โดย พชร ธนภัทรกุล
เหลาจื่อ (老子เสียงจีนกลาง) เกิดเมื่อใดไม่ทราบชัด แต่ประมาณได้ว่าอยู่ในช่วงปลายยุคชุนชิว (Spring-autumn period) หรือเกือบ 2600 ปีที่แล้ว เขาแซ่หลี่ (李) มีชื่อกำเนิดว่า เอ่อร์ (耳) มีชื่อทางสังคม 2 ชื่อ ชื่อแรก ป๋อหยัง (伯阳) บ้างเรียก ซื่อป่อหยัง (谥伯阳) อีกชื่อคือ ตาน (聃) แต่ชาวจีนเรียกเขาด้วยความเคารพยกย่องว่า เหลาจื่อ ซึ่งชื่อนี้ มีคำนิยมที่คนไทยคุ้นเคยกว่า นั่นคือ เล่าจื๊อ ดังนั้น ในข้อเขียนนี้ จะขอใช้ชื่อ เล่าจื๊อ ตลอดตวาม
เล่าจื๊อมีผลงานชื้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ เต้าเต๋อจิง (道德经เสียงจีนกลาง) หรือเต๋าเต๊กเก็ง ที่เราคุ้นชื่อกว่า เข้าใจว่าชื่อนี้น่าจะมาจากเสียงคำแต้จิ๋ว
ในหนังสือ “เต๋าเต๊กเก็ง” พูดถึง สิ่งวิเศษ 3 อย่างที่คนเราควรมี นั่นคือ มีจิตใจโอบอ้อมอารี รู้ประหยัดมัธยัสถ์ และนอบน้อมถ่อมตน โดยพูดถึงเรื่องอาหารไว้น้อยมาก แต่ก็ได้แสดงทัศนคติที่เน้นการกินอยู่อย่างมัธยัสถ์เป็นสำคัญ ไม่ส่งเสริมให้ติดยึดกับรสชาติของอาหาร
เล่าจื๊อกล่าวไว้ว่า
อู่-เว่ย-หลิ่ง-เหยิน-โขว-ซ่วง (五味令人口爽) หมายถึง รสชาติอาหารทำให้เรารู้สึกอร่อยปากอร่อยลิ้น เกิดความพึงพอใจ แต่วลีนี้มีความหมายผวนกลับ (ไม่ใช้คำผวน) คือการเสพติดในรสของอาหาร มักทำให้เรารับรู้รสอาหารผิดเพี้ยนไป เพราะการกินแต่ของดีของอร่อยอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งคงรู้สึกเบื่อรสชาตินั้น และวันนั้นแหละที่เราจะเริ่มรู้สึกว่ากินอะไรก็ไม่อร่อยไปสักอย่าง
เล่าจื๊อจึงบอกเน้นว่า
เว่ย-อู๋-เว่ย (味无味เสียงจีนกลาง) หมายถึงรสที่ไม่มีรส หรือความไม่มีรส นั่นแหละคือรสที่แท้จริง
เล่าจื๊อเห็นว่า อาหารดีที่สุด คืออาหารที่มีรสจืด เพราะอาหารอร่อยดนตรีไพเราะ มักทำให้คนเราลุ่มหลงไปกับรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นต้นเหตุของการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย
เล่าจื๊อจึงไม่สนับสนุนให้คนกินอาหารที่มีรสจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ปรับตัวกินอาหารรรสอ่อนกว่าที่เคยกินประจำ เช่น ต้มไก่ต้มหมูหรือนึ่งปลา ใส่เพียงขิงต้นหอมและเกลือ หรือแกงจืดน้ำใสรสอ่อนค่อนข้างจืด ควรกินอาหารรสอ่อนให้มาก ลดอาหารรสจัด เช่น พวกประเภทของทอด หรือประเภทปรุงน้ำแดง รวมทั้งอาหารที่ปรุงจนรสชาติอร่อยเกินควร ก็ควรเลี่ยงเสีย
