องที่ฉันพูด”
กัว อี๋วหวา นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิงหัว ชี้ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากในยุคปัจจุบัน ไม่สนใจการเมือง และในสภาพการณ์เซนเซอร์อย่างเข้มงวดของรัฐบาลพวกเขาสนใจสร้างฐานะมากกว่า
คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) หรือ Gen Y (คนที่เกิดปีระหว่าง 1980-2000) ที่ส่วนใหญ่ถือลัทธิปฏิบัตินิยม (pragmatism) แตกต่างอย่างมากกับกลุ่มที่มีอุดมคติเสรีนิยมในรุ่นทศวรรษที่ 1980 กลุ่มที่มีอุดมคติเสรีนิยมจะถูกสกัดออกไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่ออกมาแสดงบทบาท และไม่มีวันที่จะมีที่ยืนบนเวทีการเมืองจีนกระแสหลัก
กลุ่มชาตินิยม (nationalism) และกลุ่มผู้รักชาติ (patriotism) ที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในจีนนั้นเป็นผลพวงโดยตรงจากช่วงทศวรรษแห่งการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เจิ้ง หย่งเนี่ยน ผู้อำนวยการเอเชียตะวันออกขงอมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ กล่าว
“กลุ่มหนุ่มสาวในจีนไม่ได้ฝ่าฟันชีวิตในยุคที่ลำเค็ญขมขื่นที่สุดของประเทศ เพียงการโฆษณาชวนเชื่อไม่เท่าไหร่ เลือดชาตินิยมและความรักชาติ ก็พุ่งกระฉูด” เติ้ง กล่าว
ความสำคัญของ “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน” ยังรักษาชีวิตอยู่ได้ในสถานที่หนึ่ง นั่นคือ ภายในพรรคฯนั่นเอง
เอ็ดดี้ หวัง สหายหนุ่มของสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์ เผยว่าเหตุการณ์ปราบปราม ถูกบรรจุอยู่ในวิชาหนึ่งของรายวิชาเตรียมการทางการเมืองซึ่งเขาจะต้องเข้าเรียนก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยของสันนิบาต
“เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวิชาหนึ่งของสหายรุ่นเยาว์ แน่นอนการบรรยายเหตุการณ์เป็นเวอร์ชั่นของทางการ แต่พวกเราได้เรียนรู้สิ่งที่อ่อนไหว ได้แก่ ถ้อยคำ ประชาชน และวาระครบรอบ”
หวัง พยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปราบปรามจากอินเทอร์เน็ตขณะที่เขาศึกษาในออสเตรเลีย
“แต่ข้อมูลออนไลน์มาจากแหล่งต่างๆ บางแหล่งไม่น่าเชื่อถือเลย ผมไม่แน่ใจว่าเวอร์ชั่นไหนที่เชื่อถือได้” หวังกล่าว
“ด้วยประสบการณ์ในต่างประเทศของผม ทำให้ผมได้รู้มากกว่าสิ่งที่พรรคฯเขียนในหลักสูตร เพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมบางคนที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมากก่อน ถึงกับช็อกเมื่อรู้ประวัติศาสตร์ช่วงนี้” หวัง กล่าว และยังได้เชื่อมโยงความรักชาติของตนเข้ากับกลุ่มนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมือนเมื่อปี 1989
“พวกเราต่างต้องการประเทศจีนที่ดีกว่า จนถึงขณะนี้ผมคิดว่าการสร้างประเทศจีนที่ดีกว่านั้น ต้องอาศัยการทำงานหนักแบบติดดิน มากกว่าการพ่นสโลแกนที่ว่างเปล่าเกี่ยวกับประชาธิปไตย” นั่นคือ ความคิดของคนชั่วรุ่นใหม่อย่างหวัง ผู้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 1989
*แปลเรียบเรียงจากบทความชิ้นที่สี่ Generation Amnesia: why China’s youth don’t talk about Tiananmen ในชุดบทความครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เขียนโดย Mimi Lau and Phoebe Zhang เผยแพร่ใน เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์