xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ย เตรียมรับหมัดสลาตันจากสหรัฐฯมาหลายปี ถูกตัดน้ำเลี้ยง “กูเกิล แอนดรอยด์” ยังลอยคออยู่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ข่าวร้อนฉ่าบนสังเวียนระหว่างประเทศและเทคโนโลยีสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่พ้นข่าวสหรัฐอเมริกาและจีนซัดสวนหมัดหนักรัวๆเข้าใส่กันในสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาเกือบปี ขณะที่การเจรจาคว้าน้ำเหลวไม่เป็นท่า เริ่มจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ (จากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์) มูลค่าสินค้าที่โดนขึ้นภาษีนี้ เท่ากับ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ด้านจีนสวนหมัดกลับทันควัน ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแดนพญาอินทรี มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้

อุณหภูมิศึกการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประมุขแดนพญาอินทรี ได้ลงนามคำสั่งบริหาร ห้ามกลุ่มบริษัทอเมริกัน ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ ในวันต่อมา (15 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯก็ออกมาแถลงว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของจีน จะถูกขึ้นชื่อในบัญชีดำควบคุมการส่งออก นั่นหมายความว่าบริษัทอเมริกันที่จะทำการค้าขายชิ้นส่วนอุปกรณ์และบริการให้กับหัวเว่ยและเหล่าบริษัทในเครือ จะต้องได้รับ “ใบอนุญาต” ก่อน

เหล่ายักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปสัญชาติมะริกัน Intel, Qualcomm, Xilinx และ Broadcom ได้แจ้งแก่พนักงานระงับการส่งผลิตภัณฑ์ให้แก่หัวเว่ย จนกว่าจะได้รับคำสั่งใหม่

อุณหภูมิสงครามการค้าพุ่งถึงขีดสุด เมื่อกลุ่มสื่อโลกรายงาน (19 พ.ค.) เผยว่า อัลฟาเบ็ต อิงก์ บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) สั่งห้ามอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ในคำสั่งห้ามการทำธุรกิจกับหัวเว่ยครั้งนี้ครอบคลุมถึงการถ่ายโอนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านเทคนิค ยกเว้นซอฟต์แวร์ที่สัญญาอนุญาตเปิดให้กับสาธารณชน ในวันถัดมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศชะลอคำสั่งแบนการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่หัวเว่ย เป็นเวลา 90 วัน
เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร ‘หัวเว่ย เทคโนโลยีส์’ ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน (ภาพ – AP)
มาถึงจุดนี้ มหเศรษฐีผู้มักทำตัวโลว์โปรไฟล์อย่าง นาย เหริน เติ้งเฟย(任正非) ผู้ก่อตั้งและซีโอโอหัวเว่ย ก็ได้ออกโรงให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนคือสถานีโทรทัศน์กลาง (ซีซีทีวี) เมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.) การที่สหรัฐฯ“ซัดหมัดเด็ด” เข้าใส่หัวเว่ยเช่นนี้ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหัวเว่ยได้คิดแผนรับมือไว้นานแล้ว

“เราได้เสียสละมากมาย ทั้งผลประโยชน์บุคคลและครอบครัว เพื่อที่จะไต่เต้าขึ้น “เป็นหนึ่งของโลก” ดังนั้น เราจะต้องปะทะกับสหรัฐฯแน่ในไม่ช้าก็เร็ว ” เหริน กล่าว

เหรินกล่าวว่าการแบนของสหรัฐฯนั้นไม่มีผลกระทบต่อแผนการขยายเครือข่าย 5G ของหัวเว่ย และบรรดาคู่แข่งในภาคธุรกิจก็ไม่สามารถไล่ตามทันหัวเว่ยอย่างน้อยๆใน 2-3 ปี “ผู้นำในวอชิงตันประเมินหัวเว่ยต่ำไปเสียแล้ว” เหริน กล่าว

หัวเว่ยได้ตั้งบริษัทเซมิคอนดักทุนเดี่ยวของตนคือ HiSilicon เมื่อปี 2004 เพื่อผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟน และเซอร์เวอร์ หัวเว่ยได้เตรียมการนี้มานานหลายปีด้วยคาดถึงความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯอาจปิดทางเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีขั้นสูง