เล่าจื๊อยังบอกว่า
เง่ย-ฝู-ปู้-เว่ย-มู่ (为腹不为目เสียงจีนกลาง) หมายถึงอาหารมีไว้ให้กินเพื่ออิ่มท้อง ไม่ใช่มีไว้ให้เชยชมบำเรอความพึงใจ และถึงกับเปรียบคนตั้งแต่เจ้าผู้ครองนคร ขุนนาง เศรษฐีผู้มั่งคั่ง ที่มักมากในอาหาร โดยเฉพาะอาหารชั้นดีรสอร่อยว่า เป็นดั่งมหาโจร เล่าจื๊อส่งเสริมให้กินอาหารแต่พออิ่ม ไม่กินมากเกินควร เพราะ “การกินอาหารมากเกินควร และการทำอะไรเลยเถิดเกินควร เป็นเรื่องที่คนทั่วไปรังเกียจกัน”
เก่อหง (葛洪เสียงจีนกลาง) นักพรตเต๋าสมัยแผ่นดินตงจิ้น (东晋เสียงจีนกลาง) เคยบอกว่า
“หากต้องการมีอายุยืนยาว ท้องไส้ต้องสะอาด”
การกินอาหารมากเกินไป ย่อมทำให้ระบบการย่อยอาหาร คือกระเพาะอาหาร ลำไส้ ต้องทำงานหนักแล้ว ยังพลอยทำให้หัวใจ ปอด ตับ ถุงน้ำดี ต้องทำงานหนักไปด้วย แน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่ออายุขัย ซึ่งวิธีกินอาหารให้น้อยลง ทำได้ดังนี้
กินน้อย และกินน้อยมื้อ อย่ากินเยอะ และกินหลายมื้อ
กินเมื่อหิว ดื่มเมื่อกระหาย คือพอรู้สึกหิวหรือกระหาย ก็ควรกินอาหารหรือดื่มน้ำ ไม่ควรปล่อยให้หิวจัดหรือกระหายจนคอแห้งผาก จึงค่อยกินอาหารหรือดื่มน้ำ เพราะตอนนั้น เรามักกินหรือดื่มมากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่
นอกจากนี้ ยังมีข้อปลีกย่อยอีก เช่น
กินของสุก ดีกว่ากินของดิบ การปรุงอาหารให้สุกนั้น ช่วยขจัดกลิ่นคาวของปลา กลิ่นสาบของเนื้อ และกลิ่นเหม็นเขียวของพืชได้ นอกจากนี้ คำที่แปลว่าสุก ในภาษาจีน (คือ สู 熟-จีนกลาง) ยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือหมายถึง สัตว์หรือพืชที่โตเต็มวัย ดังนั้น โดยนัยนี้ เราจึงควรกินเนื้อสัตว์และเนื้อปลาที่โตเต็มวัยเท่านั้น
ในคริสต์ศตวรษที่ 2 ศาสนาเต๋าได้ถือกำเนิดขึ้นโดยจางเต้าหลิง (张道陵เสียงจีนกลาง) และเป็นศาสนาเดียวของจีนอย่างแท้จริง ศาสนาเต๋าได้ผนวกเอาคำสอนของเล่าจื๊อมาไว้ และยกขึ้นเป็นเทวะคัมภีร์หลักของตน พร้อมกับยกเล่าจื๊อขึ้นเป็นเทพเจ้าแห่งเต๊กเต๋า พร้อมด้วยเหล่าเทพเจ้า เทพยดาในภาคเทววิทยา