ประธานบริษัท HiSilicon นางเทเรซ่า เหอ ถิงปัว (何庭波) กล่าวถึงการถูกสกัดในครั้งนี้ว่า HiSilicon ได้ทุ่มเททรัพยากรสำหรับสร้างแบ็คอัพเพื่อประกันความอยู่รอดของกลุ่มบริษัท ในสถานการณ์ที่สหรัฐฯได้บรรจุรายชื่อบริษัทหัวเว่ยและบริษัทในเครือฯในบัญชีดำการค้า แผนแบ็คอัพที่เราได้เตรียมไว้นี้ จะถูกนำออกมาใช้ และจะช่วยประกันความปลอดภัยเชิงยุทธศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยจะส่งซับพลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง”
ป้ายโฆษณาเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย ในงาน PT Expo ในปักกิ่งเมื่อเดือนก.ย. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
นาย ริชาร์ด อี๋ว์ เฉิงตง(余承东) หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ยืนยันในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ (OS) ของตัวเองสำหรับใช้กับสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ในกรณีที่สหรัฐฯห้ามกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทำการค้ากับหัวเว่ย หัวเว่ยเริ่มสร้างระบบปฏิบัติการสำหรับใช้แทนระบบแอนดรอยด์ของกูเกิลหลังจากที่สหรัฐฯไต่สวนหัวเว่ย และ ZTE Corp เมื่อปี 2012

“หัวเว่ย มีระบบแบ็คอัพของตัวเองสำหรับใช้เมื่อ “เกิดเหตุหรือสถานการณ์ขัดข้อง” เท่านั้น จริงๆแล้วเราไม่คิดที่จะใช้มันหรอก เราสนับสนุนคู่หุ้นส่วนระบบปฏิบัติการของเราอย่างเต็มที่...เรายังอยากใช้มันต่อไป ลูกค้าของเราก็อยากใช้มันเช่นกัน... แอนดรอยด์และวินโดว์ ยังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของเราเสมอ” โฆษกหัวเว่ย กล่าวในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ด้านนาย เหริน ซึ่งให้สัมภาษณ์กับซีซีทีวีในเซินเจิ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กล่าวว่า “หัวเว่ยยังต้องการชิปของสหรัฐฯแม้มีแบ็คอัพของตน สารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดักเตอร์) ที่หัวเว่ยพัฒนาและผลิตออกมานั้นมีคุณภาพดีพอๆกับของอเมริกา และหัวเว่ยต้องขอขอบคุณกลุ่มบริษัทอเมริกันที่ได้ช่วยเหลือหัวเว่ยอย่างมากทีเดียว กลุ่มที่ปรึกษาหลายๆคนของหัวเว่ยมาจากบริษัทในสหรัฐฯ อาทิ ไอบีเอ็ม ”

นอกจากนี้ เหรินยังกล่าวว่าหัวเว่ยยังติดต่อสื่อสารกับทางฝั่งยุโรปอย่างใกล้ชิด คุณสมบัติบางอย่างของเครือข่าย 5G ที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้นนั้นเหมาะเจาะกับซูปเปอร์ฟาสท์ เทคโนโลยีของยุโรป เช่น ความสามารถ 5G มีความเร็วเป็น 20 เท่าของ 4G ขณะที่กินพลังงานน้อยกว่า 10 เท่า “เรายังใช้วัสดุที่คงทนอยู่ได้โดยไม่เสื่อมเป็นสิบๆปี คุณสมบัติเหล่านี้เหมาะมากกับยุโรป”

เหรินกล่าวว่าเทคโนโลยีของสหรัฐฯมีคุณค่าน่าเรียนรู้ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทรายเล็กจำนวนมากในสหรัฐฯทำได้ดีเยี่ยม สำหรับ 5G ของหัวเว่ย ก็มีคุณภาพระดับแถวหน้า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับของอเมริกาแล้ว เรายังตามหลังอเมริกาอยู่มากทีเดียว

“เราจะไม่ประสบวิกฤตขาดแคลนซับพลายมากจนเกินไปนัก เพราะได้เตรียมตัวไว้ดีแล้ว”

อุปสรรคที่จีนกำลังเผชิญอยู่นี้จะกระตุ้นให้จีนพัฒนาอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ตามสภาพความเป็นจริง การทุ่มเทเงินมหาศาลลงไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นยังไม่เพียงพอ ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมชิป ได้แก่ ความสามารถ นักคณิตศาสตร์ และนักฟิสิกส์

เหรินยังได้เตือน “อย่าโหมกระพือกระแสชาตินิยม”

เมื่อผู้สื่อข่าวจีนถาม “หัวเว่ย” จะเผชิญวิกฤตนี้ไปนานแค่ไหน

เหรินตอบว่า “ต้องไปถามนายทรัมป์โดยตรง”


กำลังโหลดความคิดเห็น