นอกจากนี้ ยังรวมเอาปรัชญาความรู้อื่นๆไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะหลักเบญจธาตุที่พูดถึงคุณสมบัติและความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติของห้าธาตุ (โลหะ ไม้ น้ำ ไฟ ดิน) กับหลักยินหยางหรือหลักดุลยภาพของสรรพสิ่ง ซึ่งหลักการสองส่วนนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวจีนผ่านสรรพวิชาด้านศิลปศาสตร์ ตั้งแต่การแพทย์แผนจีน สมุนไพรจีน การดูแลสุขภาพแนวจีน (หยั่งเซิง) อาหารการกินทั่วไปรวมทั้งอาหารประกอบเครื่องยาจีน พยากรณ์ศาสตร์ทั้งหลาย ไปจนถึงภาพเขียนจีนและภาพศิลปะอักษรจีน เป็นต้น
ศาสนาเต๋าเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสที่ชาวจีนต่างต้องการแสวงหาชีวิตที่เป็นอมตะ หรืออย่างน้อยก็ขอให้มีอายุวัฒนะ ความรู้ด้านการแพทย์ สมุนไพร และการดูแลสุขภาพแนวหยั่งเซิงได้รับการพัฒนายิ่งขึ้น บวกกับความเชื่อที่ว่า “อาหารและยามาจากแหล่งเดียวกัน” เกิดการคิดค้นตำรับอาหารประกอบเครื่องยาจีนเพื่อการบำบัดโรคโดยเฉพาะ แม้แต่อาหารในชีวิตประจำวัน ก็ยังเอาความรู้เหล่านี้มาอธิบายได้
นี่คือเส้นทางอายุวัฒนะที่ชาวจีนแพ้วถางไว้มาแต่โบราณ และต่อไปนี้คือตัวอย่างคุณสมบัติของอาหารบางชนิด
เกลือแกงและน้ำส้มฆ่าเชื้อโรค กุยช่ายบำรุงไตแก้ปวดเข่าปวดหลัง
ไช้เท้าละลายเสมหะแก้ท้องอืดเฟ้อ ขึ้นฉ่ายลดความดันในหลอดเลือด
พริกไทยขับพิษเย็นไล่พิษชื้นในร่างกาย น้ำต้มต้นหอมพริกขิงแก้หวัด
กระเทียมแก้แผลกระเพาะอาหาร ถั่วเขียวต้มแก้พิษร้อนดีที่สุด
สาลี่บำรุงปอดละลายเสมหะได้ดี พุดซาจีนเสริมสร้างกระเพาะอาหารและบำรุงไต
มะเขือบำรุงโลหิตและผิวพรรณ ไข่สัตว์ปีกบำรุงสมอง
ถั่วลิสงลดคอเลสเตอรอล เมล็ดแตงโมแก้บวมขับปัสสาวะ
กุ้งปลาสร้างและบำรุงน้ำนม ตับสัตว์บกบำรุงสายตา
โอวบ๊วยบำรุงประสาทสร้างสารเหลว วอลนัทบำรุงปอดช่วยให้ผมดำขลับ
น้ำผึ้งบำรุงปอด ละลายเสมหะ องุ่นช่วยให้กระชุ่มกระชวยขึ้น
กล้วยช่วยระบายท้อง แอปเปิลแก้ท้องเสีย
สาหร่ายทะเลบำรุงกระดูก เห็ดฟางยับยั้งการเติบโตของเซล์มะเร็ง
ผักกาดขาวขับปัสสาวะและสารพิษ กะหล่ำดอกยับยั้งเซลล์มะเร็ง
ตัวอย่างอาหารเหล่านี้อาจมีบางอย่างที่ได้ความรู้มาจากการวิจัยค้นคว้าสมัยใหม่ แต่ส่วนมากแล้วเป็นความรู้ในแบบแผนอย่างที่ศาสนาเต๋าเผยแผ่ไว้ เส้นทางสู่อายุวัฒนะด้วยอาหารของชาวจีนจึงแนบแน่นอยู่กับศาสนาเต๋า และที่ชาวต่างชาติไม่ค่อยรู้กันคือ ชาวจีนส่วนมากที่สุดมีความคิดความเชื่อในเรื่องเต๋าอยู่ในสายเลือดเลยก็ว่าได้